KM Day 2021

Silapasat Gen Ed Model … ติดอาวุธก่อนโกอินเตอร์

สถาบัน Gen.Ed.
ผู้เล่าเรื่อง: อาจารย์ณัฏฐพล คุปต์ธนโรจน์ อาจารย์วรพล มหาแก้ว อาจารย์วิษณุพงษ์ สุขสาคร
ผู้บันทึก: น.ส.พลอยพรหม พงษ์พิพัฒน์
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง

ผู้เล่าเรื่องเป็นผู้รับผิดชอบกลุ่มรายวิชาศึกษาทั่วไปของคณะศิลปศาสตร์ หมวดที่ 2.2 รายวิชาประสบการณ์ต่างประเทศและภาษานานาชาติ และหมวดที่ 4 รายวิชาศิลปะและวัฒนธรรม และยังเป็นทีมผู้รับผิดชอบ และผู้สอนรายวิชา RSU 127 ลุยโลกอินเตอร์ (Intercultural Communication)  RSU 129 สู่โลกกว้าง (Intercultural Communication in World Community) RSU 140 ชีวิตในต่างแดนกับการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม (Intercultural Communication through Overseas Experiences) และ RSU 240 ศิลปะการทำงานต่างวัฒนธรรม (Arts of Working with Foreigners)    

ความเป็นมาของเรื่องที่เล่า

คณะศิลปศาสตร์รับผิดชอบรายวิชา Gen Ed ในสองหมวด ได้แก่ หมวดที่ 2.2 รายวิชาประสบการณ์ต่างประเทศและภาษานานาชาติ และหมวดที่ 4 รายวิชาศิลปะและวัฒนธรรม จะเห็นได้ว่าวิชาในสองหมวดนี้มีจำนวนมาก และทุกวิชามีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้ Core concept เดียวกัน ที่เรียกว่า Silapasat Gen Ed Model โดยแนวคิดหลักของ Silapasat Gen Ed Model คือการให้นักศึกษาได้รู้ทั้งทฤษฎีและได้ลงมือปฏิบัติจริง 

ความรู้เดิม

คณะศิลปศาสตร์ได้แบ่งกลุ่มวิชาของทั้ง 2 หมวดออกเป็น 3 กลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. กลุ่ม Internationalization

            ได้แก่ รายวิชา RSU 127 ลุยโลกอินเตอร์ RSU 128 ไทยมองเทศเทศมองไทย RSU 129 สู่โลกกว้าง ทั้งสามรายวิชานี้มีแนวคิดเดียวกัน คือรู้จริงเรียนจริงปฏิบัติจริง รู้จริงหมายถึงการให้นักศึกษาจะต้องเรียนรู้ทฤษฎีที่เกี่ยวกับการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม หรือ Intercultural communications แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการตื่นตระหนกด้านวัฒนธรรม หรือ Culture shock หรือความคิดแบบเหมารวม Stereotype โดยมีเป้าหมายร่วมกันให้นักศึกษาไม่ตัดสินผู้อื่นที่มาจากต่างวัฒนธรรม ด้วยความคิดแบบเหมารวม การเตรียมความพร้อมนักศึกษาเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ ไปเที่ยว ไปฝึกงานหรือแม้จะไปเรียนต่อ        

            ตัวอย่างเช่น ในรายวิชา RSU 127 ลุยโลกอินเตอร์ ทีมผู้สอนมีการวางแผนการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเรารู้ว่านักศึกษาที่อยู่ใน Gen Z มีความมั่นใจในตัวเองสูง ชอบเรียนรู้ประสบการณ์ ชอบท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ  จากโจทย์นี้จึงได้ข้อสรุปที่ว่า Theme ของวิชาจึงเกี่ยวการเดินทางไปประเทศในฝันหรือ dream country นักศึกษาจะต้องลงมือหาข้อมูล สภาพภูมิอากาศ สภาพบ้านเมือง ผู้คน วัฒนธรรมการรับประทานอาหารการกินต่างๆ เมื่อเขาได้ข้อมูลที่เพียงพอแล้ว ขั้นต่อไปเค้าต้องลงมือปฏิบัติจริง นักศึกษาต้องได้จองตั๋วเครื่องบินจริงๆ จองที่พักจริงๆ จากโจทย์ เช่น “ถ้าคุณจะไปญี่ปุ่น 7 วัน งบ 50,000 บาท คุณจะจองที่พักแบบไหน แลกเงินแบบไหนไปให้เพียงพอ กับเงิน 50,000 บาท” จะมีการสอดแทรกเกี่ยวกับการศึกษาข้ามวัฒนธรรมไปทุกๆ บทเรียน ซึ่งเป็น Core Concept ของวิชากลุ่ม

2. กลุ่มวัฒนธรรมและภาษาต่างประเทศ

            วิชาในกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือวิชาวัฒนธรรม และวิชาภาษาต่างประเทศ โดยคงแนวคิด Gen Ed Model คือรู้จริงและปฏิบัติจริง หมายความว่านักศึกษาจะต้องเรียนรู้ทฤษฎีไปพร้อมกับการปฏิบัติจริงๆ โดนมีแกนหลักคือทฤษฎีด้านวัฒนธรรม 

            ตัวอย่างเช่น รายวิชา RSU 240 ศิลปะการทำงานต่างวัฒนธรรม ในวิชานี้ในครึ่งเทอมแรกนักศึกษาจะต้องเรียนรู้ทฤษฎีเกี่ยวกับวัฒนธรรมต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นนิยาม ความหมายของวัฒนธรรมที่มองเห็นได้ วัฒนธรรมที่มองไม่เห็น ถึงแม้ว่าจะเป็นทฤษฎี แต่การเรียนการสอนจะเป็นแนว Active Learning เน้นให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นและทำงานกลุ่มร่วมกัน และนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ส่วนครึ่งหลังจะได้ฟังบรรยายจากอาจารย์ชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมโดยตรง  เช่น อาจารย์ชาวจีน ชาวเกาหลี หรือชาวญี่ปุ่น และทำ Workshop ที่มีความหลากหลาย เช่น การแลกนามบัตรแบบวัฒนธรรมญี่ปุ่น การรับประทานอาหารร่วมกับชาวจีนและชาวเกาหลี รวมถึงการชงชา เป็นต้น ประเด็นทางวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นประเด็นที่ละเอียดลึกซึ้ง นักศึกษาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เมื่อต้องไปทำงานร่วมกับชาวต่างชาติเหล่าในอนาคต

            รายวิชา RSU 140 ชีวิตในต่างแดนกับการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม วิชานี้รูปแบบการเรียนการสอนจะเป็นแบบออนไลน์ นักศึกษาจะต้องทำ Mission หรือทำงานที่สั่งผ่านระบบออนไลน์ ผู้ที่เรียนวิชานี้จะต้องเป็นผู้ที่กำลังอยู่ต่างประเทศหรือเป็นนักศึกษาที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศ  Mission ต่างๆ กระตุ้นให้นักศึกษาออกไปสัมผัสกับประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ผู้คน ภาษา สถานที่ท่องเที่ยวเป็นต้น ทีมคณาจารย์จะคอยให้ Comment และ Feedback ผ่านทางออนไลน์เช่นเดียวกัน

            กลุ่มภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่นภาษาเกาหลี นอกจากนี้เรายังมีภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาเวียดนาม โดยการสอนภาษาของเน้นที่การสื่อสารเป็นหลัก หมายความว่านักศึกษาจะสามารถนำเอาภาษาที่เรียนในห้องไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และในการทำงานได้ในอนาคต

3. กลุ่มมนุษยศาสตร์

            กลุ่มนี้เป็นกลุ่มวิชาสายมนุษยศาสตร์ที่เน้น Concept ว่า เรียนไว้เป็นภูมิคุ้มกันชีวิต ประกอบด้วย วิชาปทุมธานีศึกษา เน้นศึกษาทุกมิติของจังหวัดปทุมธานี วิชาศาสตร์และศิลป์ในการดำเนินชีวิต ซึ่งเน้นเรื่องของการทำงานจิตอาสาด้านจิตวิทยา วิชาคนต้นแบบ เน้นศึกษาเกี่ยวกับบุคคลสำคัญที่นักศึกษาสนใจ วิชาสื่อสะท้อนชีวิต เน้นด้านวรรณกรรม งานงานศิลปะ วิชารู้ทันโลก ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสถานการณ์เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดในประเทศและที่เกิดต่างประเทศ  วิชาความเป็นไทย เน้นเรียนรู้แง่มุมต่างๆ ของความเป็นไทยไม่ว่าจะด้านศิลปะหรือประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยและภาษาไทยด้วย และวิชาไทยในสื่อ ซึ่งจะศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไทยที่อยู่ในสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนัง เพลง หรือวรรณกรรมต่างๆ โดยจะเห็นว่าวิชาในด้านของมนุษยศาสตร์มีความหลากหลายมากและมี Theme ที่แตกต่างกันออกไป แต่ว่าทุกวิชาเรามีลักษณะการจัดการเรียนการสอนที่คล้ายคลึงกันก็เรียกว่ามีความเชื่อมโยงกันในเรื่องของการทำโครงงาน เป็นการทำโครงงานในรูปแบบวิจัยเล็กๆ นักศึกษาจะได้เรียนรู้วิธีการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น ห้องสมุดครับ สืบค้นจาก Internet Databases ต่างๆ พิพิธภัณฑ์ และการลงพื้นที่จริงเพื่อไปเก็บข้อมูล เช่น วิชาปทุมธานีศึกษา นักศึกษาจะได้ลงพื้นที่ที่นักศึกษาได้รับมอบหมายหรือสนใจเพื่อไปเก็บข้อมูลจริง เป็นต้น หลังจากที่ได้ข้อมูลมาแล้ว จะได้รับการปรึกษาจากอาจารย์ผู้สอน เพื่อสกัดข้อมูลต่างๆ ออกมา เพื่อมาใช้ในการนำเสนอในโครงงานสุดท้าย แต่ละวิชาจะให้นักศึกษาได้ทำโครงงาน มีการนำเสนอข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นรูปรายงาน การนำเสนอ หรือวิดีโอ

ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และความรู้ใหม่ที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว

ในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมาที่คณะศิลปศาสตร์ได้เริ่มการเรียนการสอนวิชา Gen Ed ในความรับผิดชอบของคณะศิลปศาสตร์ภายใต้ Silapasat Gen Ed Model  ทีมอาจารย์ผู้สอนได้มีโอกาสสอนนักศึกษาจากคณะต่างๆ กว่า 10000 คน โดยภาพรวมแต่ละวิชาสามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการสร้างรายวิชา รวมถึงการบรรลุวัตถุประสงค์หลักของ Silapasat Gen Ed Model คือการให้นักศึกษาได้รู้ทั้งทฤษฎีและได้ลงมือปฏิบัติจริง  ทีมอาจารย์ผู้สอนมีความเชื่อมั่นว่านักศึกษาจะมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นกับการอยู่ร่วมกันในสังคมโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางภาษา วัฒนธรรม และความคิด ให้นักศึกษาได้เตรียมพพร้อมเดินทางไปสู่โลกกว้างอย่างมั่นใจ รู้ที่จะสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้คนที่มาจากต่างวัฒนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภพและไม่มีอคติ อีกทั้งยังเป็นภูมิคุ้มกันชีวิต ต่อยอดสู่การเรียนในสายวิชาของตนเองและการทำงานในอนาคต