หลักการและเหตุผล
การวิจัยเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นอกจากนั้น ผลงานวิจัยยังเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ของทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ทั้งนี้ ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาในปีการศึกษา 2553 ที่ผ่านมา บ่งชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยรังสิตควรเพิ่มศักยภาพทางด้านการวิจัยรวมถึงนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ ทั้งในด้านปริมาณ คือ ต้องทำให้สัดส่วนของผลงานวิจัยมีความสมดุลกับจำนวนอาจารย์ในคณะวิชา และในด้านคุณภาพ ได้แก่ การส่งผลงานลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงการนำเสนอผลงานผ่านเวทีการประชุมวิชาการทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยรังสิตโดยฝ่ายวิชาการและฝ่ายพัฒนาและแผนการเงินตระหนักถึงความสำคัญและถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหาร คณะวิชา และหน่วยงานสนับสนุน ต้องมาผนึกกำลังร่วมมือกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุน ให้คณาจารย์และบุคลากรของคณะวิชาต่างๆ สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ เพื่อบรรลุตามเกณฑ์มาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา โดยมีการตั้งเป้าหมายว่า “ภายในปีการศึกษา 2556 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีผลงานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ตีพิมพ์เผยแพร่ ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 ของจำนวนอาจารย์ประจำและนักวิจัยทั้งหมด และ สาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จะมีผลงานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ตีพิมพ์เผยแพร่ ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 ของจำนวนอาจารย์ประจำและนักวิจัยทั้งหมด”
ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ฝ่ายวิชาการ โดย 2 หน่วยงาน คือ สถาบันวิจัย (สวจ.) และศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน (ศสพ.) และฝ่ายพัฒนาและแผนการเงิน คือ สำนักงานวางแผน (สวผ.) ซึ่งมีภารกิจในการให้การสนับสนุนและส่งเสริมด้านการทำงานวิจัยองค์ความรู้ งานวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และงานวิจัยสถาบัน จึงได้ทำความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยสร้างกระบวนการสนับสนุนการทำงานวิจัยอย่างครบวงจรแบบองค์รวมให้แก่คณาจารย์และบุคลากร เป็นลักษณะของโครงการที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยโครงการในรอบ 1 ปี จะประกอบด้วยขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
1. การจัดหลักสูตรฝึกอบรมระยะ 1 ปี ให้แก่คณาจารย์ที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะวิชาต่างๆ
โดยขอความร่วมมือจากคณะวิชาในการดำเนินการคัดเลือกและนำเสนอรายชื่ออาจารย์และบุคลากรที่ทางคณะวิชากำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับผิดชอบในการทำผลงานวิจัยให้บรรลุผลสำเร็จ ซึ่งแบ่งสัดส่วนตามความเหมาะสม ระหว่างผู้ที่ต้องทำผลงานวิจัยองค์ความรู้ ผู้ที่ต้องทำผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และผู้ที่ต้องทำผลงานวิจัยสถาบัน ทั้งนี้ อาจารย์และบุคลากรที่ได้รับการเสนอรายชื่อทุกท่านจะเข้าสู่ระบบการลงทะเบียนเป็นบุคคลกลุ่มพิเศษที่จะได้รับการดูแลและสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุกด้าน เพื่อช่วยเหลือให้สามารถทำผลงานวิจัยได้อย่างบรรลุผลสำเร็จตลอดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการด้วยการเผยแพร่ผลงานวิจัย
อาจารย์และบุคลากรในโครงการจะได้รับการฝึกอบรมหลักสูตร 1 ปี แยกกลุ่มตามประเภทของการทำวิจัย ซึ่งจะได้รับความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการขั้นตอนการทำผลงานวิจัยทั้งหมด โดยเนื้อหาของหลักสูตรประกอบด้วย
- การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “การจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย” (ก.พ.55)
- การฝึกอบรม ในห้วข้อ “สถิติที่ใช้ในการทำงานวิจัย” (พ.ค.55)
- การฝึกอบรม ในหัวข้อ “การจัดทำรายงานการวิจัยอย่างมีคุณภาพ” (ส.ค.55)
- การฝึกอบรม ในหัวข้อ “การตีพิมพ์เผยแพร่และนำเสนอผลงานวิชาการ” (พ.ย.55)
- พิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม (หลังจากการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานเรียบร้อยแล้ว)
หมายเหตุ : อาจารย์และบุคลากรผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องได้รับการอนุมัติจัดสรรเวลาจากทางคณะวิชา ให้สามารถเข้าร่วมฝึกอบรมตลอดทั้งหลักสูตรได้อย่างต่อเนื่องและครบถ้วน
การฝึกอบรมจะถูกจัดขึ้นเป็นช่วง พร้อมกับให้ผู้ทำวิจัยลงมือปฏิบัติตามขั้นตอนไปทีละขั้น เพื่อทำผลงานวิจัยของตนให้ประสบความสำเร็จภายในระยะเวลา 1 ปี เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาผู้ทำผลงานจะมีผลงานวิจัยที่เป็นรูปธรรมและมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับได้ 1 ชิ้นงาน ที่คณะวิชาสามารถนำไปนับรวมเป็นคะแนนในการประกันคุณภาพการศึกษาได้
2. การให้ทุนสนับสนุนการวิจัย
หลังจากโครงการเริ่มต้น และผู้ทำวิจัยผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “การจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย” แล้ว 3 สัปดาห์ ผู้ทำวิจัยทุกท่านจะต้องนำส่งข้อเสนอโครงการวิจัย (Proposal) ของตนเอง ผ่านทางสถาบันวิจัย (สวจ.) หรือ ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน (ศสพ.) หรือ สำนักวางแผน (สวผ.) ตามแต่ประเภทของงานวิจัย โดยทั้ง 3 หน่วยงาน จะนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการวิจัยเพื่อพิจารณาอนุมัติทุนสนับสนุนการทำวิจัยในทันที ซึ่งเป็นการรับประกันได้ว่า ผู้ทำวิจัยจะได้รับการสนับสนุนด้านทุนวิจัยอย่างเต็มที่แน่นอน
3. การจัดระบบพี่เลี้ยงนักวิจัยเพื่อคอยดูแลและให้คำปรึกษา
กลุ่มของนักวิจัยหน้าใหม่ ซึ่งยังขาดประสบการณ์ในการทำงานวิจัย จะได้รับการดูแลจากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอกที่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงนักวิจัย โดยพี่เลี้ยงจะเริ่มทำหน้าที่ตั้งแต่การให้คำแนะนำในการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย (Proposal) ซึ่งทันทีที่ได้รับอนุมัติทุนวิจัย ผู้ทำวิจัยสามารถเริ่มต้นทำงานวิจัยได้ทันที โดยพี่เลี้ยงจะคอยให้คำปรึกษาให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพถูกต้องตามหลักวิธีวิจัย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สถิติ การวิเคราะห์และแปลผลข้อมูล การเขียนรายงานการวิจัย รวมถึง การเตรียมนิพนธ์ต้นฉบับเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่หรือนำเสนอในเวทีการประชุมวิชาการ นอกจากนั้น พี่เลี้ยงจะคอยดูแลช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้ผู้ทำวิจัยสามารถทำงานได้ประสบผลสำเร็จอย่างราบรื่น และทำหน้าที่ตรวจประเมินความคืบหน้าในการทำงานให้สอดคล้องกับช่วงเวลา เพื่อให้งานเสร็จทันตามกำหนด
4. การให้ทุนสนับสนุนเพื่อการตีพิมพ์เผยแพร่และนำเสนอผลงานวิจัย
เมื่อทำผลงานวิจัยเสร็จสิ้น ทางสถาบันวิจัย (สวจ.) และ ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน (ศสพ.) จะร่วมกันสนับสนุนให้ผู้ทำวิจัยนำบทความวิจัยลงตีพิมพ์เผยแพร่หรือนำเสนอสู่เวทีการประชุมวิชาการ ในหลากหลายช่องทางตามความประสงค์ของผู้ทำวิจัย ได้แก่ การตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต หรือ ในเอกสารประชุมวิชาการ (Proceedings) ของงานประชุมวิชาการประจำปี มหาวิทยาลัยรังสิต (RSU Research Conference) หรือ ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการอื่นๆ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ หรือ หากผู้วิจัยประสงค์จะเดินทางไปร่วมนำเสนอบทความวิจัยทั้งในรูปแบบ Oral หรือ Poster ในงานประชุมวิชาการทั้งภายในหรือภายนอกประเทศ ทางมหาวิทยาลัยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางและค่าลงทะเบียนในทุกกรณี
5. การมอบประกาศนียบัตรสำหรับผู้บรรลุเป้าหมาย
ทางมหาวิทยาลัยจะมีการจัดพิธีมอบประกาศนียบัตร เพื่อประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้ทำวิจัยที่ทำผลงานวิจัยเสร็จสมบูรณ์และได้รับตีพิมพ์เผยแพร่หรือนำเสนอสู่เวทีการประชุมวิชาการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้น จะมีการประสานไปยังสำนักงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ และ ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อบันทึกข้อมูลว่าท่านได้รับการพัฒนาคุณภาพบุคลากรในส่วนงานวิจัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยและทางคณะวิชา จะสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้เพื่อการประเมินผลการปฏิบัติงานและการประกันคุณภาพการศึกษาได้ต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเสริมสร้างความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานวิจัยเชิงวิชาการให้แก่คณาจารย์และบุคลากรของคณะวิชาที่ยังไม่เคยทำงานวิจัยหรือยังขาดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการทำงานวิจัย ให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อก้าวไปสู่การเป็นนักวิจัยของมหาวิทยาลัย
2. เพื่อเป็นการทบทวนความรู้และเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการทำงานวิจัยให้แก่อาจารย์และบุคลากรที่ผ่านการทำผลงานวิจัยมาแล้ว ให้สามารถก้าวสู่การทำงานวิจัยในระดับสูงหรืองานวิจัยเฉพาะทางต่อไป
3. เพื่อให้ผลงานวิจัยองค์ความรู้ ผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และผลงานวิจัยสถาบัน เกิดมีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีระดับคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับได้ ส่งผลให้คณะวิชามีผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่บรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ของทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.
ผู้รับผิดชอบโครงการ
สถาบันวิจัย ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน และสำนักวางแผน
วิทยากรโครงการฝึกอบรมตลอดหลักสูตร
ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ทีมงานนักวิจัยพี่เลี้ยง และผู้อำนวยการหน่วยวิจัยทั้งหมด
ทีมงานนักวิจัยพี่เลี้ยง
ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก และ ผู้ทรงคุณวุฒิภายในมหาวิทยาลัยรังสิต
กลุ่มเป้าหมาย
อาจารย์และบุคลากรที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะวิชา/หน่วยงานต้นสังกัด จำนวน 200 คน
กรอบระยะเวลาการดำเนินงาน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. คณาจารย์และบุคลากรของคณะวิชาได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถด้านการทำงานวิจัย ที่สามารถนำไปต่อยอดหรือขยายผลไปสู่การทำงานวิจัยในระดับสูง หรืองานวิจัยเฉพาะทางได้ต่อไป
2. ผลงานวิจัยองค์ความรู้ ผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และผลงานวิจัยสถาบันเกิดมีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีระดับคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับได้
3. คณะวิชามีผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่บรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ของทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.
4. มหาวิทยาลัยรังสิตมีค่าคะแนนการประกันคุณภาพการศึกษาด้านการทำงานวิจัยในระดับที่สูงขึ้น
กำหนดการ
พิธีปฐมนิเทศและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “การจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย”
วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 13.00 – 16.30 น.
ห้อง Slope B ชั้น 5 อาคาร รังสิตประยูรศักดิ์ (12)
12.00 – 12.50 น. ลงทะเบียน
13.00 – 13.10 น. พิธีเปิดโครงการ โดย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
13.10 – 15.30 น. การบรรยาย โดย ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ในหัวข้อ การทำผลงานวิจัยวิชาการ
จำแนกตาม สาขา ดังต่อไปนี้
- สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (13.10-13.40 น.)
โดย ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สาขาพัฒนาการเรียนการสอน และสาขาสาขางานวิจัยสถาบัน(13.40-14.30 น.)
โดย ดร.ราชันย์ บุญธิมา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
- สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (14.30-15.00 น.)
โดย ภญ.ศ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (15.00-15.30 น.)
โดย รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ มหาวิทยาลัยรังสิต
15.30 – 16.30 น. ตอบข้อซักถาม
วันที่ประกาศ: 14 กุมภาพันธ์ 2555, 14:37