KM Day 2021

ประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้สิ่งแวดล้อม (L.E.: Learning Experience)

คณะวิทยาศาสตร์
ผู้เล่าเรื่อง: ผศ.ดร.ลาวัณย์ วิจารณ์
ผู้บันทึก: ผศ.ดร.ลาวัณย์ วิจารณ์
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง

เป็นผู้ออกแบบ การวางโครงการจัดประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้สิ่งแวดล้อม (environmental learning experience) เรื่อง สารอันตรายในน้ำมันทอดซ้ำ: ชุมชนวัดรังสิต ซึ่งเป็นการบริการวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาชุมชน ภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นโครงการบริการวิชาการประจำปี 2563(เป็นโครงการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560-ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นการประยุกต์ learning experience: L.E. ใช้ในการวางโครงการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมศึกษาชุมชน

ความเป็นมาของเรื่องที่เล่า

ปัญหาสิ่งแวดล้อม....เป็นปัญหาใกล้ตัวที่กำลังสร้างผลกระทบ ต่อการดำเนินชีวิตของคนทุกคนในชุมชน การสร้างการรับรู้(awareness) ถึงสภาพปัญหา สาเหตุ และผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหา จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญยิ่ง ผลจากการวิเคราะห์สภาวการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชนวัดรังสิต ก็พบว่า พฤติกรรมการประกอบอาหาร เป็นต้นเหตุหนึ่ง ของการเกิดปัญหามลพิษในอาหาร ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน สำหรับในปีนี้ จึงได้ร่วมกับผู้นำชุมชนวัดรังสิต จัดประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้สิ่งแวดล้อม เรื่อง สารอันตรายในน้ำมันทอดซ้ำเป็นเรื่องแรก เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และจากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นจากอาสาสมัครของชุมชน ก็พบว่า ส่วนใหญ่รับทราบข้อมูลการรณรงค์ ลดการใช้น้ำทอดซ้ำ และอาสาสมัครเองก็ยัง ไม่รู้วิธีทดสอบสารอันตราย โดยมากกว่าครึ่งยังคงบริโภคอาหารประเภททอดเป็นประจำทุกวัน
ดังนั้น การเรียนรู้ถึงวิธีการทดสอบสารอันตรายในน้ำมันทอดซ้ำแบบง่ายๆ ที่ใครๆก็ทำได้ นอกจากจะช่วยให้ การสร้างความตระหนักในการลดมลพิษสิ่งแวดล้อม จากการประกอบอาหาร ทำได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพ ของสมาชิกทุกคนในชุมชนอีกด้วย

การจัดประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้สิ่งแวดล้อม (environmental learning experience) ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ถึงปัจจุบัน โดยผลจากการวิเคราะห์สภาวการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชนต่างๆ ร่วมกับชุมชนในปีนี้ ก็พบว่า ชุมชนมีความต้องการให้จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมในบ้าน ในเรื่องใกล้ตัวเพื่อสร้างความเข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งหาแนวทางลดผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงได้ออกแบบการจัดประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมครั้งนี้ขี้น โดยเริ่มจากการเรียนรู้ถึงวิธี

ความรู้เดิม

                วิธีการ/ขั้นตอน นำประสบการณ์จากการจัดประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้สิ่งแวดล้อม (environmental learning experience) ที่ได้จากโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน และการจัดการเรียนการสอนวิชา ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางในการจัดประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน ตามความต้องการของชุมชน และต้องเป็นโครงการที่ชุมชนสามารถทำได้จริงและมีความต่อเนื่องยั่งยืน
               กระบวนการที่ทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จ เทคนิค หรือกลยุทธ์ ต้องเป็นกิจกรรมที่ชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมขยายผลองค์ความรู้สู่คนในชุมชน
                อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน โดยภาพรวมไม่พบปัญหาอุปสรรค เนื่องจากเป็นการจัดกิจกรรมในชุมชนที่เป็น social laboratory ซึ่งเป็นฐานงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาของผู้เล่าเรื่อง และแม้ว่าการจัดกิจกรรมครั้งจะจัดขึ้นในช่วงโควิด 19 ซึ่งทำให้ไม่สามารถการจัดประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมได้ครบทุกเรื่องก็ตาม แต่ได้ร่วมกับชุมชนกำหนดแนวทางแก้ไขโดย จะดำเนินการต่อเนื่องต่อไป ในเวลาที่เหมาะสม

ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และความรู้ใหม่ที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว

ผลการจัดกิจกรรมครั้งนี้ พบว่า ร้อยละ 100 ของอาสาสมัครของชุมชน สามารถทดสอบสารอันตรายในน้ำมันทอดซ้ำได้อย่างถูกต้องและสามารถทำหน้าที่เป็นวิทยากรขยายความรู้สู่ชุมชนของตนได้ และร้อยละ 85 ของอาสาสมัครชุมชน ยินดีและพร้อมเป็นวิทยากรขยายผล