KM Day 2021

ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ 4+1 กระบวนการที่เป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคมของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
ผู้เล่าเรื่อง: วิทูล ทิพยเนตร
ผู้บันทึก: วิทูล ทิพยเนตร
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง

รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร รับผิดชอบเรื่องการสื่อสารองค์กรระดับคณะ การกลไกส่งเสริมประสบการณ์ชีวิตให้นักศึกษาและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนร่วมกับคณะ

ความเป็นมาของเรื่องที่เล่า

เนื่องด้วยหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต มีโครงใหญ่ของคณะที่ทำมาอย่างต่อเนื่องสิบกว่าปี เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน พัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันของนักศึกษาทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง เป็นการเรียนร่วมกันของพี่ปี4 กับน้องปี 1 เพื่อเตรียมรุ่นพี่ให้มีภาวะผู้นำ จำลองเป็นออฟิตสถาปนิกมีพี่เป็นผู้บริหารส่วนน้องเป็นพนักงานใหม่ที่ต้องสอนงานให้เข้าใจแนวทางการทำงานของออฟิตตัวเอง ร่วมกันกำหนดแนวทางการทำงาน วางแผนลงพื้นที่สำรวจชุมชนทั้งที่เป็นบ้านเกิดของคนในกลุ่ม หรือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในด้านต่างๆ เก็บข้อมูลศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ มาเป็นโจทย์ในการทำงาน เหมือนกับเป็นบริษัทสถาปนิกจริงๆ จากการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนดังกล่าว ทำให้รุ่นพี่ที่จบไปหลายกลุ่มรวมตัวเปิดออฟิตสถาปนิกต่อยอดจากกลุ่ม 4+1 มากขึ้น และมีการรับรุ่นน้องฝึกงานจากรุ่นสู่รุ่นไปสานต่อแนวคิด รุ่นน้องจบการศึกษาก็เปิดออฟิตใหม่แยกตัวเติบโตในแบบของตนเองต่อไป จึงอยากนำเสนอแนวคิดนี้ในมุมสะท้อนผลสัมฤทธิ์ของกระบวนการที่เป็นนวัตกรรมของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่สร้างสมดุลในการทำงานและการใช้ชีวิต เป็นต้นแบบและต่อยอดต่อไป

ความรู้เดิม

โครงการมีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่หลายกลุ่มคือ นักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 1 นักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 4 สถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

กระบวนการดำเนินโครงการแบ่งเป็น 4 ช่วงใหญ่ๆ ดังนี้

ระหว่างเรียน ดำเนินโครงการโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4+ปี1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และชุมชนที่ถูกคัดเลือกประมาณ 20 ชุมชน จากทั่วประเทศ ในแต่ละปี เพื่อศึกษาและนำเสนอแนวทางการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นโจทย์เพื่อใช้ในการเรียนการสอนแบบบูรณาการหลายวิชาในคณะ

การเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาเพื่อเตรียมพัฒนาจากกลุ่มทำงานไปสู่การเปิดบริษัทสถาปนิกของตนเอง ผ่านการสอนในคณะและการทำสหกิจศึกษา

แนวทางพัฒนาความต่อเนื่องระหว่างรุ่นพี่ศิษย์เก่ากับกระบวนการศึกษา การเชิญศิษย์เก่าผู้สร้างแรงบันดาลใจให้แนวคิดกับรุ่นน้อง การรับรุ่นน้องเข้าฝึกงานแบบสหกิจศึกษา

การพัฒนากระบวนการและการขยายผลสำหรับรุ่นถัดไป

ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และความรู้ใหม่ที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว

การดำเนินโครงการต่อเนื่องได้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนของกระบวนการ จึงได้พัฒนากระบวนการการดำเนินโครงการมาตลอด ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นแต่ละปีแตกต่างกันตามพฤติกรรมของนักศึกษาและสังคมของการทำงานในสายวิชาชีพ จนเริ่มมีกลุ่มศิษย์เก่าที่เกิดจากกลุ่มทำงานในตอนเนียนรวมตัวกันเป็นออฟิตสถาปนิกอย่างเป็นรูปธรรมจำนวนหนึ่ง เกิดเป็นสังคมต้นแบบ ที่กลับมามีส่วนร่วมในการพัฒนารุ่นน้องในรุ่นถัดไป ต่อยอดกระบวนการของโครงการที่วางไว้คือ พี่ปี4 สอนน้องปี 1 ส่วนรุ่นพี่ศิษย์เก่ากลับมาสอนพี่ปี 4 อีกรอบ และรับน้องปี 5 เข้าฝึกงาน ซึ่งเกิดเป็นเครือข่ายสังคมใหม่ในกลุ่มวิชาชีพ เพิ่มความเข้มแข็งให้ในระดับภาพสถาบันต่อไป