หลักการและเหตุผล
สืบเนื่องจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ซึ่งกำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งของการประกันคุณภาพ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงได้ดำเนินการ “โครงการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดม ศึกษา (Thai Qualifications Framework for Higher Education, TQF:HEd)” ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนเสร็จเป็นรูปธรรมและนำไปสู่การบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2552 (ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552)
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ เป็นกรอบที่แสดงระบบคุณวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ระดับคุณวุฒิ ความเชื่อมโยงต่อเนื่องจากคุณวุฒิระดับหนึ่งไปสู่ระดับที่สูงขึ้น การแบ่งสายวิชา มาตรฐานผลการเรียนรู้ของแต่ละระดับคุณวุฒิซึ่งเพิ่มสูงขึ้นตามระดับของคุณวุฒิ ปริมาณการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเวลาที่ต้องใช้ ลักษณะของหลักสูตรในแต่ละระดับคุณวุฒิ การเปิดโอกาสในเทียบโอนผลการเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งระบบและกลไกที่ให้ความมั่นใจในประสิทธิผลการดำเนินงานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติของสถาบันอุดมศึกษาว่าสามารถผลิตบัณฑิตให้บรรลุคุณภาพตามมาตรฐานผลการเรียนรู้
การจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อ
1. เป็นเครื่องมือในการนำแนวนโยบายการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการวัดการศึกษาตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรฐานการอุดมศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษาสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม
2. มุ่งเน้นที่ Learning Outcomes ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำเชิงคุณภาพเพื่อประกันคุณภาพบัณฑิต
3. มุ่งประมวลกฎเกณฑ์และประกาศต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเข้าไว้ด้วยกันและเชื่อมโยงให้เป็นเรื่องเดียวกัน
4. เป็นเครื่องมือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้าใจและความมั่นใจในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง/มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น นักศึกษา ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ ชุมชน สังคมและสถาบันอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับคุณลักษณะของบัณฑิตที่คาดว่าจะพึงมี
5. มุ่งให้คุณวุฒิหรือปริญญาของสถาบันใด ๆ ของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและเทียบเคียงกันได้ในสถาบันอุดมศึกษาที่ดีทั้งในและต่างประเทศ โดยเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถจัดหลักสูตรตลอดจนกระบวนการเรียนการสอนได้อย่างหลากหลายโดยมั่นใจถึงคุณภาพของบัณฑิตซึ่งจะมีมาตรฐานผลการเรียนรู้ตามที่มุ่งหวัง สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีความสุขและภาคภูมิใจเป็นที่พึงพอใจของนายจ้าง
6. ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
7. เพื่อเป็นการประกันคุณภาพขั้นต่ำของบัณฑิตในแต่ละสาขา/สาขาวิชา หรือแต่ละคุณวุฒิ
8. เพื่อให้แต่ละสาขา/สาขาวิชามีการกำกับดูแลคุณภาพการผลิตบัณฑิตกันเอง โดยบัณฑิตในสาขาสาขาวิชาเดียวกันของแต่ละสถาบันฯ มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรฐานคุณวุฒิระดับการศึกษาของสาขา/สาขาวิชานั้น ๆ
9. เพื่อนำไปสู่การลดขั้นตอน/ระเบียบ (deregulations) ในการดำเนินการให้กับสถาบัน อุดมศึกษาที่มีความเข้มแข้งและความพร้อมในการจัดการศึกษา
ในการนี้ ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ตระหนักว่า กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดม ศึกษาแห่งชาติ มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้บริหารของคณะวิชาและคณาจารย์ทุกท่าน ดังนั้น จึงมีความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน รวมถึงมองเห็นเป้าหมายและทิศทางการดำเนินงานร่วมกัน อันจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้การพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยรังสิต บรรลุผลตามข้อกำหนดของกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา
นอกจากนั้น ในทางปฏิบัติ ทางคณะวิชาและอาจารย์ผู้สอนต้องดำเนินการจัดทำรายละเอียดข้อมูลตามแบบ มคอ. 1-7 โดยในส่วนของ มคอ. 3-4 อาจารย์ผู้สอนต้องจัดทำข้อมูลวิธีการสอน และ วิธีการวัดประเมินผล ซึ่งจะเป็นการดีอย่างยิ่ง หากอาจารย์ผู้สอนสามารถทราบถึงเทคนิควิธีการสอนที่จะทำให้ผู้เรียนมีสัมฤทธิผลทางการศึกษาบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละด้าน รวมถึงทราบแนวทางการวัดและประเมินผลที่ถูกต้องเหมาะสม ส่วนการจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน ตามแบบ มคอ. 5-7 ในช่วงสิ้นภาคการศึกษาและสิ้นปีการศึกษา ก็มีความสำคัญเดียวกันเช่นกัน
ดังนั้น ฝ่ายวิชาการ จึงได้มีการจัดโครงการสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริหารคณะวิชาและอาจารย์ผู้สอน ในการพัฒนารายวิชาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของเรียนรู้ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา และสามารถจัดทำรายละเอียดของข้อมูลตามแบบ มคอ. ได้อย่างถูกต้อง
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (TQF:HEd)
2. เพื่อนำเสนอแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาในการพัฒนารายวิชาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของเรียนรู้ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (TQF:HEd)
3. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาทราบถึงแนวทางการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของรายวิชาและประสบการณ์ภาคสนาม ตามแบบ มคอ.5 และ มคอ.6
4. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาทราบถึงแนวทางการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของหลักสูตร ตามแบบ มคอ.7
5. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาทราบถึงเทคนิควิธีการสอนที่จะทำให้ผู้เรียนบรรลุผลตามมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละด้าน รวมถึงทราบแนวทางการวัดและประเมินผลที่ถูกต้องเหมาะสม
กลุ่มเป้าหมาย
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ หัวหน้าภาควิชา หัวหน้าสาขาวิชา และคณาจารย์จากคณะวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยรังสิต
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต โดย ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน ร่วมกับ สำนักงานมาตรฐานวิชาการ
วันเวลาและสถานที่
วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2553 เวลา 9.00 – 16.00 น. ณ ห้อง 301 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์มหาวิทยาลัยรังสิต
วิทยากร
- รองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ชุติมาสกุล (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี)
- รองศาสตราจารย์ ดร.อวยพร เรืองตระกูล (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับทราบข้อมูล และมีความรู้ ความเข้าใจแก่เกี่ยวกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (TQF:HEd)
2. ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับทราบแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานในการพัฒนารายวิชาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของเรียนรู้ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (TQF:HEd)
3. ผู้เข้าร่วมสัมมนาทราบถึงแนวทางการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของรายวิชาและประสบการณ์ภาคสนาม ตามแบบ มคอ.5 และ มคอ.6
4. ผู้เข้าร่วมสัมมนาทราบถึงแนวทางการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของหลักสูตร ตามแบบ มคอ.7
5. ผู้เข้าร่วมสัมมนาทราบถึงเทคนิควิธีการสอนที่จะทำให้ผู้เรียนบรรลุผลตามมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละด้าน รวมถึงทราบแนวทางการวัดและประเมินผลที่ถูกต้องเหมาะสม
วันที่ประกาศ: 29 กุมภาพันธ์ 2555, 11:01