KM Day 2021

ผลิตผลงานวิจัยสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆ

วิทยาลัยแพทยศาสตร์
ผู้เล่าเรื่อง: รศ.พิเศษ นพ.สมบูรณ์ ทรัยพ์วงศ์เจริญ
ผู้บันทึก: ศ.คลินิก แพทย์หญิงยุพิน ไทยพิสุทธิกุล
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง

บทบาทหน้าที่หลักๆ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1)งานด้านบริการ ดูแลผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก  2)งานด้านการเรียนการสอน คือ เป็นอาจารย์ทั้งระดับของนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอด  3)งานด้านการวิจัย ซึ่งมีทั้งงานวิจัยที่ทำเองคนเดียว และงานวิจัยที่ทำร่วมกับแพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอด

ความเป็นมาของเรื่องที่เล่า

ในปัจจุบันนี้การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมมีความสำคัญต่อทุกวงการการศึกษา ไม่ว่าคณะใดๆ ในมหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรม คณะอักษรศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์เอง ทำให้งานด้านการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งต่อการพัฒนางานวิชาการทางด้านการแพทย์ โดยส่วนตัวได้มีการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อมาช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วย ตลอดจนพัฒนาการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะทางศัลยกรรมตับ และทางเดินน้ำดี

ความรู้เดิม

ในภาพรวมอยากกระตุ้นให้อาจารย์แพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ทุกหน่วยงานมีความคิดสร้างสรรค์ มีการพัฒนาต่อยอดเพื่อการแก้ปัญหา โดยจะเห็นว่าสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้ที่เราพัฒนาขึ้นมานั้น จุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทั้งปัญหาที่เกิดกับการรักษาผู้ป่วย หรือปัญหาที่เกิดในการเรียนการสอนในนักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ประจำ ทำให้เราเกิดคำถามท้ายที่สุด คือ เกิดการคิดและพัฒนาเป็นงานวิจัย งานนวัตกรรมขึ้นมา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสาธารณสุขของประเทศต่อไป

ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และความรู้ใหม่ที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว

ตัวอย่างของนวัตกรรมที่เราพัฒนาตั้งแต่ต้น ได้แก่

ชั้นแรก คือ เครื่องมือที่ช่วยในการผ่าตัดผู้ป่วยไส้เลื่อนที่ขาหนีบ โดยการใช้กาว ปัจจุบันเครื่องมือชนิดนี้ก็ยังคงมีการใช้งานในโรงพยาบาล และมีการใช้มาตลอดเพื่อทดแทนของนำเข้า โดยของนำเข้านั้นเป็นเหล็กไทเทเนียม ซึ่งจะถูกฝังไว้ในตัวผู้ป่วย แต่เครื่องมือตัวนี้เป็นตัวนำส่งกาวที่ใช้ในการยึดติดตาข่ายคนไข้ไส้เลื่อน โดยที่จะไม่เหลือวัสดุแปลกปลอมเหลือค้างในตัวผู้ป่วย ชิ้นงานนี้ได้มีการจดสิทธิบัตรเรียบร้อย ปัจจุบันโรงพยาบาลในประเทศไทยประมาณ 20 แห่ง มีการนำเครื่องมือนี้ไปใช้

ชิ้นที่สอง คือ เครื่องฝึกหัดเจาะเลือด ซึ่งเป็นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยในการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ โดยเป็นเครื่องมือที่ฝึกความชำนาญในการเจาะเลือดของนักศึกษาแพทย์ก่อนไปเจาะเลือดในผู้ป่วยจริง สมัยก่อนจะมีการฝึกหัดเจาะเลือดจากผู้ป่วยจริง แต่ปัจจุบันจะทำในโมเดลก่อนที่จะทำกับผู้ป่วย ประโยชน์ของเครื่องมือนี้ คือ มีระบบไหลเวียนโลหิตใช้ต่อกับปั้มซึ่งใช้แบตเตอรี่สำรอง ไม่ต้องต่อสายตรงกับไฟฟ้า นวัตกรรมชิ้นนี้อยู่ในกระบวนการขอจดสิทธิบัตร ปัจจุบันมีการมอบให้มหาวิทยาลัยรังสิต คณะพยาบาล รวมทั้งหอผู้ป่วยต่างๆ ซึ่งเป็นนักศึกษาพยาบาล รวมทั้งพยายามที่จบใหม่ เพื่อฝึกหัดเจาะเลือดให้เกิดความชำนาญก่อนการปฏิบัติงานจริง

ชิ้นที่สาม คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับ Mobile Application ที่ใช้ในการคำนวณสารอาหาร รวมทั้งการเลือกใช้สารอาหารที่มีในท้องตลอดที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งโปรแกรมนี้ จะมีประโยชน์ต่อนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน อาจารย์ พยาบาล นักกำหนดอาหาร เป็นโปรแกรมที่จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว เป็นโปรแกรมที่สามารถโหลดใช้ฟรีบนโทรศัพท์มือถือ สามารถใช้ได้ทั่วประเทศ ใช้เพื่อเลือกใช้สารอาหารโดยไม่ต้องอาศัยความจำ ถือว่าเป็นโปรแกรมการคำนวณสารอาหารแบบอัตโนมัติที่มีประโยชน์มากต่อการดูแลผู้ป่วยเพื่อให้เป็นไปตามหลักโภชนาการ

ชิ้นที่สี่ คือ โมเดลการผ่าตัดถุงน้ำดี (อยู่ระหว่างการขอจดสิทธิบัตร) เนื่องจากในปัจจุบันผ่าตัดถุงน้ำดีเป็นการผ่าตัด โดยวิธีการส่องกล้อง และมีภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้น หากผู้ผ่าตัดไม่ชำนาญหรือได้รับการฝึกฝนมาอย่างไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงมีแนวคิดพัฒนาโมเดลนี้เพื่อให้แพทย์ประจำบ้านศัลยกรรม หรือแพทย์ต่อยอดทางด้านผ่าตัดถุงน้ำดีได้ฝึกฝนก่อนผ่าตัดกับผู้ป่วยจริง เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดกับผู้ป่วย โดยจะใช้โมเดลนี้ผูกติดกับถุงน้ำดีหมู (ถุงน้ำดีจริง) แพทย์ประจำบ้านต้องมีการฝึกผ่านโมเดลนี้อย่างน้อย 5 ครั้งและผ่านการอนุมัติจากอาจารย์ว่าสมารถทำได้คล่องแคล่ว ชำนาญ และปลอดภัย ก่อนได้รับอนุญาตให้ไปปฏิบัติกับผู้ป่วยจริงที่ต้องอยู่ในการดูแลของอาจารย์แพทย์ โมเดลนี้ถือว่าเป็นโมเดลกึ่งเสมือนการผ่าตัดจริงประมาณ 90% ซึ่งแตกต่างจากการเรียนการสอนที่เป็นการผ่าตัดแบบแห้งๆ ที่ให้คีบลูกปัด ถั่ว หรือเนื้อเยื่อ ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อการเรียนของแพทย์ประจำบ้านอย่างมาก