KM Day 2021

การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษผ่านการดูการ์ตูนและการฟังข่าวภาษาอังกฤษ

สถาบันภาษาอังกฤษ
ชื่อเรื่อง/กระบวนการดำเนินงานที่นำมาจัดการความรู้

ทักษะเสริมที่สร้างสรรค์ ด้านเทคนิคการพัฒนาภาษาอังกฤษ

ของคณะวิชา: วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์

2. ข้อมูลความรู้ชัดแจ้งเดิม ที่นำมาปรับปรุง/ประยุกต์ใช้ในกระบวนการดำเนินงาน
2.1 ชื่อความรู้

การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษผ่านการดูการ์ตูนและการฟังข่าวภาษาอังกฤษ

2.2 ชื่อเจ้าของความรู้/สังกัด

อาจารย์จินตนาภรณ์ สิริพิพัฒน์ วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์

2.3 ที่มาของความรู้
ความรู้จากคลังความรู้ของเว็บไซต์ระบบการจัดการความรู้KM Rangsit University
3. รายงานการประยุกต์ความรู้ไปใช้ในกระบวนการดำเนินงาน
3.1 วิธีดำเนินงาน/กิจกรรม

อาจารย์สุพจนินท์ ดวงจินดา อาจารย์ประจำสถาบันภาษาอังกฤษได้นำความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษผ่านการดูการ์ตูนและการฟังข่าวภาษาอังกฤษที่ถ่ายทอดโดยอาจารย์จินตนาภรณ์ สิริพิพัฒน์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์มาประยุกต์ในการสอนวิชา ENL127 ในภาคการศึกษา 1/2563 โดยนำความรู้ดังกล่าวมาจัดเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านสื่อที่ชื่นชอบ (Learning English through Favorite Media) จำนวน 1 กิจกรรม คิดเป็น 10 คะแนน (ร้อยละ 10 ของคะแนนทั้งหมด) ในรายวิชานี้

ในการทำกิจกรรมดังกล่าว อาจารย์ผู้สอนได้มอบหมายให้นักศึกษาทำงานเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-7 คนและให้แต่ละกลุ่มไปฝึกฝนทักษะการฟังรวมทั้งเพิ่มพูนคำศัพท์และสำนวนภาษาอังกฤษผ่านการดูสื่อที่ตนเองชื่นชอบ (เช่น การ์ตูน ภาพยนตร์ ข่าว สารคดี ละครชุด (series) เพลง วิดีโอคลิปต่าง ๆ บน YouTube) จากนั้นก็ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอ (1) คำศัพท์ภาษาอังกฤษ (2) สำนวนภาษาอังกฤษ (3) ประโยชน์ต่าง ๆ ที่ตนได้รับจากการดูสื่อนั้น ๆ และ (4) ความคิดเห็น (opinion) เหตุผล (reason) หรือความรู้สึกที่กลุ่มของตนมีต่อสื่อนั้น ๆ (reflection) ให้เพื่อนและอาจารย์ในชั้นเรียนฟังผ่านการนำเสนอทางวาจาหน้าชั้นเรียน (oral presentation) ทั้งนี้ ก่อนการนำเสนอหน้าชั้นเรียน นักศึกษาแต่ละกลุ่มต้องให้อาจารย์ตรวจสอบเนื้อหาที่จะนำเสนอก่อนเป็นจำนวน 2 ครั้งเพื่อให้แน่ใจว่า นักศึกษาเข้าใจคำศัพท์และสำนวนภาษาที่ตนเลือกมานำเสนออย่างถูกต้อง และเป็นตรวจสอบในเบื้องต้นด้วยว่า นักศึกษามีปัญหาข้อขัดข้องใด ๆ ในการทำกิจกรรมนี้หรือไม่

ในการออกแบบกิจกรรมดังกล่าว นอกจากความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษผ่านการดูการ์ตูนและการฟังข่าวภาษาอังกฤษที่ถ่ายทอดโดยอาจารย์จินตนาภรณ์ สิริพิพัฒน์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์แล้ว  อาจารย์สุพจนินท์ยังได้นำความรู้ แนวคิด ทฤษฎีต่าง ๆ ด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (English Language Teaching: ELT) มาปรับใช้ควบคู่กันไปด้วย โดยเริ่มจากการให้นักศึกษาเริ่มเรียนรู้จากข้อมูลที่ตนสามารถเข้าใจได้ (Exposure to Comprehensible Inputs) อันเป็นแนวคิดภายใต้ทฤษฏีการเรียนรู้ภาษาที่สอง (Second Language Acquisition: SLA) นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกฝึกฝนและเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านสื่อที่ตัวเองชื่นชอบก็สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการสร้างแรงจูงใจจากภายใน (Intrinsic Motivation) ในการเรียนให้เกิดกับนักศึกษา เพราะนักศึกษาได้เรียนรู้ฝึกฝนภาษาอังกฤษจากสิ่งที่ตนเองรักหรือชื่นชอบ และในกิจกรรมนี้ อาจารย์ผู้สอนเองก็ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ที่คอยให้คำแนะนำต่าง ๆ แก่นักศึกษาไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบความหมายของคำศัพท์หรือสำนวนที่นักศึกษาสนใจ หรือการให้คำแนะนำเมื่อนักศึกษามีปัญหาต่าง ๆ ซึ่งการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงนี้ก็สอดคล้องกับแนวทางการเรียนการสอนในปัจจุบันที่ผู้สอนมีหน้าที่สนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (autonomous learning) อันเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญในยุคศตวรรษที่ 21 นี้       

3.2 ผลการดำเนินงาน/การประเมินผล

กิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านสื่อที่ชื่นชอบ (Learning English through Favorite Media) นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในหลายด้าน โดยมีรายละเอียดดังนี้  

ด้านการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ (English language acquisition)โดยเฉพาะทักษะการฟังและการเพิ่มพูนคำศัพท์และสำนวนภาษาอังกฤษ  นักศึกษาทุกกลุ่มกล่าวตรงกันว่า ตนได้รู้จักคำศัพท์เพิ่มมากขึ้นจากการทำกิจกรรมนี้ โดยเฉพาะคำศัพท์ที่ไม่มีในบทเรียน แต่เป็นคำศัพท์ที่มีการนำมาใช้จริงในสื่อนั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และสังเกตการใช้ภาษาในชีวิตจริง (authentic language) ในด้านของทักษะการฟัง แม้หลายกลุ่มกล่าวว่า ต้องพยายามฟังหลายรอบเพื่อให้เข้าใจเนื้อหาในสื่อนั้น ๆ แต่ในท้ายที่สุดทุกกลุ่มก็สามารถเข้าใจเนื้อหานั้นได้จากความพยายามฝึกฟังซ้ำบ่อย ๆ รวมถึงการสอบถามอาจารย์ผู้สอนและผู้รู้ภาษาอังกฤษคนอื่น (เช่น เพื่อน รุ่นพี่ คนในครอบครัว) ด้วย  นอกจากนี้ ด้วยเงื่อนไขของกิจกรรมนี้ที่กำหนดให้นักศึกษาทุกกลุ่มต้องนำเสนอกิจกรรมหน้าชั้นเรียนเป็นภาษาอังกฤษ กิจกรรมนี้ก็ถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกพูดและนำเสนอผลงานตลอดจนความคิดเห็นของตนเองเป็นภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน

 

ด้านการส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Autonomous learner) และมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning skill) โดยในระหว่างการนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน นักศึกษาหลายกลุ่มกล่าวว่า กิจกรรมนี้ทำให้ตนเข้าใจแนวคิดที่ว่า “การเรียนรู้ด้วยตนเอง” และ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ดีขึ้น โดยหลายคนกล่าวว่า การเรียนมิได้จำกัดแค่ในห้องเรียนเท่านั้น ความรู้มีอยู่นอกห้องเรียนและพร้อมให้เราไปค้นหาไขว่คว้าได้ทุกเมื่อ และยิ่งถ้าเราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราชื่นชอบหรือสนใจ ก็จะทำให้เรามีแรงกระตุ้นและมีความสุขในการเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการสร้างแรงจูงใจจากภายใน (intrinsic motivation) ในการเรียนที่นักวิชาการด้านการศึกษาหลายคนเห็นตรงกันว่า ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ

 

ด้านความรู้สึกและทัศนคติที่มีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ (Affection and attitude toward English language learning) เนื่องจากกิจกรรมนี้อนุญาตให้นักศึกษาเลือกเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านสื่อที่ตนสนใจ ทำให้นักศึกษาหลายคนมีความรู้สึกและทัศนคติที่เปลี่ยนไปกับการเรียนภาษาอังกฤษ นักศึกษาหลายคนกล่าวในระหว่างการนำเสนอหน้าชั้นเรียนว่า จากเดิมที่คิดว่า การเรียนภาษาอังกฤษเป็นเรื่องยาก น่าเบื่อ เรียนแต่ไวยากรณ์ แต่พอได้ทำกิจกรรมนี้ทำให้ตนคิดว่า ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ยากและไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่เคยคิด แถมมีมุมที่น่าสนใจที่ตนสามารถนำมาปรับใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวันด้วย เช่น การทักทายกัน ไม่ได้มีแค่ “How are you?” “Fine, thank you, and you?” หรือการพูดในชีวิตจริงก็ไม่จำเป็นต้องเป็นประโยคถูกต้องตามไวยากรณ์ทั้งหมด ทัศนคติที่เปลี่ยนไปนี้ ทำให้นักศึกษามีความกล้าที่จะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารมากขึ้น

  

ด้านการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking skill) ในการนำเสนอกิจกรรมนี้หน้าห้องเรียน นักศึกษาต้องสะท้อนหรือแสดงความคิดเห็นหรือความคิดเห็นของตนต่อสื่อที่ตนเลือกดู ซึ่งไม่จำกัดเพียงความรู้สึกหรือความคิดเห็นที่มีต่อเนื้อหาเท่านั้น แต่จะเป็นในประเด็นใด มิติใดในสื่อดังกล่าวก็ได้ ซึ่งก็มีนักศึกษาบางกลุ่มสะท้อนว่า ที่ตนเลือกดูสื่อดังกล่าวเนื่องจากชอบการตัดต่อคลิปหรือการดำเนินเรื่องราว (storyboard) ของสื่อนั้น บางกลุ่มกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่นำเสนอในสื่อนั้นทั้งหมด และหากปรับเปลี่ยนได้ ตนก็อยากปรับเปลี่ยนเนื้อหาส่วนนั้นส่วนนี้ ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า กิจกรรมนี้มีส่วนช่วยกระตุ้นให้นักศึกษาใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์และการคิดเชิงวิพากษ์ และให้เหตุผลได้

 

ด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Team work) นักศึกษาหลายกลุ่มอธิบายในระหว่างการนำเสนอทางวาจาด้วยว่า ใครทำหน้าที่อะไรในการทำกิจกรรมนี้ บางคนรับหน้าที่คัดเลือกคำศัพท์หรือสำนวนภาษาอังกฤษสำหรับนำมานำเสนอ บางคนรับหน้าที่หาความหมาย บางคนทำหน้าที่จัดทำไฟล์ประกอบการนำเสนอ และบางกลุ่มก็สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำกิจกรรมนี้ด้วย จึงถือได้ว่ากิจกรรมนี้เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่มและทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย

 

3.3 รายงานความรู้/แนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นใหม่ (new explicit knowledge) จากการประยุกต์ใช้ความรู้เดิมในกระบวนการดำเนินงาน

ความรู้/แนวทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นใหม่จากการประยุกต์ความรู้ด้านเรื่องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษผ่านการดูการ์ตูนและการฟังข่าวภาษาอังกฤษที่ถ่ายทอดโดยอาจารย์ประจำวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์คือ ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการกำหนด ออกแบบ หรือควบคุม (take control) การเรียนรู้ของตนเอง ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation) ให้เกิดแก่ผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกในการเรียนรู้ของตนเอง และสามารถตอบโจทย์หรือสนองตอบความต้องการเรียนรู้ที่แท้จริงของตนเองได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันผู้สอนเองก็มีภาระในการออกแบบกิจกรรมน้อยลง ซึ่งต้องยอมรับว่า ในบางครั้ง กิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนหรือหลักสูตรพยายามออกแบบมาเพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นก็อาจไม่ตอบสนองความต้องการของนักศึกษาได้เต็มที่ นอกจากการลดภาระในการออกแบบกิจกรรมแล้ว ผู้สอนเองก็ยังสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากนักศึกษาเช่นกัน