ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต
เทคนิคการสอนบนฐานของกิจกรรม การแข่งขัน และความคิดเชิงสร้างสรรค์ (Activity-Competition-Innovative thinking Learning)
1. ชื่อเรื่อง เทคนิคการสอนบนฐานของกิจกรรม การแข่งขัน และความคิดเชิงสร้างสรรค์ (Activity-Competition-Innovative thinking Learning) โดย ผศ.ดร.โกวิท รพีพิศาล วิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2. วิธีการดำเนินงาน/กิจกรรม ในรายวิชา ITE201 พันธกิจสัมพันธ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่อชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมมุมมองของนักศึกษาในด้านพันธกิจสัมพันธ์ต่อชุมชน และต้องการให้นักศึกษาเป็นผู้มีทักษะความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มุ่งมั่นที่จะรับผิดชอบต่อชุมชน ดังนั้นผู้สอนจึงได้มีการวางแผนการสอนโดยได้กำหนดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฝึกทักษะการเป็นผู้นำ และการปรับเปลี่ยนมุมมองของนักศึกษาในด้านบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ต่อชุมชน โดยผู้สอนได้วางแผนจะใช้เวลา 1 คาบเรียน โดยได้นำเทคนิคการสอน Live from other perspective เพื่อเป็นการกระตุ้นกระบวนความคิดและทักษะในด้านการเป็นผู้นำและทักษะการมองปัญหาจากมุมมองผู้อื่นโดยกำหนดบทบาทสมมติให้กับนักศึกษาในฐานะผู้นำและบทบาทของการเป็นผู้อื่นเพื่อมองปัญหาจากมุมมองของผู้อื่นตามบทบาทสมมติ กิจกรรมนี้ผู้สอนได้กำหนดให้นักศึกษาทำกิจกรรมเป็นคู่ โดยในกิจกรรมจะให้นักศึกษาทั้งคู่ช่วยกันทายสิ่งของที่ผู้สอนได้วางไว้ในจุดต่างๆ โดยให้นักศึกษาคนที่หนึ่งต้องเป็นใบ้ แต่สามารถมองเห็นสิ่งของต่างๆแต่ห้ามพูดสื่อสารกับนักศึกษาคนที่สอง สำหรับนักศึกษาคนที่สองจะถูกปิดตาด้วยผ้า โดยสมมติให้เป็นคนตาบอด โดยสามารถพูดและสอบถามคู่ของตนเองได้ แต่ไม่สามารถมองเห็นสิ่งของที่คู่ของตนพาไปค้นหาได้ นักศึกษาที่สมมติว่าเป็นคนใบ้จะเป็นคนนำทางนักศึกษาที่สมมติว่าตาบอดไปจับสิ่งของที่วางไว้ แล้วให้นักศึกษาที่สมมติว่าตาบอดได้ทายว่าสิ่งของนั้นคืออะไร นักศึกษาทั้งห้องจะทำการจับคู่และแต่ละคู่จะแข่งขันพาคู่ของตนเองไปหาและทายสิ่งของที่สัมผัสให้ได้มากที่สุด หลังจากนั้นผู้สอนให้นักศึกษาที่ทำบทบาทต่างๆออกมาแสดงความคิดเห็นหน้าชั้นเรียนว่าตนเองรู้สึกอย่างไร เมื่อตนได้สวมบทบาทที่ไม่ใช่ตนเอง และได้เรียนรู้อะไรบ้างจากกิจกรรมดังกล่าว 3. ผลการดำเนินงาน / การประเมินผล จากการทดลองให้นักศึกษาทำกิจกรรมดังกล่าวพบว่านักศึกษามีความสุขกับการเรียน และให้ความสนใจต่อกิจกรรมที่ได้ทำ ผู้สอนได้ทำการประเมินนักศึกษาจากวิธีการสอนนี้ในหลายวิธีเช่น การสังเกตพฤติกรรมของนักศึกษา การให้นักศึกษาประเมินซึ่งกันและกัน ให้นักศึกษาประเมินผู้สอน การสัมภาษณ์นักศึกษาเป็นรายบุคคลและการตอบแบบสำรวจ จากการประเมินผลพบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่มีความสุขกับการเรียนและพอใจต่อวิธีการสอนนี้ และจากการสังเกตพฤติกรรมในชั้นเรียนขณะทำกิจกรรม พบว่า นักศึกษามีความตื่นเต้น หัวเราะและสนุกสานในขณะทำกิจกรรม เมื่อถึงช่วงการแสดงความคิดเห็นหน้าชั้นเรียนของนักศึกษาหลังทำกิจกรรม นักศึกษาได้สะท้อนให้เห็นว่าตนเองได้เข้าใจถึงมุมมองและรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นมากขึ้น และเป็นกิจกรรมที่สนุก และผู้สอนได้กล่าวสรุปในตอนท้ายเพื่อชี้เห็นถึงบทบาทของผู้นำ เบื้องหลังของกิจกรรมนี้ต้องการสอนให้นักศึกษาสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีความเข้าใจกับเพื่อนที่ทำงานร่วมกันโดยเข้าใจว่าอีกฝ่ายยังขาดทักษะบางอย่าง ตนเองสามารถเสริมทักษะนั้นได้ ส่งผลให้การร่วมมือทำกิจกรรมสัมพันธ์สู่ชุมชนประสบความสำเร็จ 4. ปัญหาและอุปสรรค เนื่องจากกลุ่มที่เรียนมีนักศึกษาทั้งสิ้น 41 คน ทำให้มีการจับคู่ 20 คู่ และมีสิ่งของที่ใช้ในการทำกิจกรรม 10 ชิ้น ซึ่งแต่ละคู่จะใช้เวลา 5-10 นาที หรือบางคู่อาจใช้เวลาในการทำกิจกรรมนานกว่าคู่อื่นๆ ทำให้คู่อื่นๆที่ตามมาต้องรอคู่ที่อยู่ข้างหน้า จึงทำให้ใช้เวลาในการทำกิจกรรมค่อนข้างนาน และเมื่อทำการสลับบทบาทสมมติทำให้นักศึกษาที่ได้รับบทบาทคนใบ้ในครั้งแรกสามารถเดาสิ่งของได้ว่าเป็นอะไรทำให้ความตื่นเต้นน้อยลง 5. แนวทางการปรับปรุง / ข้อเสนอแนะ เพื่อแก้ปัญหาด้านเวลาของการเดินไปค้นหาและทายสิ่งของแต่ละชิ้นควรมีการกำหนดเวลาที่ใช้ต่อสิ่งของหนึ่งชิ้น คือให้นักศึกษาทั้ง 10 คู่ นั่งเรียงเป็นวงกลม และแจกสิ่งของคู่ละหนึ่งชิ้นให้ใช้เวลาต่อสิ่งของหนึ่งชิ้นแค่ 2 นาที และผู้สอนจะเป็นคนให้สัญญาณเพื่อให้ส่งสิ่งของไปยังคู่ถัดไป และควรเตรียมสิ่งของไว้ 2 ชุดที่แตกต่างกันเพื่อไม่ให้นักศึกษาสามารถเดาสิ่งของได้เมื่อมีการสลับบทบาทในรอบที่สอง และควรมีการกำหนดของรางวัลเพื่อให้นักศึกษามีการแข่งขันเพื่อเพิ่มความสนุกและแรงจูงใจในการเล่นกิจกรรมให้มากขึ้น ในการทำกิจกรรมครั้งต่อไปจะมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยให้ตอบคำถามว่าได้ผลลัพธ์อะไรจากกิจกรรมดังกล่าวเพื่อให้ผลที่ได้สะท้อนกลับ ส่งผลให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง
เข้าสู่ระบบด้วย username และ password เดียวกับระบบ Intranet