KM Day 2021
การบริหารจัดการที่ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์
ผู้เล่าเรื่อง: รศ.นันทชัยทองแป้นผู้บันทึก: รศ.ปรียา อนุพงษ์องอาจ
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง
รศ.นัมทชัย ทองแป้น ตำแหน่ง คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์
ความเป็นมาของเรื่องที่เล่า
การบริหารจัดการที่ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมี 3 ประเด็นหลัก คือ
ความจริงของปัจจุบันและโลกในศัตวรรษที่21และสิ่งที่ต้องพิจารณาในการนำพาวิทยาลัย ที่ประกอบด้วยความหมายและองค์ประกอบโดยสรุปของการบริหารจัดการที่ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ สภาพพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ของสังคมโลก สังคมภูมิภาคและสังคมไทยที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการวิทยาลัยในหลากหลายมิติ
แนวทางของกลยุทธ์ในการบริหารจัดการวิทยาลัยที่ตอบสนอง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้สภาพพลวัตรการเปลี่ยนแปลงหลากหลายมิติของของภูมิทัศน์ของสังคมโลก สังคมภูมิภาคและสังคมไทย
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการวิทยาลัยในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาโดยดูจากเชิงปริมาณ และดูในเชิงคุณภาพจาก KPI และ ดู OKR
การบริหารจัดการคือกระบวนการในการวางแผน การจัดการองค์การ การสั่งการ การควบคุมการใช้ทรัพยากรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางเอาไว้ โดยที่คณะ/วิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยไปสู่เป้าหมายโดยใช้การจัดการเป็นฐาน ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริหารและบุคลากรในทุกระดับจะต้องรู้และเข้าใจตรงกันก็คือ ความจริงของปัจจุบันและอนาคตและสิ่งที่ต้องพิจารณาในการนำพาคณะ/วิทยาลัยว่าภูมิทัศน์ของโลกในศัตวรรษที่ 21 ในทุกมิตินั้นจะเป็นมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เป็นแบบเชิงเส้นอีกต่อไป ส่งผลทำให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะในทุกด้านไม่เหมือนเดิมรวมทั้งทักษะในการดำรงชีวิตก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้นผู้บริหาร จำเป็นต้องรู้ถึงสภาพความจริงดังกล่าว รวมทั้งต้องศึกษาและวิเคราะห์ถึงนโยบาย ยุทธศาสตร์และทิศทางของมหาวิทยาลัยให้ชัดเจนและลึกซึ้งว่าเป็นอย่างไร สิ่งที่สำคัญจะต้องศึกษาถึงสภาพปัจจุบันของมหาวิทยาลัย คณะ/วิทยาลัยรวมไปถึงอัตราการเติบโตในมิติต่างๆขององค์ประกอบที่สำคัญในระดับโลกระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศถึงสภาพอย่างลึกซึ้งเพื่อนำไปใช้การบริหารจัดการที่ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ความรู้เดิม
วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ได้รับการยกระดับจากสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ในวันที่ 1 สิงหาคม2559และในวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 มหาวิทยาลัยรังสิต ทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ยกระดับจากคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็น วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ โดยท่านอธิการบดีให้นโยบายและทิศทางการดำเนินงานในด้านต่างๆของวิทยาลัยว่าให้คณะ/วิทยาลัยในแนวใหม่ที่สร้างนวัตกรรม ไม่ต้องยึดติดกับกรอบงานเอกสารแบบเดิม ไม่ว่านักศึกษาที่เข้ามาเป็นอย่างไร แต่จบออกไปให้มีคุณภาพ สอนให้นักศึกษามีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ สอนให้นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ และมีนวัตกรรม เน้นให้ทั้งบุคลากรและบัณฑิตที่จบออกไปเป็นคนที่มีสมรรถนะสูงทั้งในด้านวิชาการ วิชางานและวิชาคน
ทางวิทยาลัยได้นำเอาดำริทางด้านนโยบายและแนวทางในการดำเนินงานของวิทยาลัยจากท่านอธิการบดีมาจัดทำเป็นโมเดลของรูปแบบของการบริหารจัดการแบบครบวงจรได้ดังรูป
พิจารณาจากรูปสามารถอธิบายโดยสรุปได้ดังนี้ วงจรของการบริหารจัดการวิทยาลัยหรือแม้แต่มหาวิทยาลัยนั้นถ้ามองแบบครบวงจรจะสามารถเขียนเป็นรูปแบบได้ดังรูปข้างบน โดยที่ปัจจัยสิ่งที่สำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนงานต่างๆของมหาวิทยาลัยเอกชนให้เกิดขึ้นนั้น ต้องมาจากงบประมาณ ซึ่งก็คือรายได้ซึ่งมาจาก 2 แนวทางคือ จากผู้เรียนหรือนักศึกษา และจากรายได้จากแหล่งอื่นได้แก่ ทุนวิจัย การแต่งตำราหรือเอกสารทางวิชาการ การนำผลงานวิจัยดำเนินการในเชิงพาณิชย์ การหรือบริการวิชาการในรูปแบบต่างๆ จากรายได้ดังกล่าวก็จะนำไปใช้ในการจัดสรรในด้านต่างๆ ได้แก่โครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งบุคลากรที่เก่งๆ และมีสมรรถนะสูง ทำให้สามารถสร้างเครือข่ายในเชิงวิชาการ วิชางาน ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นปัจจัยที่จะดึงดูดนักศึกษาเข้ามาได้มากทั้งจำนวนและคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพงานในทุกมิติรรวมทั้งได้บัณฑิตที่มีคุณภาพที่ดี สิ่งที่ตามมาคือ ชื่อเสียงของวิทยาลัยก็จะถูกเผยแพร่ออกไปทั้งในระดับในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลย้อนกลับทำให้ค่านิยมในการเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัย/มหาวิทยาลัยมีจำนวนมากขึ้น ถ้าสามารถทำให้การพัฒนาของวงจรดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลก็จะส่งผลต่อการพัฒนาของของวิทยาลัย/มหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างยั่งยืน
ทางวิทยาลัยได้นำนโยบายและทิศทางการพัฒนาดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการนำพาวิทยาลัยโดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ SWOT ในทุกมิติทั้งด้านคุณภาพและปริมาณทั้งในส่วนของงานสอน งานวิจัย งานบริการวิชากรและงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมรวมทั้งศึกษาอัตราการเติมโตในด้านต่างๆดังกล่าวทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยในระดับประเทศได้นำอาหลักเกณฑ์ในระดับประเทศมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาโดยมุ่งที่จะพัฒนาให้อัตราการเจริญเติบโตในแต่ละปีให้มากกว่าเกณฑ์ดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 10-15เปอร์เซ็นต์
โดยทางวิทยาลัยได้ คิดคำขวัญประจำวิทยาลัยคือการเติบโตแบบก้าวกระโดด “Quantum Leap to the Innovation & Entrepreneurship Faculty” ด้วยปรัชญา (Philosophy) “นวัตกรรม จิตวิญญาณผู้ประกอบการ และ ความเป็นสากล ชนะทุกสิ่ง และนำมาซึ่งความสำเร็จ” โดยมีปณิธาน (AIM) ว่า “มุ่งผลิตวิศวกรชีวการแพทย์สากลที่มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการเพื่อเติมเต็มระบบการดูแลรักษาสุขภาพให้กับสังคม”ด้วยวิสัยทัศน์ (Vision) ในการนำวิทยาลัยก้าวสู่ “วิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและจิตวิญญาณผู้ประกอบการทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ เพื่อสังคมของอาเซียน”ที่มีอัตลักษณ์ในการ “ประพฤติอย่างมีคุณธรรม คิดอย่างมีนวัตกรรม ทำด้วยจิตวิญญาณผู้ประกอบการ”
สำหรับทิศทางการบริหารจัดการวิทยาลัยนั้น ได้จัดโครงสร้างการบริหารจัดการ การวัดและประเมินผลการปฏิบัติงานที่เน้นผลลัพธ์ของการปฏิบัติงานเป็นสำคัญ ได้ใช้กลยุทธ์ในการเปลี่ยนจากคณะวิชาให้เป็นวิทยาลัยแห่งผลลัพธ์ พยายามสลายรอยต่อของรายวิชาเพื่อให้เกิดการบูรณาการแบบครบวงจร มุ่งปรับกระบวนทัศน์ใหม่ให้กับคณาจารย์ที่ต้องเปลี่ยนจากผู้สอน เป็นผู้ออกแบบกระบวนและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการจัดกระบวนการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่มุ่งไปที่ผลลัพธ์ที่ต้องการ ไม่ใช่รายวิชาอีกต่อไป การดำเนินงานนั้นมุ่งเน้นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด มุ่งสู่การเป็นวิทยาลัยนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ
สำหรับหลักการที่สำคัญที่นำมาใช้คือ ใช้กลยุทธ์การ Synergy ของทุกองคาพยพของวิทยาลัย โดยการปฏิบัติภาระกิจใดๆต้องส่งผลทำให้มีผลต่อภารกิจหลักอื่นๆอย่างครบวงจร เช่นการทำวิจัย ต้องสามารถนำไปผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไปใช้ในการเรียนการสอน การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การพัฒนานักศึกษา การพัฒนาตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์การประชาสัมพันธ์เพื่อนำชื่อเสียงมาสู่วิทยาลัยรวมทั้งการนำไปใช้ในการดำเนินการพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้
ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และความรู้ใหม่ที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว
จากการบริหารจัดการวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ในระยะเวลา 5 ปี ตามรูปแบบและแนวทางที่กล่าวมาพบว่าผลลัพธ์จากการบริหารจัดการที่เกิดขึ้นเป็นไปในทิศทางที่ดี เห็นได้จากการได้คะแนนการทางด้านประกันคุณภาพโดยภาพรวมเป็นอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยรังสิตตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีทุนวิจัยและผลงานการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงงานวิจัยเป็นอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยรังสิต นักศึกษาสอบผ่านภาษาอังกฤษเกณฑ์มาตรฐาน CEFR มากกว่าร้อยละ 80 ผลงานในด้านต่างๆติดอันดับ 1-3 ของมหาวิทยาลัย บัณฑิตที่จบออกไปสามารถได้งานทำได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วด้วยเงินเดือนและรายได้ที่สูง ที่สามารถยกระดับสถานะและคุณภาพชีวิตให้กับตนเองและครอบครัวได้ดีมากขึ้น สถิติการเป็นผู้ประกอบการของศิษย์เก่าที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ชื่อเสียงและเครดิตของวิทยาลัยได้รับการยอมรับต่อวงการวิศวกรรมชีวการแพทย์ในระดับประเทศและต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนนักศึกษาแรกเข้าเกินเป้าหมายในทุกปีรวมทั้งอัตราการคงอยู่ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1และ 2 อยู่ในระดับที่สูงมากขึ้นในทุกปี
ทั้งหมดที่นำมาแบ่งปันความรู้สู่กันฟังน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งของแนวปฏิบัติที่ดีในด้านของการบริหารจัดการที่ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางของวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิตและหวังว่าการเผยแพร่แนวทางการบริหารจัดการดังกล่าวนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องที่สามารถนำเอาไปประยุกต์ใช้ตามแนวทางที่เหมาะสมต่อบริบทของแต่ละคนแต่ละองค์การต่อไป