หลักการและเหตุผล
นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยรังสิตได้ประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นสถาบัน อุดมศึกษาที่จะ “ร่วมสร้างสรรค์สังคมธรรมาธิปไตย” ด้วยการตั้งปณิธานมุ่งมั่นในการสร้างคนต้นแบบเพื่อเป็นกำลังคนของประเทศชาติที่ต้องมีทั้งความสำเร็จและความรับผิดชอบต่อสังคม เพียบพร้อมด้วยความรู้ ความสามารถ ไวต่อการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการและเทคโนโลยี ทั้งนี้ โดยใช้กระบวนการสำคัญคือ การมุ่งเน้นให้นักศึกษาเรียนรู้ เรียนลึก จากประสบการณ์จริง จากวันนั้นถึงวันนี้ การดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อสนองตอบต่อการบรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าวไม่เคยหยุดนิ่งและยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่จะก้าวเดินต่อจากนี้ คือ การประสานความร่วมมือกับชุมชนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานี เพื่อใช้จังหวัดปทุมธานีเป็นชุมชนฐานการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยรังสิต การผสานความร่วมมือนี้จะสร้างสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และส่งผลให้ได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยนักศึกษาและอาจารย์ของทางมหาวิทยาลัย จะมีโอกาสได้ฝึกฝนและนำองค์ความรู้ภาคทฤษฎีไปทดลองใช้ปฏิบัติจริง ส่วนชุมชนก็จะเกิดการพัฒนาจากการที่นักศึกษาเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้ ซึ่งขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยรังสิตอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการวิจัยเพื่อศึกษาโครงสร้างและปัจจัยทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม อันเป็นสภาพการณ์พื้นฐานของจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาและความต้องการการพัฒนาของชุมชนกลุ่มต่างๆ เพื่อที่จะได้มาซึ่งโจทย์สำหรับส่งบุคลากรเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยจะใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนเป็น ตัวตั้งและนำมาสู่การพิจารณาว่าจะสามารถให้นักศึกษาและอาจารย์สาขาวิชาใดของมหาวิทยาลัยรังสิตที่มีความเหมาะสมและมีความพร้อม เข้าไปดำเนินการร่วมแก้ไขประเด็นปัญหานั้นๆ ด้วยเหตุนี้ คณะวิชาทั้งหลายจึงต้องมีการเตรียมตัวปรับแนวทางการจัดการเรียนการสอน เพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมการเรียนรู้ของนักศึกษาเข้ากับการแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนาด้านต่างๆ ของชุมชน ฝ่ายวิชาการ โดย ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน จึงได้จัดให้มีโครงการสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่คณาจารย์ในเรื่อง การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ หรือ Community Based Learning (CBL) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ที่มุ่งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการได้เข้าไปปฏิบัติงานในสถานการณ์จริงของชุมชน โดยมุ่งหวังว่า อาจารย์ผู้สอนจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับคณะวิชาและรายวิชาของตนเองได้อย่างประสบความสำเร็จ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ความรู้แก่อาจารย์ผู้เข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับหลักการและวิธีการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้
2. เพื่อเป็นเวทีในการถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ ระหว่างวิทยากรกับอาจารย์ผู้เข้าร่วมสัมมนา
3. เพื่อให้อาจารย์ผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถนำแนวคิดและความรู้ที่ได้รับไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ภายในคณะวิชาและรายวิชาของตนเองได้
กลุ่มเป้าหมาย
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ หัวหน้าภาควิชา หัวหน้าสาขาวิชา คณาจารย์จากคณะวิชาต่างๆ และนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยรังสิต รวมจำนวนประมาณ 250 คน
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต โดย ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน
วันเวลาและสถานที่
วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 13.00 - 16.00 น. ณ ห้องชมภาพยนตร์ (201) ชั้น 2 อาคาร Digital Multimedia Complex มหาวิทยาลัยรังสิต วิทยากร ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. อาจารย์ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและวิธีการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้
2. วิทยากรกับอาจารย์ผู้เข้าร่วมสัมมนามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างกันเกี่ยวกับการใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้
3. อาจารย์ผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถนำแนวคิดและความรู้ที่ได้รับไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ภายในคณะวิชาและรายวิชาของตนเองได้
กำหนดการ โครงการสัมมนาวิชาการ เรื่อง มหาวิทยาลัยรังสิตกับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้องชมภาพยนตร์ (201) อาคาร Digital Multimedia Complex มหาวิทยาลัยรังสิต
12.30 - 13.00 น. ลงทะเบียน
13.00 - 13.10 น. พิธีกล่าวเปิดงาน
13.10 - 15.45 น. การบรรยาย เรื่อง “การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ ” โดย ศาสตราภิชาน ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
15.45 - 16.00 น. การตอบข้อซักถามและปิดการสัมมนา
วันที่ประกาศ: 29 กุมภาพันธ์ 2555, 11:10