KM Day 2021
ผลงานออกแบบสร้างสรรค์สื่อกราฟิกข้อมูล อัตลักษณ์โครงการ และกราฟิกเคลื่อนไหว สำหรับโครงการ “นวัตกรรมสื่อเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดิจิทัลผ่านมัลติแพลทฟอร์ม” จากงานวิจัยโดย ดร. ชวพร ธรรมนิตยกุล ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2560
วิทยาลัยการออกแบบ
ผู้เล่าเรื่อง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิรดา ไวยาวัจมัยผู้บันทึก: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชินภัศร์ กันตะบุตร
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง
อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์วิทยาลัยการออกแบบ รับผิดชอบรายวิชา VCD241วิชาการออกแบบกราฟิกเคลื่อนไหว และ VCD341 วิชาการออกแบบสื่อปฎิสัมพันธ์เชิงโต้ตอบ อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ กรรมการตรวจศิลปนิพนธ์ และอาจารย์ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ประจำสาขาออกแบบนิเทศศิลป์
ความเป็นมาของเรื่องที่เล่า
ผลงานออกแบบชิ้นนี้ได้รับการพิจารณาจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์งานวิจัยในระดับนานาชาติรูปแบบออนไลน์ ในงาน Art Exchange 2020: “Imagine” Artistic Dialects: Thinking in Doing International Online Exhibition and Competition และได้รับรางวัล Honorable Mention Award จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือก และได้รับเกียรติบัตรพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
Art Exchange: “Imagine” Artistic Dialects: Thinking into Doing เป็นนิทรรศการและการประกวดผลงานศิลปะระดับนานาชาติผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งเพื่อมูลนิธิอารยศิลป์ สิริวัณณวรีนารีรัตน์ พร้อมด้วยความร่วมมือของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม คณะศิลปะกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยบูรพา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม เพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ (University Network For Change : UNC) นิทรรศการในครั้งนี้ทำหน้าที่เป็นเวทีจัดแสดงผลงานศิลปะที่ผ่านการประเมินผลงานโดยผู้เชี่ยวชาญ (Peer-reviewed) ของทั้งสถาบันการศึกษาทางด้านศิลปะ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะ ศิลปิน นักออกแบบ นิสิต นักศึกษา ตลอดจนผู้ที่มีความสนใจในศาสตร์ทางด้านศิลปะ เวทีนี้ไม่ได้เพียงพื้นที่การเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะที่ได้รับการคัดเลือกในประเภทต่างๆเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย เพื่อให้ได้สัมผัสถึงกระบวนทัศน์ทางวิชาการ อุตสาหกรรมทางศิลปะ รวมไปถึงส่งเสริมการเข้าชมผลงานทางศิลปะ นิทรรศการในปีนี้ประกอบไปด้วยผลงานที่แสดงถึงกระบวนการคิดที่นำไปสู่การลงมือทำซึ่งสะท้อน 5 หัวข้อดังนี้
1.) กิจกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Action): พิจารณาประเด็นสำคัญที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ สืบเนื่องจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างขาดความรับผิดชอบ การสร้างสรรค์ผลงานภายใต้หัวข้อย่อยนี้ควรมีแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นไปได้อย่างหนึ่ง คือการสร้างสรรค์ผลงงานที่ผสมผสานแนวคิดเชิงนวัตกรรมหรือวัสดุใหม่ที่สามารถนำเสนอวิธีแก้ปัญหาทางนิเวศวิทยา หรือการให้ผลลัพธ์ระยะยาวได้
2.) การบูรณาการสาขาวิชา (Disciplines Integration): สาขาวิชาทางด้านการสร้างสรรค์มีความเลื่อมซ้อนกันภายในกับสาขาวิชาด้านอื่นๆ ทำให้เรามีความเข้าใจโลกที่แจ่มชัดมากขึ้นในองค์รวม ผลงานที่ครอบคลุมแนวคิดที่ซ้อนทับหรือแม้แต่ขัดแย้งกันที่มาจากความหลายหลายทางสาขาวิชาสามารถจัดรวมอยู่ในหัวข้อนี้ได้
3.) การค้นพบทางนวัตกรรม (Innovative Discovery): แนวทางใหม่ในกระบวนการสร้างสรรค์ และการคิดค้นแก้ปัญหา ที่สามารถช่วยขับเคลื่อนสาขาวิชาทางด้านศิลปะไปข้างหน้า ภายใต้หัวข้อย่อยนี้ รวมถึงผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะประเภทใดก็ตามที่ใช้แนวทางที่สดใหม่ นอกกรอบเดิม หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหัวก้าวหน้าก็สามารถจัดรวมอยู่ในหัวข้อนี้ได้
4.) การสำรวจข้ามวัฒนธรรม (Trans-Cultural Exploration): ในโลกของเราที่มีความหลากหลายอย่างมาก ของประเพณีค่านิยม ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิต จึงนำมาซึ่งแรงบันดาลใจอย่างไม่รู้จบให้กับนักคิดเชิงสร้างสรรค์ และนักปฏิบัติการ ผลงานทางด้านศิลปะที่ภายใต้หัวข้อย่อยนี้ควรมีการเชื่อมโยงวัฒนธรรมที่หลากหลายเข้าด้วยกัน หรือมีการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรม สังคมที่มีอิทธิพลต่อกันและกัน
5.) ความร่วมมือข้ามพรมแดน (Collaboration Beyond Borders): การสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงให้เห็นถึงการสำรวจพรมแดนใหม่ และเสริมสร้างการเคารพนับถือการทำงานเป็นทีม หรือการช่วยเหลือกัน เพื่อสร้างกลุ่มหรือชุมชนที่ทีบทบาทสำคัญต่อสังคม ศิลปะการมีส่วนร่วม (Participatory arts) ศิลปะที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน (Socially engaged Arts) หรือ ศิลปะที่เกี่ยวพันกับบริบททางสังคมหรือชุมชน สามารถจัดอยู่ในผลงานสร้างสรรค์ภายใต้หัวข้อนี้ได้
รางวัลผลงานยอดเยี่ยมจะถูกคัดเลือกจากผลงานระดับ นิสิต นักศึกษาที่เข้าร่วมการประกวด และรางวัลอันทรงเกียรติจะถูกคัดเลือกมาจากผลงานระดับสถาบันการศึกษาทางด้านศิลปะ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะ และศิลปิน ผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้จัดแสดงจะได้รับเกียรติบัตรพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
ความรู้เดิม
ผู้ออกแบบได้ส่งผลงาน โครงการออกแบบสร้างสรรค์สื่อกราฟิกข้อมูล อัตลักษณ์โครงการ และกราฟิกเคลื่อนไหว สำหรับโครงการ “นวัตกรรมสื่อเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดิจิทัลผ่านมัลติแพลทฟอร์ม ได้นำเสนอผลงานเพื่อเข้าร่วมพิจารณาในระดับนานาชาติสำหรับงาน ART EXCHANGE 2020 ใน 3 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 : ออกแบบตราสัญลักษณ์โครงการเพื่อใช้บนสื่อออนไลน์
ผู้ออกแบบเริ่มต้นวิเคราะห์ค้นหาแนวทางการออกแบบจากข้อมูลงานวิจัยของ ดร.ชวพร
ธรรมนิตยกุล ที่ได้มอบโอกาสให้ร่วมออกแบบ ในโครงการ “นวัตกรรมสื่อเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดิจิทัลผ่านมัลติแพลทฟอร์ม” โดยได้ออกแบบพัฒนาสื่ออัตลักษณ์ของโครงการ โดยร่วมคิดชื่อของอัตลักษณ์สำหรับโครงการในชื่อว่า “Digizen Native” สื่อถึงความเป็นพลเมืองดิจิทัลยุคใหม่ ด้วยแนวความคิดสื่อไลฟ์สไตล์ความเรียบง่าย การใช้สัญลักษณ์ตัว “D” จากคำว่า ดิจิทัล (Digital) และประยุกต์ตัว D ปรับโครงสร้างตัวอักษรเพิ่มรูปทรงกลมไปบริเวณส่วนกลางของส่วนโค้งของอักษรให้ดูคล้ายรูปคนเมื่อมองจากด้านบน และเพิ่มตัว Z (Zen) ที่ใช้ย่อมาจากคำว่า Citizenship หรือความเป็นพลเมือง วางไว้ภายในโครงสร้างตัว D สื่อถึงดิจิทัลโอบล้อมและวนเวียนภายนอกความเป็นพลเมืองดิจิทัลไว้ เลือกใช้สีที่สื่อถึงความล้ำสมัย เทคโนโลยี และความเท่าเทียมทางเพศ และความล้ำหน้าและโลกดิจิทัล ผสมผสานคู่สีข้างเคียง (Analogous) และเพิ่มเฉดของสีคู่ตรงข้ามในปริมาณที่น้อยกว่าเข้าไปอีกนิด เพื่อให้รู้สึกโดดเด่นแต่สบายตามากขึ้น พร้อมทั้งเลือกใช้แบบตัวอักษรของคำว่า “Digizen Native” แบบไม่มีเชิง (Sans Serif) สื่อถึงความทันสมัยเป็นปัจจุบันดูเป็นมิตรด้วยตัวอักษรที่มีขอบมนทำให้ดูเป็นกันเอง และเข้าถึงได้ง่าย
ส่วนที่ 2 : ออกแบบกราฟิกข้อมูล เพื่อสื่อสารเนื้อหาของโครงการ
วิเคราะห์จากข้อมูลของเนื้อหาสาระสำคัญที่ต้องการสื่อจากรายละเอียดเพื่อนำมาตีความและสื่อสารด้วยภาพกราฟิกที่ออกแบบประกอบกับการสร้างคาแรคเตอร์ผู้ชายที่กำหนดให้เป็นตัวแทนของพลเมืองดิจิทัล เน้นรูปทรงกราฟิกสัญลักษณ์ของภาพตามองค์ประกอบเนื้อหาต่างๆ ด้วยรูปแบบที่ชัดเจนลดทอนรายละเอียด เป็นมิตร มีเอกลักษณ์เข้ากับสไตล์ของอัตลักษณ์ ลำดับความสำคัญเพื่อให้สามารถสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน และดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ในแต่ละหมวดจากคุณสมบัติความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีทั้ง 9 ประการ จัดวางลดหลั่นลงบนพื้นที่แนวตั้งให้น่าสนใจสะดุดตาตามหลักการออกแบบและการมองเห็นได้ชัดเจน ได้แก่
Digital Access สิทธิเท่าเทียมกันในการใช้อินเทอร์เน็ต
Digital Commerce ซื้อขายออนไลน์แบบมีกติกา
Digital Communication แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสม
Digital Literacy เรียนรู้ ถ่ายทอด ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
Digital Etiquette รู้กาลเทศะ ประพฤติดี มีมารยาท
Digital Law ละเมิดสิทธิ ผิดกฎหมาย
Digital Rights & Responsibilities มีอิสระในการแสดงออก แต่ต้องรับผิดชอบทุกการกระทำ
Digital Health & Wellness ดูแลสุขภาพกายใจ ห่างไกลผลกระทบจากโลกดิจิทัล
Digital Security ระวังทุกการใช้งาน มั่นใจปลอดภัย
ส่วนที่ 3 : ออกแบบกราฟิกเคลื่อนไหว
เป็นการออกแบบกราฟิกเคลื่อนไหวสำหรับใช้ประกอบเพลงในจังหวะแรพ โดย ดร.ชวพร และทีมนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิตได้ร่วมประพันธ์ขึ้น โดยเน้นจังหวะสนุกสนาน ฟังแล้วกลุ่มเป้าหมายชื่นชอบ ร้องตามได้ง่าย ติดหูสะดุดใจ จดจำได้ทันที ความยาว 2.15 นาที ซึ่งในการนำเสนอผลงานเพื่อพิจารณาในโครงการ ART EXCHANGE 2020 นี้ ผู้วิจัยได้ตัดเฉพาะท่อนหลัก (Hook) นำเสนอในความยาว 12 วินาที
ในงานออกแบบกราฟิกเคลื่อนไหวนี้ได้ใช้ตัวคาแรคเตอร์ที่ออกแบบมาจัดวางกับกราฟิกข้อมูลเพื่อประกอบเพลง โดยใช้สีของอัตลักษณ์ เพื่อให้เกิดความจดจำสื่อของโครงการได้ ซึ่งในเพลงจังหวะแรพนี้จะเน้นการออกแบบตัวอักษรประกอบคำร้องที่ออกแบบหลากหลายด้วยตัวอักษรประดิษฐ์ (Display type) ขึ้นใหม่ทุกคำจากท่อนหลัก ให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางประสาทการรับรู้ของการได้ยิน และการมองเห็น ประกอบกับการเคลื่อนไหวตามจังหวะเพลง ทำให้เกิดความสนุกสนาน สามารถร้องตามและจดจำภาพตัวอักษรสร้างความสะดุดตาแปลกใหม่สามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้
ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และความรู้ใหม่ที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว
ผู้ออกแบบได้รับประสบการณ์จากการร่วมส่งประกวดผลงานระดับนานาชาติที่มีผลงานเข้าร่วมประกวดมากกว่า 300 ชิ้นจากทั่วโลก ซึ่งผลการประเมินที่ได้รับคือ คะแนน 25/25 และได้รับความคิดเห็นชื่นชมจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชาวต่างชาติ โดยผู้ออกแบบคาดว่าผลคะแนนนี้ได้รับจากการบรรยายกระบวนการและขั้นตอนการออกแบบที่มีความชัดเจน มีการค้นคว้าจริงที่สามารถระบุการอ้างอิงตามหลักเกณฑ์ได้ถูกต้อง และการเลือกผลงานส่งประกวดที่มีเนื้อหาทันต่อยุคสมัยเป็นโจทย์ที่มีประเด็นความสำคัญต่อสังคมโดยรวม สามารถแสดงวิธีแก้ปัญหาด้วยงานออกแบบได้อย่างชัดเจน เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้ผลงานสร้างสรรค์ชุดนี้ได้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกให้จัดแสดงบนนิทรรศการออนไลน์ และได้รับรางวัล Honorable Mention Award Top 10 จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติ ทำให้มีพลังใจในการพัฒนาผลงานเพื่อนำเสนอในระดับนานาชาติในอนาคตได้
นอกจากนั้นผู้ออกแบบสามารถนำประสบการณ์การนำเสนอผลงานในระดับนานาชาติที่ได้รับนี้ ถ่ายทอดวิธีการดำเนินงาน รูปแบบการอธิบายแนวความคิด และการลำดับกระบวนการในการออกแบบ สู่นักวิจัยด้านการออกแบบ นักวิชาการผู้เกี่ยวข้องในสาขาวิชากลุ่มเดียวกัน และนักศึกษาที่สนใจเพื่อเสริมให้ร่วมส่งผลงานออกแบบในระดับนานาชาติด้วยความมั่นใจต่อไปได้