หลักการและเหตุผล
ช่วงเวลาที่เด็กวัยรุ่นต้องใช้ชีวิตการเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ถือว่าเป็นจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญช่วงหนึ่งของชีวิต ในการจะก้าวข้ามพ้นความเป็นผู้เยาว์สู่ความเป็นผู้ใหญ่ ที่ต้องมีความสมบูรณ์พร้อมทั้งในเรื่องของความรู้ ความสามารถเชิงวิชาการ-วิชาชีพ อารมณ์ สังคม และทักษะการใช้ชีวิต ซึ่งทั้งนี้ การที่เยาวชนคนหนึ่งจะสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพและเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของสังคมและประเทศชาติได้นั้น ต้องมีที่มาจากการเป็นผู้ที่ได้รับการหล่อหลอม บ่มเพาะ ขัดเกลา ประคับประคอง จากทั้งทางครอบครัว คือพ่อแม่ผู้ปกครอง และจากทางสถาบันการศึกษา ได้แก่ครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ ดังนั้น ทั้งครอบครัวและอาจารย์ จึงต่างมีบทบาทหน้าที่คนละด้านที่มีสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในการสร้างความสำเร็จในชีวิตให้กับบุตรหลานและลูกศิษย์ของตน
ทั้งนี้ นักศึกษาแต่ละคนล้วนแล้วแต่มีภูมิหลัง สถานะ เงื่อนไข และปัจจัย ที่แตกต่างกัน บางคนสามารถใช้ชีวิตการเป็นนักศึกษาได้อย่างราบรื่นตั้งแต่เริ่มต้นเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จวบจนสำเร็จการศึกษา ในขณะที่บางคนกลับประสบกับปัญหามากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่มักประสบโดยทั่วไป ได้แก่ ปัญหาด้านครอบครัวหรือการดำเนินชีวิต ปัญหาการปรับตัวไม่ได้กับรูปแบบการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากเดิม ปัญหาผลการเรียนตกต่ำ ปัญหาด้านการเงินหรือค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอ ปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาการเกิดความแปลกแยกหรือความขัดแย้งในการทำงานและเข้าร่วมกลุ่มทางสังคมกับเพื่อน ปัญหาความไม่ลงรอยกับอาจารย์ผู้สอน ปัญหาเรื่องสุขภาพ ปัญหายาเสพย์ติด ปัญหาการตั้งครรภ์ และอื่นๆ ซึ่งเมื่อนักศึกษาประสบปัญหาต่างๆ เหล่านี้ บุคคลที่สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่พวกเขาได้นอกเหนือจากครอบครัวก็คือ อาจารย์ผู้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลนักศึกษาด้านต่างๆ ที่จะส่งผลให้นักศึกษาสามารถสำเร็จการศึกษาได้อย่างสัมฤทธิผลภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยจะต้องมีบทบาททั้งเป็นที่ปรึกษาเชิงวิชาการและเป็นที่ปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนะแนว ด้วยการทำหน้าช่วยเหลือนักศึกษาให้สามารถคิดและตัดสินใจแก้ไขปัญหาของตนเองได้ ด้วยการใช้เทคนิคของการสร้างความสัมพันธ์และการสื่อสารความเข้าใจ การให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่น นอกจากอาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องมีความรู้และทักษะการให้คำปรึกษาแล้ว ควรต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการตามปกติของวัยรุ่น รวมถึงพฤติกรรมอันเป็นปัญหาต่างๆ ที่พบบ่อยในวัยรุ่นยุคปัจจุบัน ที่สำคัญ อาจารย์ที่ปรึกษาต้องทราบถึงแนวทางในการให้คำปรึกษาแนะนำแก่นักศึกษาเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม
ฝ่ายวิชาการ โดยศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทและหน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษา จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมเรื่องดังกล่าวนี้ขึ้น โดยมุ่งให้ความ สำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นอาจารย์ใหม่ และอาจารย์ซึ่งต้องการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะและประสบการณ์ด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการจัดการปัญหาในงานอาจารย์ที่ปรึกษา
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้อาจารย์เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของภาระหน้าที่และบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษา
2. เพื่อให้อาจารย์ได้รับความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของวัยรุ่น รวมถึงพฤติกรรมอันเป็นปัญหาของวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน
3. เพื่อให้อาจารย์ได้รับความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับ หลักการ กระบวนการขั้นตอน และเทคนิคในการจัดการกับปัญหาด้านต่างๆ ในงานอาจารย์ที่ปรึกษา
4. เพื่อให้อาจารย์มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ และความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
กลุ่มเป้าหมาย
อาจารย์จากวิทยาลัย/คณะ/สถาบัน ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต จำนวน 60 คน
วิทยากร
ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมหาวิทยาลัย
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต
วัน เวลา สถานที่
วันที่ 23 เมษายน 2553 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้อง 11-403 ชั้น 4
อาคารเฉลิมพระเกียรติ (อ.11) มหาวิทยาลัยรังสิต
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. อาจารย์เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของภาระหน้าที่และบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษา
2. อาจารย์ได้รับความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของวัยรุ่น รวมถึงพฤติกรรมอันเป็นปัญหาของวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน
3. อาจารย์ได้รับความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับ หลักการ กระบวนการขั้นตอน และเทคนิคในการจัดการกับปัญหาด้านต่างๆ ในงานอาจารย์ที่ปรึกษา
4. อาจารย์มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ และความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
วันที่ประกาศ: 29 กุมภาพันธ์ 2555, 10:51