KM Day 2021
วิธีการรับมือกับสถานการณ์ความรุนแรงในสถานศึกษา กรณีศึกษา เหตุกราดยิงในสถานศึกษา
สถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม
ผู้เล่าเรื่อง: ร.ต.อ.อิศรา เจริญธรรมผู้บันทึก: ร.ต.อ.อิศรา เจริญธรรม
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง
1. ปัจจุบันผู้เล่าเรื่องดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม และ รองผู้อำนวยกาสำนักงานตำรวจมหาวิทยาลัยรังสิต
2. สอนนักศึกษาปริญญาตรี และบริหารงานสำนักงานตำรวจมหาวิทยาลัยรังสิตฝ่ายบริหารและนวัตกรรม
ความเป็นมาของเรื่องที่เล่า
ในอดีตที่ผ่านมาเหตุการณ์ความรุนแรงในสังคมได้มาในรูปแบบต่างๆมากมาย เช่น การฉกชิงวิ่งราว ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ฆาตกรรม หรือเพื่อหลอกลวงให้ผู้เสียหายเสียซึ่งทรัพย์สินต่างๆ เป็นต้น ซึ่งในช่วงเวลา 2-3 ปีหลังที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่น่าสนใจในการศึกษาถึงสาเหตุ การเรียนรู้วิธีการรับมือและวิธีการป้องกันที่ได้เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นั่นก็คือ “เหตุการณ์กราดยิง” ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมและเกิดความเสียหายจำนวนมาก เหตุการณในต่างประเทศ เช่น เหตุกราดยิงที่เทศกาลดนตรี กลางเมืองลาสเวกัสในประเทศสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ.2560 มีผู้เสียชีวิต 59 ราย , เหตุกราดยิงที่เมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน บาดเจ็บ 16 คน ในปี พ.ศ.2562 , เหตุกราดยิงในโรงเรียนของรัฐที่เมืองซูซาโน ใกล้นครเซาเปาโล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ในปี พ.ศ.2562 , เหตุกราดยิงในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ หลังการเดินขบวนคาริบเบียน คาร์นิวัล มีผู้บาดเจ็บ 10 ราย ในปี พ.ศ.2561 เป็นต้น และเหตุการณ์ในประเทศไทย เช่น เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา มีผู้เสียชีวิต 31 คน บาดเจ็บ 57 คน ในปี พ.ศ.2563 , เหตุกราดยิงชิงทองที่ห้างโรบินสันลพบุรี มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 4 คน เมื่อปี พ.ศ.2563 เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเหตุกราดยิงนั้นเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงและเกิดเหตุบ่อยครั้งขึ้นและมีจำนวนมากที่เกิดเหตุในสถานศึกษาซึ่งเป็นพื้นที่เปิด ประชาชนทั่วไปสามารถมาใช้บริการอย่างสาธารณะ
มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นสถานศึกษาหนึ่งที่มีนักศึกษา อาจารย์ บุคลากรและผู้มาติดต่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์กราดยิงขึ้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยนั้นจึงควรอย่างยิ่งในการที่มีองค์ความรู้ในการจัดการความปลอดภัยของตนเองและรับมือได้อย่างถูกต้องเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง ในครั้งนี้จึงได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางและการให้องค์ความรู้ในการจัดการความปลอดภัย รวมไปถึงวิธีการรับมือกับเหตุการณ์กราดยิงในสถานศึกษาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ความรู้เดิม
เมื่อพบเจอเหตุการณ์คนร้ายกราดยิง ผู้เผชิญเหตุการณ์ให้ดำเนินการตามลำดับวิธี 3 ขั้นตอน คือ “ วิ่ง ซ่อน สู้”
“ วิ่ง ” เมื่อเกิดเหตุขึ้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือให้วิ่งหนีให้รวดเร็วที่สุด เพราะคนร้ายนั้นมีอาวุธเป็นอันตรายอย่างมาก ให้ผู้เผชิญเหตุตั้งสติ รีบวิ่งหนีออกจากที่เกิดเหตุและให้ไกลจากคนร้ายมากที่สุดเพื่อรักษาชีวิตรอด และหาจังหวะโอกาสรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่สามารถติดต่อได้ในช่องทางต่างๆเพื่อเข้ามาในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือและควบคุมสถานการณ์
“ ซ่อน ” เมื่อวิ่งออกจากตำแหน่งที่เกิดเหตุแล้วหากไม่สามารถหนีไปได้ไกล มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ หรือสภาพร่างกายไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้โดยเร็ว ให้รีบหาพื้นที่ซ่อนตัวให้มิดชิดเพื่อไม่ให้คนร้ายเห็นและทำอันตรายแก่ผู้ประสบเหตุได้ และปิดเสียงเสียง ปิดหรืออำพรางไฟหรือสิ่งทำให้เกิดแสงจากเครื่องมือสื่อสารหรืออุปกรณ์ทุกชนิด
“ สู้ ” เมื่อวิ่งหนีหรือซ่อนตัวแล้ว ควรหาวัตถุ สิ่งของ หรือสิ่งใดๆใกล้ตัวที่สามารถเป็นอาวุธได้ นำมาไว้ในมือเพื่อพร้อมใช้ต่อสู้หากมีภัยประชิดตัวสิ่งสำคัญที่สุดคือให้มีสติ ควบคุมอารมณ์ และรีบแจ้งประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด
ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และความรู้ใหม่ที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว
1.นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และประชาชนในพื้นที่ได้มีองค์ความรู้ในการจัดการความปลอดภัยและมีวิธีการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตในเหตุการณ์กราดยิงในสถานศึกษาที่เป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงและก่อให้เกิดเหตุความเสียหายอย่างรุนแรง
2.ก่อให้เกิดความตระหนักในการระวังป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆในพื้นที่ รวมถึงเป็นข้อมูลแนวทางการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆของหน่วยงานความปลอดภัยเพื่อมารับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
3.เป็นกรณีศึกษาและตัวอย่างวิธีการในการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุในเหตุการณ์วิกฤตของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่