หลักการและเหตุผล
บทความวิชาการ เป็นงานเขียนที่มุ่งเสนอความรู้ ข้อเท็จจริง มุมมอง ทรรศนะ ข้อวิจารณ์ ข้อเสนอแนะ ตลอดจนการตั้งคำถามที่ก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ ที่เป็นผลจากการศึกษาค้นคว้าหรือการวิจัยของนักวิชาการ โดยเขียนเรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องราวให้มีมาตรฐานและคุณภาพตามแบบฉบับสากลนิยม แล้วจัดทำเป็นงานนิพนธ์ต้นฉบับเพื่อส่งไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการหรือนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ
บทความวิชาการมีความสำคัญทั้งต่อตัวผู้เขียน วงการวิชาการ วงการวิชาชีพ และสังคม ในด้านความสำคัญต่อผู้เขียน บทความวิชาการเป็นภาพสะท้อนถึงความตื่นตัวทางวิชาการของผู้เขียนในการติดตามความรู้ที่ยกระดับพัฒนาก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่มีการปรับตัวให้เท่าทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของวิทยาการใหม่ๆ ตลอดจนมีความสามารถในการจัดระบบความคิดเพื่อเรียบเรียง ถ่ายทอด และนำเสนอสาระเหล่านั้นออกมาสู่ภายนอกในรูปแบบของงานเขียน ในด้านความสำคัญต่อวงการวิชาการและวงการวิชาชีพ บทความวิชาการเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการกระจายความรู้และการพัฒนาองค์ความรู้ไปยังบุคคลอื่นที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน ในด้านความสำคัญต่อสังคม บทความวิชาการเสนอสาระความรู้และแนวความคิดอันเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในด้านต่างๆ ดังนั้น นักวิชาการไม่ว่าจะอยู่ในวงการวิชาการหรือวงการวิชาชีพใดจึงจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเขียนบทความทางวิชาการ
บทความวิชาการที่ดีมีคุณภาพ นอกจากจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ใช้อ้างอิงได้และเป็นแหล่งความรู้ที่มีคุณค่า ยังถือว่าเป็นเครื่องชี้วัดศักยภาพและความสำเร็จด้านวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาอีกด้วย ดังนั้น เหล่าคณาจารย์ นักวิชาการ ในสถาบันอุดมศึกษา จึงมีหน้าที่ผลิตผลงานวิชาการให้ปรากฏเป็นรูปธรรมและเผยแพร่ออกสู่สังคมภายในประเทศและสังคมโลก
ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน ตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความรู้แก่คณาจารย์เกี่ยวกับการเขียนบทความวิชาการ จึงได้จัดโครงการฝึกอบรม เรื่อง “การเขียนบทความวิชาการเพื่อเผยแพร่ในวารสารและที่ประชุมระดับชาติและระดับนานาชาติ” ขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพของคณาจารย์ให้สามารถเขียนบทความวิชาการเพื่อลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารและนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติได้
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้อาจารย์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักการและวิธีการในการเขียนบทความวิชาการอย่างมีคุณภาพและถูกต้องตามหลักมาตรฐาน
2. เพื่อให้อาจารย์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเทคนิคการนำเสนอบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ
3. เพื่อให้อาจารย์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเทคนิคการนำเสนอบทความในที่ประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ
กลุ่มเป้าหมาย
อาจารย์จากวิทยาลัย/คณะ/สถาบัน ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต จำนวน 60 คน
วิทยากร
ศาตราจารย์ ดร. สุมาลี สังข์ศรี และ รองศาสตราจารย์ นภาลัย สุวรรณธาดา
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต
วัน เวลา สถานที่
วันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2552 เวลา 9.00 - 16.00 น.
ณ ห้อง 11-401 ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. อาจารย์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักการและวิธีการในการเขียนบทความวิชาการอย่างมีคุณภาพและถูกต้องตามหลักมาตรฐาน
2. อาจารย์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเทคนิคการนำเสนอบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ
3. อาจารย์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเทคนิคการนำเสนอบทความในที่ประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ
วันที่ประกาศ: 29 กุมภาพันธ์ 2555, 10:47