KM Day 2021

การศึกษาทางไกลทางอินเตอร์เน็ต

วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม
ผู้เล่าเรื่อง: ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ เจริญพร
ผู้บันทึก: ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ เจริญพร
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง

ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง) (ระบบการศึกษาทางไกลทางอินเตอร์เน็ต)

ความเป็นมาของเรื่องที่เล่า

ท่ามกลางสถานการณ์ (วิกฤตไวรัส COVID-19) ที่เป็นวิกฤติการณ์ที่สำคัญทำให้แนวทางการเรียนการสอน ต้องปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ ระบบการเรียนที่ต้องจัดการให้เข้ากับวิถีของ New Normal การเริ่มใช้วิธีการ เรียนออนไลน์ ที่บ้าน ที่พัก (Study From Home) และเป็นระบบการเรียนรู้ที่นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การศึกษาทางไกล มีความหมายถึง ระบบการศึกษาที่ผู้เรียนและผู้สอนอยู่ไกลกันทั้งสถานที่และเวลา แต่สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้ได้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมโยงการเรียนการสอน ทั้งสื่อการสอนในลักษณะต่าง ๆ เช่น ตำราเรียน แผ่นเสียง แผนภูมิ กราฟ ฯลฯ สนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางทั่วทุกที่ ซึ่งในวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมมีการจัดการเรียนการสอนโดยระบบการศึกษาทางไกลมาอย่างต่อเนื่องนับหลายปี โดยหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง ที่จัดการเรียนการสอนทางไกลทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 และผลิตมหาบัณฑิตมาหลายรุ่น โดยนักศึกษารุ่นปัจจุบัน อยู่ในรุ่นที่ 28

แพลตฟอร์มที่ใช้ในการเรียนมี 2 รูปแบบหลัก

1.แพลตฟอร์มคอร์สออนไลน์ ทางหลักสูตรมีการปรับตัวมาใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่อย่างหลากหลาย

โปรแกรมการประชุมออนไลน์ได้เช่น โปรแกรม Zoom

Google Classroom ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ใช้ฟรี มีทั้งแบบแอพและเว็บไซต์ ซึ่งหลาย ๆ คลาส ดิฉันใช้แพลตฟอร์มนี้ ซึ่งจุดเด่นที่น่าสนใจคือ สามารถสร้างคลาสออนไลน์ แบบทดสอบ สร้างและแจกจ่ายการบ้าน ตัดเกรด สื่อสารกับผู้เรียนได้

โปรแกรม Google Meeting Hangout เป็นต้น ซึ่งเป็นโปรแกรมการประชุมวิดีโอทางไกลที่ผู้สอนสามารถ

เตรียมเอกสารประกอบการสอน เช่น PowerPoint วิดีโอ รูปภาพ เอกสารการสอนในรูปของไฟล์ Word Excel เป็นต้น โดยที่ผู้สอนและผู้เรียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเรียนการสอนได้

ข้อดีของแพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถบันทึกไฟล์ภายหลังการสอนเพื่อให้สามารถเรียนย้อนหลังได้ รวมทั้งเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ผสมผสานร่วมกัน เช่น อินเทอร์เน็ต อุปกรณ์สื่อสาร แพลตฟอร์มการเรียน เอกสารประกอบการสอนต่าง ๆ ฯลฯ เป็นการสร้างห้องเรียนเสมือนจริง

2.ระบบการศึกษาทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัย ที่มีคุณภาพรองรับการเรียน cyberuonline.rsu.ac.th/ ซึ่งกำกับดูแลจัดการการเรียนอย่างเป็นระบบของแต่ละคอร์ส และรายวิชา โดยผู้สอน และผู้เรียนสามารถเข้าสู่ระบบการเรียนในรายวิชา ในคอร์สที่ตนเองสนใจ และศึกษาย้อนหลัง และกำกับติดตามการเรียน การ assignment ของคลาสได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี การเลือกใช้แพลตฟอร์มของบริษัทต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วมักจะเป็นตัวเลือกที่สะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้หลากหลายวิชาจึงเลือกให้เหมาะกับพฤติกรรมของผู้เรียน และความคุ้นเคยของผู้เรียน และผู้สอน แต่ที่เป็นจุดแข็งที่น่าสนใจคือ วิทยาลัย ฯ มีประสบการณ์การเรียนการสอนในระบบการศึกษาทางไกลมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การต้องปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ New Normal ที่กระทบกับรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิม คณาจารย์ผู้สอนไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

การเรียนการสอนที่มีการรับมือด้วยการจัดการศึกษาทางไกลทางอินเตอร์เน็ตจึงอาจจะกล่าวได้ว่า โดยกระบวนการเรียนการสอนเช่นนี้ วิกฤตแบบไหนก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้นี้ได้อย่างทั่วถึง สะดวกรวดเร็ว โดยขจัดอุปสรรคด้านสถานที่และเวลา สามารถเรียนที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน บนรถ หรือแม้จะไปท่องเที่ยวที่อื่นๆ ก็ยังคงเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ความรู้เดิม

การเกิดขึ้นของสถานการณ์วิกฤติ ไวรัส COVID-19 ซึ่งก่อให้เกิดภาวะ New Normal ในรูปแบบความสัมพันธ์ต่าง ๆ สร้างผลกระทบอย่างมากมายให้กับระบบเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม และวิกฤติปัญหาอื่น ๆ ตามมา แต่เรื่องหนึ่งที่ได้จากวิกฤตินี้ คือ การกระตุ้นให้นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนทางไกล ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และทำให้เกิดการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การเรียนผ่านอินเตอร์เน็ต และการเรียนผ่านกระดานถาม-ตอบ ช่วยให้ผู้เรียนกล้าแสดงออกทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนได้เป็นอย่างดี

การเรียนรู้เพื่อนำเทคโนโลยี แพลตฟอร์มต่าง ๆ มีการนำมาเพื่อประกอบการเรียนรู้กันอย่างจริงจัง และปัจจุบันปัญหาของการใช้ประโยชน์เช่นนี้เริ่มลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบการเรียนรู้ในคลาสเรียน การศึกษาพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ด้านการปฏิบัติการทางสังคม ทางธุรกิจ หรือการทางการเมือง ยังคงเป็นปัญหาในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับผู้เรียน

ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และความรู้ใหม่ที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว

การจัดการเรียนการสอน แบบออนไลน์ กลายเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบหนึ่ง ซึ่งท่ามกลางสังคมยุคดิจิตัล ความสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสาร การเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์ม การเรียนรู้ทางอินเตอร์เน็ต การค้นคว้าความรู้ผ่านเว็ปไซต์เป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่สำคัญมากสำหรับผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ 21 ดังนั้นการสามารถพัฒนาการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่จะเป็นวิธีการถ่ายทอดเนื้อหา รูปภาพ วิดีโอ การใช้สื่อหลายๆประเภท (Multimedia) ร่วมกับการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่มีความหลายหลาย ทันสมัย สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตาม ความต้องการ กลายเป็นท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้สอน และการจัดการเรียนที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้เรียน