KM Day 2021
โครงการส่งเสริมพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาปริญญาบัณฑิต วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก
วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก
ผู้เล่าเรื่อง: ดร.ฐาปนาวรรณ นาสมยนต์ผู้บันทึก: ดร.พจ.ณัฐธิดา สิริโยธิน
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง
อาจารย์ประจำวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก รับผิดชอบโครงการส่งเสริมพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาปริญญาบัณฑิต วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก
ความเป็นมาของเรื่องที่เล่า
นักศึกษาการแพทย์แผนไทยและนักศึกษาการแพทย์แผนจีนมีความจำเป็นต้องใช้ความรู้ภาษาอังกฤษในการศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ การทำวิจัย และการประกอบวิชาชีพ โดยเฉพาะการใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารกับคนไข้ต่างชาติ รวมถึงติดต่อสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ นอกจากนั้น ในปัจจุบันเทคโนโลยี การตลาด เศรษฐกิจ การคมนาคม กฎหมาย ข่าวสารและอื่นๆล้วนแล้วต้องมีการใช้ภาษาอังกฤษในการการติดต่อสื่อสารทั่วโลก
ดังนั้นวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกจึงเล็งเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษในด้านการสื่อสาร และเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติสามารถใช้ทักษะภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง จึงได้จัดโครงการส่งเสริมพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาปริญญาบัณฑิต วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก
ความรู้เดิม
เริ่มจากการปลูกจิตสำนึกให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ โดยได้จัดการปฐมนิเทศแก่นักศึกษาก่อนเข้าร่วมโครงการ และเรียนเชิญอาจารย์ผู้มีความชำนาญการด้านภาษาจากสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยรังสิตมาเป็นวิทยากรให้ การศึกษาในชั้นเรียนได้ให้นักศึกษาฝึกทักษะด้านต่างๆ ทั้งการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียนภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นมีการมอบหมายงานนอกชั้นเรียน โดยให้นักศึกษาเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากหลักสูตรออนไลน์ที่น่าเชื่อถือได้ (เช่น Chula Mooc , MahidolMooc , ThaiMooc และ King's College London เป็นต้น) และให้นักศึกษาสอบวัดความรู้หลังการเรียนเพื่อรับใบประกาศนียบัตรสำหรับผู้ที่สอบผ่าน ซึ่งการประเมินผลความสำเร็จของโครงการพิจารณาจากการให้ความร่วมมือในการเข้าชั้นเรียน ใบประกาศนียบัตรของนักศึกษาจากการผ่านการเรียนรู้ในหลักสูตรภาษาอังกฤษออนไลน์ การสัมภาษณ์ และการสอบถามความพึงพอใจ
เทคนิคที่นำมาใช้เพื่อให้โครงการประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ คือ มีการให้อาจารย์ที่ปรึกษาและหัวหน้าโครงการเข้าร่วมอบรมพร้อมกับนักศึกษาเพื่อเป็นแบบอย่างในการเรียน นอกจากนี้อาจารย์ผู้สอนจากสถาบันภาษามีเทคนิคการพูดภาษาอังกฤษและการกระตุ้นให้นักศึกษามีความสุขในการเรียน และใบประกาศนียบัตรของนักศึกษาที่ได้จากการเรียนออนไลน์ยังสามารถนำไปประกอบ resume ในอนาคตได้
อุปสรรคในการทำงานคือการจัดเวลาเรียนและระยะเวลาในการเรียน เนื่องจากนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการประกอบด้วยนักศึกษา 2 หลักสูตร (หลักสูตรการแพทย์แผนไทยบัณฑิต และนักศึกษาหลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต) ซึ่งนักศึกษาทั้ง 2กลุ่มเรียนค่อนข้างหนัก เวลาที่นักศึกษาว่างตรงกันคือเวลาหลังเลิกเรียน จึงจัดให้นักศึกษาเข้าอบรมหลังเลิกเรียน แต่นักศึกษาบางรายอ่อนล้าจากการเรียนทั้งวัน ทำให้นักศึกษาบางรายเข้าเรียนสายหรือขาดเรียน ดังนั้นในการจัดโครงการในครั้งถัดไปควรประสานงานกับผู้รับผิดชอบจัดตารางเรียนเพื่อกำหนดวันเวลาที่นักศึกษาว่างที่ตรงกันให้เหมาะสม และจัดเวลาให้กระชับขึ้น
ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และความรู้ใหม่ที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว
นักศึกษาได้ประโยชน์จากการเรียนในชั้นเรียนในระดับ “มาก” และมีนักศึกษาได้รับเกียรติบัตรจากการเรียนออนไลน์ ทั้งใน ThaiMooc หรือ ChulaMook MahidolMooc, King's College London, และผลการเรียนหลักสูตร B1: CEFR PREPARATI รวมถึงหลักสูตรอื่นๆ มากกว่าร้อยละ 90
นอกจากนั้น ผลการสอบถามพบว่านักศึกษามีความสนใจเรียนในครั้งถัดไป และสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน มีความมั่นใจ ความสนุก และกล้าแสดงออกมากขึ้น
ผู้เล่าเรื่องกล่าวว่า ทักษะภาษาอังกฤษหากรู้หลักการใช้ที่ถูกต้อง ผู้เรียนมีความพยายาม และมีการฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เชื่อว่านักศึกษาจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในสาขาวิชาชีพของตนเองได้ในอนาคต และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมั่นใจ ในทัศนคติของผู้เล่าเรื่องจึงเห็นควรเสนอให้มีโครงการนี้ต่อไปในอนาคต