KM Day 2021

การจัดการความรู้ด้านงานวิจัย ประเด็นความรู้  “เทคนิคการเขียนบทความให้ได้ตีพิมพ์ระดับ Q1 Q2”

วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์
ผู้เล่าเรื่อง: อาจารย์ ทพ ปกิต ตุ้งสวัสดิ์
ผู้บันทึก: ศาสตราจารย์คลินิก ทญ สายสวาท ทองสุพรรณ และ อาจารย์ ดร.ทญ กิตติ์ภารัช กมลธรรม
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง

อาจารย์สายการสอน สาขาวิชาวิทยาเอ็นโดดอนต์ รับผิดชอบงานสอน ภาคทฤษฎี ปฏิบัติ คลินิก ระดับปริญญาตรีและหลังปริญญา และการรักษาผู้ป่วยของวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ด้านงานวิจัย มีหน้าที่ ผลิตงานวิจัย เป็นที่ปรึกษางานวิจัย ระดับปริญญาตรีและหลังปริญญาในหลักสูตร

ฝึกอบรมทันตแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตร แสดงความรู้ ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม สาขาวิชาวิทยาเอ็นโดดอนต์ ของราชวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (หลักสูตร ฝึกอบรม 3 ปี)

 เป็นวิทยากรรับเชิญในการบรรยายวิชาการให้แก่สมาคมและชมรมต่างๆ

ความเป็นมาของเรื่องที่เล่า

อาจารย์ปกิต เป็นผู้ที่มีตรรกความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เมื่อได้เริ่มทำงานวิจัยในระหว่างศึกษาระดับปริญญาตรีและหลังปริญญา ได้พบว่าวิจัยเป็นงานที่มีเหตุมีผลมีคำตอบต่อคำถามที่ช่วยให้มั่นใจในการนำไปใช้ ประกอบการสอนและการรักษาผู้ป่วยทางทันตกรรม และสนใจเรียนรู้สถิติทำให้การอ่านผลงานวิจัยมีความลึกซึ้งมากขึ้นจนเกิดเป็นความสนุกที่จะอ่านงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง

และด้วยภาระรับผิดชอบของการเป็นอาจารย์ที่จะต้องมีงานวิจัยอย่างสม่ำเสมอ จึงต้องพยายามบริหารเวลาของการเป็นอาจารย์สายการสอนให้สามารถผลิตงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ให้ได้อย่างน้อยปีละ 1 เรื่อง

ความรู้เดิม

จากประสบการณ์การทำวิจัยกับอาจารย์ที่ปรึกษามาในขณะที่ตนเองยังศึกษาอยู่ ทำให้เห็นประโยชน์ที่จะได้รับทั้งส่วนของนักศึกษาและของอาจารย์ที่จะสร้างงานวิจัยได้ จึงรับเป็นที่ปรึกษางานวิจัยในระดับปริญญาตรีและหลังปริญญาเป็นประจำตลอดมาทุกปี อุปสรรคและปัญหาอาจเกิดขึ้นบ้างในบางปีที่ได้รับกลุ่มนักศึกษาที่มีความรู้หรือความพยายามไม่มากพอ ก็ต้องพยายามสอนและให้กำลังใจเพื่อให้งานวิจัยสำเร็จลุล่วงไปได้

 วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์มีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการตีพิมพ์ทำให้ได้ประสบการณ์ในการตีพิมพ์สะสมเรื่อยมา และพยายามเรียนรู้ที่จะให้การตีพิมพ์มีคุณภาพดีขึ้นเป็นลำดับ

การมีเป้าหมายที่จะสร้างงานที่มีคุณภาพทำให้มีหลักการที่จะพยายามสร้างงานวิจัยให้ได้รับการตีพิมพ์ ในระดับ Q1 Q2 โดยใช้วิธีศึกษาวารสารแต่ละประเภทที่ได้รับการตอบรับตีพิมพ์ ในระดับ Q1 Q2 แล้วนำมาเป็นแนวคิดสร้างงานวิจัยในประเภทเดียวกัน พร้อมกับบริหารการจัดการงานวิจัยให้สำเร็จลุล่วง โดยเลือกประเภทงานวิจัยที่สามารถใช้วิธีการที่สามารถทำได้โดยทรัพยากรของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ที่มีอย่างจำกัด

ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และความรู้ใหม่ที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว

ด้วยวิธีการดังกล่าวทำให้สามารถผลิตงานวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง และจากประสบการณ์การส่งตีพิมพ์พบว่าระบบออนไลน์ช่วยให้การตีพิมพ์ทำได้ง่ายกว่าในอดีต ประกอบกับการเรียนรู้แหล่งตีพิมพ์ที่หลากหลายและมีความพยายามที่จะส่งไปอย่างไม่เลิกล้มความตั้งใจ จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้

อนึ่งอาจารย์ผู้เล่าเรื่องได้ปรารภว่าหากจะมีกลุ่มอาจารย์ที่มีความสนใจอยากจะตีพิมพ์ในระดับ Q1 Q2 มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันบ้าง น่าจะช่วยให้เกิดกระบวนการ หรือกลยุทธ์ที่แตกต่างออกไปอันจะได้มาซึ่งประโยชน์ในส่วนรวมมากขึ้น