KM Day 2021

การพัฒนากระบวนการ การบูรณาการการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษร่วมกับการฝึกภาคปฏิบัติ ในรายวิชา HOS221 การจัดการการบริการอาหารและเครื่องดื่ม

วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ
ผู้เล่าเรื่อง: ผศ.ฉัฐชสรณ์ จุลตามระ
ผู้บันทึก: ผศ.ฉัฐชสรณ์ จุลตามระ
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง

อาจารย์ผู้สอนและรับผิดชอบรายวิชา HOS221 การจัดการการบริการอาหารและเครื่องดื่ม เป็นผู้สอนหลักทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีหน้าที่จัดทำแผนการสอนและเตรียมการสอน ออกแบบและจัดทำสื่อการสอน จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับภาคปฏิบัติ จัดทำใบงานสำหรับมอบหมายให้นักศึกษา ควบคุมและดูแลกิจกรรมในห้องเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ สังเกตการณ์ ให้คำแนะนำแก่นักศึกษา ประเมินผล และบันทึกข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนในครั้งต่อไป   

ความเป็นมาของเรื่องที่เล่า

การเรียนรายวิชา HOS221 การจัดการการบริการอาหารและเครื่องดื่ม มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งจากเดิมสื่อการเรียนการสอนหัวข้อ “Food and Beverage Service Sequence” ถูกจัดทำเป็นภาษาไทย รวมถึงการเรียนขั้นตอนการให้บริการที่โต๊ะอาหารนั้น นักศึกษาต้องสร้างบทสนทนาเพื่อใช้ในการแสดงบทบาทสมมติ โดยบทสนทนาจะถูกเขียนเป็นภาษาไทยเช่นกัน หลังจากนั้นได้มอบหมายให้นักศึกษาสร้างเป็นภาษาอังกฤษ ตามแนวทางเทคนิคการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ผ่านกระบวนการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง จากนั้นได้เพิ่มกระบวนการจากการอ่าน การเขียน เป็นการนำบทสนทนานั้นไปฝึกพูดเป็นบทสนทนาที่ใช้ในการเรียนภาคปฏิบัติ

ความรู้เดิม

จากเดิมใช้เทคนิคการพัฒนาภาษาอังกฤษผ่านทักษะการรับรู้และเรียนรู้ด้านการอ่านและการเขียน จากวิธีการจัดทำสื่อการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ในหัวข้อ “Food and Beverage Service Sequence: Etiquette & Manners” และเตรียมใบงาน มอบหมายให้นักศึกษาสร้างบทสนทนาเป็นภาษาอังกฤษตามขั้นตอนการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มทั้ง 9 ขั้นตอน

ปัจจุบันได้ปรับกระบวนการเรียนรู้จากเดิมที่ใช้เพียงเทคนิคการพัฒนาภาษาอังกฤษผ่านทักษะการรับรู้และเรียนรู้ด้านการอ่านและการเขียน โดยเพิ่มกระบวนการพัฒนาทักษะด้านการพูด เป็นการใช้วิธีการให้นักศึกษานำบทสนทนาจากใบงานที่ตนเองสร้างขึ้น จับคู่หรือจับกลุ่มเพื่อบูรณาการกับการฝึกภาคปฏิบัติการให้บริการในสถานการณ์เสมือนจริง นอกจากนั้นนักศึกษายังได้มีโอกาสในการใช้ทักษะดังกล่าวในการทำภัตตาคารจำลองที่มีการเชิญแขกจากภายนอกทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมงาน

นับเป็นกลยุทธ์ที่สามารถทำให้นักศึกษาทุกคนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะโดยตรงอย่างแท้จริง หากแต่ปัญหาที่พบคือ ช่วงเวลาของการที่นักศึกษาได้ฝึกทักษะนั้นยังมีน้อยเนื่องจากเป็นข้อจำกัดด้านเวลาของคาบเรียน แนวทางการแก้ไขคือมอบหมายให้นักศึกษากลับไปเรียนรู้และฝึกฝนนอกเวลาด้วยตนเองเพิ่มเติม  

ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และความรู้ใหม่ที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว

ผลลัพธ์ที่ดีเกิดขึ้นกับตัวนักศึกษาโดยตรง กลยุทธ์ดังกล่าวทำให้นักศึกษาเกิดความกล้าและมั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษมากขึ้นจากเดิม รู้แนวทางการใช้คำสนทนาที่สุภาพและเหมาะสมในการสื่อสารและการให้บริการกับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

            ความรู้ใหม่จากประสบการณ์ครั้งนี้คือ การได้มีการบูรณาการการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษร่วมกับการฝึกภาคปฏิบัติการให้บริการในห้องอาหาร มีส่วนช่วยทำให้นักศึกษาเกิดประสบการณ์ตรงในสถานการณ์จริง ทั้งผู้สอนและนักศึกษาสามารถมองเห็นข้อบกพร่องและจุดอ่อนทั้งทักษะการใช้ภาษาอังกฤษและทักษะการให้บริการ ทำให้ผู้สอนมีโอกาสในการที่จะกำหนดแนวทางการแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการสอนให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งนักศึกษายังได้มีโอกาสในการที่จะแก้ไขปรับปรุงทักษะทั้งสองทักษะก่อนการไปปฏิบัติงานในชีวิตจริง นอกจากนั้นยังได้รับความรู้ใหม่ด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคนิคการอัดและตกแต่งคลิปวิดีโอด้วยมือถือ