KM Day 2021

การผลิตผลงานวิจัยสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆ

วิทยาลัยแพทยศาสตร์
ผู้เล่าเรื่อง: แพทย์หญิงธันยพร ฉันทโรจน์ศิริ
ผู้บันทึก: ศ.คลินิก แพทย์หญิงยุพิน ไทยพิสุทธิกุล
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง

บทบาทหน้าที่หลักๆ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1)งานด้านบริการ ดูแลผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก  2)งานด้านการเรียนการสอน คือ เป็นอาจารย์ทั้งระดับของนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอด 3)งานด้านการวิจัย ซึ่งมีทั้งงานวิจัยที่ทำเองคนเดียว และงานวิจัยที่ทำร่วมกับแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอด

ความเป็นมาของเรื่องที่เล่า

หลายๆ คนคงมองว่างานวิจัยเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ไกลตัว ค่อนข้างสลับซับซ้อน แต่จริงๆ แล้วงานวิจัยมีหลายระดับ คือ ตั้งแต่ระดับเบื้องต้น ไม่ซับซ้อน จนถึงระดับที่มีความซับซ้อนมาก ต้องมีกระบวยการวางแผนการวิจัยที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น แต่งานวิจัยทุกระดับล้วนมีเป้าหมายเหมือนกัน คือ การผลิต การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งในการทำงานทุกๆ วันนั้นถือว่าเราเจอองค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่แล้วทุกครั้ง จนเกิดการสะสมเป็นประสบการณ์ความรู้ของแต่ละคนอยู่แล้ว ซึ่งในครั้งต่อไปที่เราทำงานดูแลคนไข้ ก็ทำให้เราดูแลคนไข้เหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันทั่วโลก อาจจะมีคุณหมอที่เจอผู้ป่วยที่มีปัญหาเดียวกันกับเรา แต่คุณหมอเหล่านี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการเรียนรู้เพื่อสะสมเป็นประสบการณ์ของตนเอง แต่หากเรามีโอกาศได้ใช้ประสบการณ์ที่เรารับมาซึ่งเป็นความรู้ใหม่ๆ แล้วเผยแพร่ให้คนอื่นได้ทราบก็อาจจะทำให้คุณหมอท่านนั้นได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของเรา ก็ทำให้เค้าดูแลรักษาคนไข้ของเค้าได้ดียิ่งขึ้น ก็เลยมองว่าการทำวิจัย การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ไม่ได้แค่ช่วยคนไข้เฉพาะหน้า แต่เป็นการเผยแพร่ความรู้ให้คุณหมอคนอื่นๆ ได้เรียนรู้ไปกับเรา แล้วได้ช่วยเหลือคนอื่นๆ อีกมากมายที่เราไม่เคยรู้จักเลยก็เป็นได้

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นมาตอนเรียนเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอด เนื่องจากมีอาจารย์ท่านหนึ่งชวนให้มาลองเก็บข้อมูลเพราะวิเคราะห์ดูว่าข้อมูลคนไข้ของเราเป็นไปตามที่หนังสือ ตำราต่างๆ กล่าวไว้หรือไม่อย่างไร ก็เลยมีโอกาสได้เริ่มวิเคราะห์ข้อมูลและเขียนเพเพอร์ ณ จุดนั้นก็เลยทำให้รู้สึกว่าพอเราได้ความรู้ใหม่ๆ ทำให้เราสามารถไปถกเถียง พูดคุย แลกเปลี่ยนกับคนอื่นได้ว่าชุดความรู้นั้นเหมือน แตกต่าง หรือเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง  นอกจากนี้มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้งานวิจัยกับอาจารย์หลายๆ ท่าน และเห็นว่างานวิจัยของท่านมีความแพร่หล่ยมาก ก็เลยรู้สึกว่าการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ มันไม่ใช่แค่การช่วยเหลือคนไข้ที่เราดูแลเฉพาะหน้า แต่มันอาจจะสามารถช่วยเหลือคนไข้อื่นๆ อีกมากมายเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณหากคุณหมอท่านอื่นๆ ได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยของเราไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งว่าสิ่งที่เราได้ศึกษาค้นคว้ามามันทำให้เกิดประโยชน์มากมายมหาศาลอย่างที่เราไม่คาดคิดมาก่อน

ความรู้เดิม

ต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่เรามีความสนใจจริงๆ เนื่องจากการเริ่มลงมือทำวิจัยสักชิ้นนั้นเราต้องทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจพอสมควร เมื่อเราพบในสิ่งที่เราชอบเราสนใจแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ ว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่เราจะสามารถสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ได้ มีเรื่องราวหรือคำถามไหนที่ยังไม่มีคำตอบบ้าง ต่อมาก็จำเป็นต้องมีการวางแผนการวิจัย ซึ่งการศึกษาสามารถมีได้หลายระดับ ทั้งการศึกษาวิจัยย้อนหลังหรือการศึกษาไปข้างหน้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของคนไข้และมาตรฐานของการวิจัยเป็นหลัก

อุปสรรคการทำงานวิจัยมีเยอะ มีอยู่ในทุกขั้นตอน/กระบวนการของการวิจัย โดยเริ่มตั้งแต่การตั้งคำถามการวิจัย ว่าจะตั้งคำถามการวิจัยอย่างไรให้ดี การออกแบบกระบวนการว่าจะทำอย่างไรให้ดี ให้ปลอดภัยกับทุกคน ไม่มีการใช้งบประมาณที่มากเกินไป ทำให้สำรวจในระยะเวลาที่เหมาะสม จนกระทั้งขั้นตอนการตีพิมพ์บทความก็เป็นขั้นตอนที่เกิดปัญหาอุปสรรคขึ้นมากมายจนทำให้หลายคนเกิดความท้อแท้

ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และความรู้ใหม่ที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว

รู้สึกชอบและภูมิใจมากๆ ต่อการผลิตผลงานวิจัยในแต่ละชิ้น แต่ละเรื่อง คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจ คือ หากเรามีึคำถามเกิดขึ้นจากการทำงาน อย่าเก็บไว้ในใจ ให้ลองหาข้อมูลดู ถ้ายังไม่มีคำตอบเหล่านั้นอยู่ คำตอบของเราอาจจะเป็นคำตอบแรกของโลก