KM Day 2021

การบริหารจัดการองค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำนักหอสมุด
ผู้เล่าเรื่อง: ดร.มลิวัลย์ ประดิษฐ์ธีระ
ผู้บันทึก: นฤมล พฤกษศิลป์
บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง

เป็นประธานคณะอำนวยการห้องสมุดสีเขียวและสำนักงานสีเขียว  มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการดำเนินงานของห้องสมุดและสำนักงานสีเขียว  โดยเน้นเรื่องการบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน  พร้อมทั้งมีการติดตาม ประเมิน  และกำกับดูแลให้มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผน  ให้มีการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการความรู้และการสื่อสารอย่างต่อเนื่องภายในองค์กร  เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลเป็นที่ประจักษ์ทั้ง   ภายในและภายนอก

ความเป็นมาของเรื่องที่เล่า

ด้วยสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นหน่วยงานที่มีพื้นฐานการนำกิจกรรม 5ส และกิจกรรม 7ส มาปรับปรุง  สภาพแวดล้อมเพื่อสุขอนามัยของผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2558  สำนักหอสมุดได้ร่วมลงนามความร่วมมือ "เครือข่ายห้องสมุดสีเขียว" กับห้องสมุดสถาบันการศึกษา ห้องสมุดขององค์กรภาครัฐและเอกชน ห้องสมุดโรงเรียน และผ่านการประเมินตามเกณฑ์ห้องสมุดสีเขียวของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 หลังจากนั้น สำนักหอสมุดได้เริ่มศึกษาแนวทางการพัฒนาสู่การเป็นสำนักงานสีเขียวโดยได้นำเกณฑ์มาตรฐาน 6   หมวดของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อการเปลี่ยนพฤติกรรมในสำนักงาน เพื่อลดการใช้พลังงาน และริเริ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ลดปริมาณขยะโดยการลดการ ใช้ การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ การลดและเลิกใช้สารเคมีอันตราย การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน   

ความรู้เดิม

        สำนักหอสมุดได้มีการนำสิ่งที่ได้รับความรู้จากกระบวนการกิจกรรม  5   ส    คือ สะสาง  สะดวก  สะอาด  สุขลักษณะ  สร้างนิสัย   ไปสู่กิจกรรม 7 ส  โดยเพิ่มเรื่อง  สวยงาม   และสิ่งแวดล้อม   นับเป็นความรู้ที่บุคลากรของสำนักหอสมุดมีพื้นฐาน  และมีการปฏิบัติมาตั้งแต่ปี  2548     จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของการปฏิบัติงาน  ดังนั้นการนำกระบวนการทำงานมาปรับใช้กับเรื่องของห้องสมุดสีเขียว และสำนักงานสีเขียวจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากเกินไป  ทำให้สำนักหอสมุดเข้สู่กระบวนการดำเนินงานดังกล่าวได้อย่างมีหลักการ  และมีการปฏิบัติงานที่ดี  และสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน   เพราะทุกคนได้มีส่วนร่วมในหน้าที่ได้รับมอบหมายมองไปในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน  มีการทำงานเป็นทีม  จึงสามารถเกิดความมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อองค์กร                

         อุปสรรคและปัญหาในการทำงาน  ในบางครั้งอาจขาดข้อมูล  หรือความรู้ในการจัดการ  แต่ก็มีการแก้ปัญหาโดยการหาเครือข่าย  หรือขอความร่วมมือไปยังบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล  หรือความช่วยเหลือต่าง ๆ      

ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และความรู้ใหม่ที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว

ผลจากการที่สำนักหอสมุด ได้ดำเนินงานทางด้านการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง   จึงได้ผ่านเกณฑ์การเป็นห้องสมุดสีเขียว จากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ฯ เมื่อ พ.ศ. 2560   ได้รางวัลสำนักงานสีเขียว ระดับประเทศ ระดับทอง (ดีเยี่ยม)   จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อ พ.ศ. 2562    และที่เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจก็คือ  การได้รับรางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ  (รางวัลชนะเลิศห้องสมุดสีเขียว IFLA Green Library Award )    จากสหพันธ์ระหว่างประเทศว่าด้วยสมาคมและสถาบันห้องสมุด เมื่อ พ.ศ. 2563