KM Day 2021

The Best Thesis 2020 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
ผู้เล่าเรื่อง: วิทูล ทิพยเนตร
ผู้บันทึก: วิทูล ทิพยเนตร
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง

รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร รับผิดชอบเรื่องการสื่อสารองค์กรระดับคณะ การกลไกส่งเสริมประสบการณ์ชีวิตให้นักศึกษาและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนร่วมกับคณะ

ความเป็นมาของเรื่องที่เล่า

เนื่องด้วยหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต มีการออกแบบกระบวนการจัดการเรียนการสอนไว้ในรูปแบบสตูดิโอ โดยมีทั้งหมด 7 สตูดิโอ ซึ่งแบ่งตามแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์ในหลายประเด็น เช่น มุ่งเน้นการสร้างมืออาชีพด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม การผู้ประกอบการด้านสถาปัตยกรรม สตูดิโอที่ว่าด้วยแนวทางสร้างแนวคิดที่เป็นนวัตกรรม และอื่นๆ โดยหนึ่งในนั้นคือ สตูดิโอที่มุ่งเน้นแนวคิดด้านการสร้างสรรค์สังคม ศิลปวัฒนธรรมและการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกเข้าเรียนกับแต่ละสตูดิโอ หมุนเวียนกันได้ในแต่ละเทอม ซึ่งในแต่ละเทอมจะมีการจัดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ข้ามกลุ่มข้ามสตูดิโอและมีการเลือกผลงานการออกแบบยอดเยี่ยมในแต่ละสายเพื่อเป็นต้นแบบ สร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาในรุ่นถัดๆ ไป ในปีการศึกษานี้ทางคณะเห็นแนวโน้มความสนใจในการคิดหัวข้อการเรียนรู้ของนักศึกษาโดยส่วนใหญ่ เน้นไปทางประเด็นแก้ปัญหาทางสังคม การคำนึงถึงการรักษาและต่อยอดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  จึงได้เลือกผลงานวิทยานิพนธ์ที่เป็นต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจในหลายมิติ เช่นการใช้พื้นที่บ้านเกิดเป็นประเด็นในการศึกษาวิจัย การมองในมุมของคนออกแบบร่วมกับประสบการณ์จริงที่ได้สัมผัส แนวคิดในการออกแบบที่นำประเด็นปัญหามานำเสนอใหม่ได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนและเผยแพร่เป็นตัวอย่างสร้างแรงบันดาลใจในคณะและเผยแพร่ให้บุคคลภายนอกต่อไป

ความรู้เดิม

1. การปูพื้นฐานแนวความคิดที่หลากหลาย ทำความเข้าใจในมิติต่างๆ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิตของผู้คน วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมและกระบวนการสร้างนวัตกรรม ผ่านการเรียนแบบหมุนเวียนในแต่ละสตูดิโอ ให้เห็นแนวทางการออกแบบที่สนใจ และเลือกแนวทางที่อยากศึกษาในเชิงลึกต่อไป

2. เติมกระบวนการตั้งประเด็น การศึกษาประเด็นเชิงลึก ระเบียบวิธีวิจัย และเครื่องมือช่วยคิดในรูปแบบต่างๆ ผ่านทั้งการเรียนการสอนในชั้นเรียนและการศึกษาด้วยตนเอง

3. การออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จริงผ่านโครงการสหกิจศึกษา

4. พัฒนาแนวคิดในการออกแบบตามประเด็นที่สนใจ นำเสนอกับกรรมการเป็นระยะตามแผนงาน

5. สื่อสารแนวความคิดผ่านกรรมการและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อปรับปรุงและพัฒนาความเป็นไปได้ในอนาคต

ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และความรู้ใหม่ที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมี 2 ส่วนหลักๆ คือ

1.             ความสำเร็จทางกายภาพ คือได้ผลงานการออกแบบแนวคิดสถาปัตยกรรมที่เป็นแผนพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้คนในสังคม

2.             ความภาคภูมิใจของคนในพื้นที่ คือ ผลงานที่ศึกษาเป็นบ้านเกิดของผู้ออกแบบ จึงเข้าใจประเด็นอย่างลึกซึ้ง แนวความคิดที่ได้อาจจะไม่ได้สร้างจริง แต่สร้างความภูมิใจว่า คนรุ่นใหม่ไม่ทิ้งชุมชน