หลักการและเหตุผล
สืบเนื่องจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ซึ่งกำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาไปอีกขั้นของการประกันคุณภาพสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) จึงได้ดำเนินการ “โครงการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (Thai Qualifications Framework for Higher Education, TQF:HEd)”ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนเสร็จเป็นรูปธรรมและนำไปสู่การบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2552 โดยสาระตามข้อ 4.3 ในประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2552 ได้กำหนดมาตรฐานผลการเรียนรู้แต่ละด้านของแต่ละระดับคุณวุฒิ โดยในระดับปริญญาตรีนั้นระบุว่าสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องกำหนดเป้าหมายและดำเนินการจัดการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณลักษณะครอบคลุมอย่างน้อย 5 ด้าน ดังนี้
1. คุณธรรม จริยธรรม
สามารถจัดการปัญหาทางคุณธรรมจริยธรรมและวิชาชีพโดยใช้ดุลยพินิจทางค่านิยมความรู้สึกของผู้อื่นค่านิยมพื้นฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพแสดงออกซึ่งพฤติกรรมทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมอาทิมีวินัยมีความรับผิดชอบซื่อสัตย์สุจริตเสียสละเป็นแบบอย่างที่ดีเข้าใจผู้อื่น และเข้าใจโลกเป็นต้น
2.ความรู้
มีองค์ความรู้ในสาขาวิชาอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ ตระหนักรู้หลักการและทฤษฎีในองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง สำหรับหลักสูตรวิชาชีพ มีความเข้าใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าของความรู้เฉพาะด้านในสาขาวิชา และตระหนักถึงงานวิจัยในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาและการต่อยอดองค์ความรู้ ส่วนหลักสูตรวิชาชีพที่เน้นการปฏิบัติจะต้องตระหนักในธรรมเนียมปฏิบัติกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์
3.ทักษะทางปัญญา
สามารถค้นหาข้อเท็จจริงทำความเข้าใจและสามารถประเมินข้อมูลแนวคิดและหลักฐานใหม่ๆจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและใช้ข้อมูลที่ได้ในการแก้ไขปัญหาและงานอื่นๆด้วยตนเองสามารถศึกษาปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อนและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขได้อย่างสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงความรู้ทางภาคทฤษฎีประสบการณ์ทางภาคปฏิบัติและผลกระทบจากการตัดสินใจสามารถใช้ทักษะและความเข้าใจอันถ่องแท้ในเนื้อหาสาระทางวิชาการและวิชาชีพสำหรับหลักสูตรวิชาชีพนักศึกษาสามารถใช้วิธีการปฏิบัติงานประจำและหาแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม
4.ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ
มีส่วนช่วยและเอื้อต่อการแก้ปัญหาในกลุ่มได้อย่างสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นผู้นำหรือสมาชิกของกลุ่มสามารถแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำในสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนและต้องใช้นวัตกรรมใหม่ๆในการแก้ปัญหามีความคิดริเริ่มในการวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างเหมาะสมบนพื้นฐานของตนเองและของกลุ่ม รับผิดชอบในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องรวมทั้งพัฒนาตนเองและอาชีพ
5.ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้ IT
สามารถศึกษาและทำความเข้าใจในประเด็นปัญหาสามารถเลือกและประยุกต์ใช้เทคนิคทางสถิติหรือคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมในการศึกษาค้นคว้าและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเก็บรวบรวมข้อมูลประมวลผล แปลความหมายและนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในการพูดการเขียนสามารถเลือกใช้รูปแบบของการนำเสนอที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกันได้
ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ สกอ. กำหนดให้ทางคณะวิชาและอาจารย์ผู้สอนต้องดำเนินการจัดทำรายละเอียดข้อมูลตามแบบ มคอ.1-7 โดยอาจารย์ผู้สอนทุกท่านต้องมีการจัดทำข้อมูลวิธีการสอนในส่วนของ มคอ.3 และ การรายงานผลการดำเนินการ ในส่วนของ มคอ.5 ซึ่งการจัดสัมมนาในครั้งนี้ จะมุ่งเน้นให้ความรู้แก่อาจารย์ผู้สอนด้านการเขียน มคอ.3 ด้านคุณธรรม จริยธรรม เป็นการเฉพาะ เนื่องจากที่ผ่านมา อาจารย์ผู้สอนบางส่วนประสบกับปัญหาว่าไม่สามารถตั้งเป้าหมาย ออกแบบวิธีการสอน-กิจกรรมการเรียนรู้ รวมถึงวิธีการประเมินผล ในด้านคุณธรรม จริยธรรมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจารย์ผู้สอนในรายวิชาที่เนื้อหาไม่มีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม โดยตรง
ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนเชิงวิชาการแก่อาจารย์ผู้สอน มหาวิทยาลัยรังสิต โดยศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน และ ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จึงร่วมกันจัดโครงการสัมมนานี้ขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนการสอน รวมถึงวิธีการในการจัดทำ มคอ.3 ด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่อาจารย์ผู้สอนระดับปริญญาตรีทั้งภายในและภายนอกสถาบัน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดทำแผนการสอนเพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม แก่อาจารย์ผู้สอนระดับปริญญาตรีทั้งภายในและภายนอกสถาบัน
2. เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการจัดทำ มคอ.3 ด้านคุณธรรม จริยธรรม แก่อาจารย์ผู้สอนระดับปริญญาตรีทั้งภายในและภายนอกสถาบัน
3. เพื่อเป็นเวทีให้อาจารย์ผู้สอนระดับปริญญาตรีทั้งภายในและภายนอกสถาบันเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดเห็น กับวิทยากรและซึ่งกันและกัน
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอนและ ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
ผู้ร่วมโครงการ
อาจารย์ผู้สอนระดับปริญญาตรี ทั้งภายในและภายนอกสถาบัน จำนวน 120 คน
วิทยากร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมสุดา ผู้พัฒน์ จาก คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วัน เวลา และสถานที่
วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม 2554 เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้อง 406 ชั้น 4 อาคาร รัตนคุณากร (อาคาร 11) มหาวิทยาลัยรังสิต
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. อาจารย์ผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภายในและภายนอกสถาบันได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดทำแผนการสอนเพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม แก่นักศึกษา
2. อาจารย์ผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภายในและภายนอกสถาบันได้รับความรู้เกี่ยวกับวิธีการจัดทำ มคอ.3 ด้านคุณธรรม จริยธรรม และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในทางปฏิบัติได้จริง
3. อาจารย์ผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภายในและภายนอกสถาบันมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ กับวิทยากรและซึ่งกันและกัน
กำหนดการ
โครงการสัมมนาคณาจารย์
เรื่อง “การจัดทำ มคอ.3 ด้านคุณธรรม จริยธรรม เพื่อบรรลุ TQF:HEd”
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม 2554 เวลา 9.00-12.00 น.
ณ ห้อง 406 ชั้น 4 อาคาร รัตนคุณากร (อาคาร 11) มหาวิทยาลัยรังสิต
08.15–08.50 น. ลงทะเบียน และ รับประทานอาหารว่าง
08.50 –09.00 น. พิธีเปิดการสัมมนา
09.00 –10.30 น. การบรรยาย เรื่องการจัดทำแผนการสอนเพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมแก่นักศึกษา
10.30 –11.45 น. การบรรยาย เรื่อง การเขียน มคอ.3 ด้านคุณธรรม จริยธรรม
11.45 –12.00 น. การอภิปราย แลกเปลี่ยนความเห็น และตอบข้อซักถาม
12.00 –13.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน
*********************************************
วันที่ประกาศ: 20 กันยายน 2554, 13:38