KM Rangsit University

ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต

กระดานสนทนา

กายภาพบำบัดกับการสอนนักศึกษาข้างเตียง (bedside teaching in physical therapy management)

ในการฝึกปฏิบัติการทางคลินิกสำหรับนักศึกษากายภาพบำบัดที่ผ่านมา พบว่านักศึกษายังมีกระบวนการตัดสินใจทางคลินิกที่ไม่ชัดเจน นำไปสู่การวางแผนการรักษาให้กับผู้ป่วยแบบเดิมๆและไม่สอดคล้องกับปัญหาจริงของผู้ป่วย ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเกิดจาก 1. นักศึกษาไม่มีประสบการณ์ของการคิดวิเคราะห์ทางคลินิกในผู้ป่วยจริงที่มากพอ เนื่องจากรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมเน้นการสอนเนื้อหาในชั้นเรียนและฝึกคิดวิเคราะห์ทางคลินิกในผู้ป่วยจริงมีน้อยเกินไป ทำให้นักศึกษาขาดการเชื่อมโยงองค์ความรู้หรือทักษะทางปัญญากับการปฏิบัติ 2. การจัดกระบวนการเรียนการสอนอาจจะไม่เอื้อให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างถูกต้อง 3. เมื่อนักศึกษาออกฝึกปฏิบัติงานทางคลินิก อาจารย์ผู้คุมฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกเป็นนักกายภาพบำบัดซึ่งทำงานประจำในโรงพยาบาล ด้วยภาระงานด้านการบริการผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก อาจทำให้ไม่สามารถจัดสรรเวลาเพื่อทุ่มเทการสอนนักศึกษาได้อย่างเต็มที่ 4. การฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกในโรงพยาบาลกับผู้ป่วยจริง มีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดความติดขัดเพราะไม่คุ้นเคยกับสถานที่ นักศึกษาต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวอย่างมากเพื่อให้สามารถเผชิญกับเหตุการณ์และผู้คนที่ไม่คุ้นเคย 5. อาจารย์ผู้ควบคุมฝึกปฏิบัติงานไม่รู้จักอุปนิสัย และลักษณะการเรียนรู้ของนักศึกษามาก่อน ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ไม่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ทางคลินิกให้กับนักศึกษากายภาพบำบัดได้มากพอ ดังนั้นทางคณะฯจึงมีแนวคิดในการส่งอาจารย์จากคณะฯไปคุมฝึกงานด้วยตนเองเพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้หรือทักษะทางปัญญากับการปฏิบัติทางคลินิกสร้างกระบวนคิดในการจัดการทางคลินิก (clinical thinking concept) และเพื่อเป็นพื้นฐานของการฝึกงานในคลินิกต่อๆไป พร้อมกับยังช่วยแก้ไขปัญหาที่อาจารย์ผู้ควบคุมฝึกปฏิบัติงานมีเวลาในการสอนที่ไม่เพียงพอและยังช่วยแก้ไขปัญหาที่อาจารย์ผู้ควบคุมฝึกปฏิบัติงานไม่รู้จักอุปนิสัยของนักศึกษาได้อีกด้วย จากผลการดำเนินงานพบว่านักศึกษามีความเชื่อมโยงองค์ความรู้หรือทักษะทางปัญญากับการปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้น สามารถนำเทคนิคการรักษาที่เรียนในมหาวิทยาลัยนำไปปรับใช้ในผู้ป่วยจริงได้ มีแนวคิด การคิดวิเคราะห์ผู้ป่วยได้ถูกต้องกับผู้ป่วยแต่ละกลุ่มแต่ละประเภท นอกจากนี้ยังพบว่านักศึกษามีทักษะในการปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ พร้อมสำหรับการฝึกปฏิบัติในคลินิกต่อไปและมีความมั่นใจในการเข้าหาผู้ป่วย กล้าแสดงความคิดเห็น หรือซักถามในประเด็นที่สงสัยมากขึ้น ซึ่งผลที่ได้อาจเนื่องมาจากการที่นักศึกษาได้เห็นตัวอย่าง และภาพรวมของการจัดการทางกายภาพบำบัดที่ถูกต้อง จากอาจารย์ของคณะฯ ที่ออกไปควบคุมการฝึกงาน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอาจารย์ของคณะและอาจารย์ที่คุมฝึกปฏิบัติการทางคลินิก อีกทั้งอาจารย์มีช่วงเวลาที่ได้ให้ข้อมูลสะท้อนกลับแก่นักศึกษา ว่านักศึกษาควรพัฒนาหรือปรับปรุงจุดใดบ้างในแต่ละวัน ทำให้นักศึกษามีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอซึ่งคณะฯ คาดหวังว่าความรู้และทักษะนี้จะยังคงอยู่และติดตัวนักศึกษาสำหรับการนำไปฝึกในคลินิกถัดไป

อภิญญ์การย์ เจริญลาภ (คณะกายภาพบำบัด) เมื่อ 2019-04-19 18:57:04

วิธีการนี้ช่วยให้นักศึกษามีความมั่นใจในการคิดและการปฏิบัติต่อผู้ป่วย เนื่องจากได้ปฏิบัติจริงกับผู้ป่วย ได้เข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น

อัญมณี ยิ่งยงยุทธ (คณะกายภาพบำบัด) เมื่อ 2019-04-19 19:08:17


เข้าสู่ระบบ

เข้าสู่ระบบด้วย username และ password เดียวกับระบบ Intranet