KM Day 2021

การประสบความสำเร็จในการเขียนขอทุนวิจัยของนักวิจัยหน้าใหม่ จากการได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากนักวิจัยประสบการณ์ 

วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก
ผู้เล่าเรื่อง: อ. ดร. นันทพงศ์ ขำทอง / พจ. พรประภา สัตยานันทาภิบาล
ผู้บันทึก: อ. ดร. วาลุกา พลายงาม
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง

อ. ดร. นันทพงศ์ ขำทอง มีบทบาทเป็นนักวิจัยพี่เลี้ยงที่เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเขียนขอทุนจากแหล่งทุน ให้แก่ พจ. พรประภา สัตยานันทาภิบาล นักวิจัยหน้าใหม่ ซึ่ง พจ. พรประภา สัตยานันทาภิบาล ได้นำองค์ความรู้ไปใช้จนสามารถขอทุนวิจัยจากสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต ได้สำเร็จ

ความเป็นมาของเรื่องที่เล่า

การปัญหาด้านการวิจัยของวิทยาลัยที่ในแต่ละปีอาจารย์ผู้ที่ได้รับทุนวิจัยจะเป็นอาจารย์นักวิจัยประสบการณ์ ไม่มีการเพิ่มขึ้นของนักวิจัยหน้าใหม่ ทำให้วิทยาลัยมีแนวคิดที่จะจัดตั้งระบบนักวิจัยพี่เลี้ยงเพื่อช่วยให้นักวิจัยหน้าใหม่สามารถทำวิจัย เขียนขอทุนวิจัย รวมทั้งเผยแพร่ผลงานวิจัยได้ ในปีการศึกษา 2563 ระบบนักวิจัยพี่เลี้ยงของวิทยาลัยได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์รวมถึงช่วยเหลืออาจารย์ให้ขอทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยได้สำเร็จจำนวน 5 ท่าน ทั้งนี้จะขอนำของ พจ. พรประภา สัตยานันทาภิบาล มาถ่ายทอด เนื่องจากอาจารย์พึ่งสำเร็จการศึกษาและกลับมาทำงาน จึงเป็นโมเดลของผู้ที่ไม่เคยเขียนขอทุนมาก่อนเลย แต่สามารถเขียนขอทุนวิจัยได้จากระบบนักวิจัยพี่เลี้ยง

ความรู้เดิม

1. ขั้นตอนการตั้งนักวิจัยพี่เลี้ยง วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกมีการบริหารจัดการด้านการวิจัย ภายใต้การดูแลของกรรมการวิขาการวิทยาลัยและคณะทำงานด้านการวิจัยของวิทยาลัย โดยมีการตั้งกรรมการการวิจัยและนักวิจัยพี่เลี้ยงเพื่อสนับสนุนให้อาจารย์ที่ยังขาดประสบการณ์และความเข้าใจได้เขียนขอทุนวิจัยได้

            2. ขั้นตอนของการถ่ายทอดความรู้จากนักวิจัยพี่เลี้ยง

            2.1 ทำการจับคู่นักวิจัยพี่เลี้ยงกับนักวิจัยหน้าใหม่จากความสนใจของงานวิจัยที่จะทำและแหล่งทุนที่จะข้อทุน

2.2 การถ่ายทอดเทคนิคหรือกลยุทธ์ของนักวิจัยพี่เลี้ยง

การเริ่มต้นทำงานวิจัย แนะนำให้พิจารณาความเชี่ยวชาญของผู้ขอทุน โดยเฉพาะกรณีของนักวิจัยหน้าใหม่ แนะนำให้ขอทุนทำงานวิจัยในด้านที่ผู้ขอทุนมีความถนัด และเลือกประเภทของทุนตามลักษณะของวิจัยเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของทุน เช่น กรณีผู้ขอทุนถนัดงานวิจัยพื้นฐาน ให้ขอทุนประเภทงานวิจัยความรู้พื้นฐาน และควรมีนักวิจัยพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาโครงการวิจัยที่มีความถนัดในด้านนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจที่จะทำให้การดำเนินงานวิจัยนั้นสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

การเขียนโครงร่างขอทุนวิจัย ผู้ขอทุนควรศึกษาวัตถุประสงค์ของแหล่งทุนและรูปแบบการเขียนโครงร่างขอทุนวิจัยให้เข้าใจ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ขอทุนเตรียมโครงร่างขอทุนวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์ของงานวิจัยที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของทุน และมีรูปแบบการเขียนโครงร่างขอทุนวิจัยที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของแหล่งทุน การทำงานวิจัย ผู้วิจัยต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่จะทำวิจัยอย่างถ่องแท้  จะทำให้สามารถดำเนินการวิจัยจนสำเร็จลุล่วง เพิ่มประสบการณ์ให้ผู้วิจัยเอง นำไปสู่โอกาสในการได้รับทุนวิจัยในครั้งต่อไป

2.3 การนำองค์ความรู้ไปเขียนโครงร่างการวิจัยและยื่นขอทุนจากแหล่งทุน

โดยเริ่มจากเขียนเสนอต่อนักวิจัยพี่เลี้ยงให้ช่วยพิจารณาและเสนอแนะ จากนั้นนำเข้ากรรมการวิจัยเพื่อพิจารณา แล้วจึงให้นักวิจัยนำส่งแหล่งทุนต่อไป

ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และความรู้ใหม่ที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว

ในปีการศึกษาที่ผ่านมา พจ. พรประภา สัตยานันทาภิบาล อาจารย์นักวิจัยหน้าใหม่สามารถเขียนขอทุนและได้รับทุนวิจัยจากสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต ทั้งยังเริ่มนำงานวิจัยเผยแพร่ในการประชุมวิชาการ ถือเป็นความสำเร็จของกระบวนการกระตุ้นและสนับสนุนการทำวิจัยผ่านระบบนักวิจัยพี่เลี้ยงของวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก