หลักการและเหตุผล
Critical Thinking หรือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นศิลปะของการคิดเพื่อที่จะทำให้การคิดดีขึ้น ชัดเจนขึ้น มีความแม่นตรงขึ้น หรือป้องกันตนเองมากขึ้น เป็นกระบวนการของการคิดอย่างมีเหตุผลที่คิดด้วยตนเอง เป็นการคิดอย่างรอบคอบตามหลักการของการประเมินและมีหลักฐานอ้างอิง เพื่อหาข้อสรุปที่น่าจะเป็นไปได้ ตลอดจนพิจารณาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด การคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนประกอบด้วยการรับรู้ การระลึกถึงความรู้ที่สะสมอยู่ การผสมผสานความรู้ด้วยการย่อยข้อมูลและสร้างข้อมูลขึ้นมาใหม่ เพื่อหาคำตอบว่าความหมายของสิ่งที่คิดคืออะไร ซึ่งกระบวนการคิดผสมผสานความรู้จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผ่านมาและทักษะเฉพาะหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน
การพัฒนาทักษะการการคิดอย่างมีวิจารณญาณให้แก่ผู้เรียน เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับครูผู้สอน เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถใช้กระบวนการตรรกวิทยาคิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างมีเหตุผล เพื่อช่วยให้ตัดสินใจสถานการณ์ได้ถูกต้องด้วยตนเอง ก่อนตัดสินใจว่าจะเชื่ออะไร หรือไม่เชื่ออะไร จะทำอะไร หรือไม่ทำอะไร ไม่รีบด่วนสรุปตัดสินใจโดยไม่รั้งรอ ทั้งนี้ เนื่องจาก ในปัจจุบันความก้าวล้ำของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อออนไลน์ ส่งผลให้ข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้ต่างๆ มีการแพร่กระจายผ่านช่องทางที่หลากหลายและมีจำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีปะปนกันอยู่ ผู้เรียนจึงต้องมีความสามารถในการคิดและตัดสินใจเลือกรับหรือเข้าถึงแหล่งข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ที่เป็นประโยชน์และมีคุณภาพ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดในการเรียน นอกจากนั้น การคิดอย่างมีวิจารณญาณยังเป็นเกราะป้องกันให้ผู้เรียนสามารถปกป้องตนเองได้จากการตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆ ที่ผิดพลาด ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเรียนและการดำเนินชีวิต
ฝ่ายวิชาการ โดยศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน จึงได้มีการจัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์แก่อาจารย์ผู้สอนถึงแนวทางในการพัฒนาทักษะการการคิดอย่างมีวิจารณญาณให้แก่ผู้เรียน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเสริมสร้างความรู้แก่อาจารย์ผู้สอนเกี่ยวกับหลักการและแนวทางในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนากระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณแก่ผู้เรียน
2. เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาของตนเอง
3. เพื่อเป็นเวทีให้อาจารย์ผู้สอนเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดเห็นกับวิทยากรและซึ่งกันและกัน
กลุ่มเป้าหมาย
อาจารย์จากวิทยาลัย/คณะ/สถาบัน ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต จำนวน 40 คน
วิทยากร
รองศาสตราจารย์ ดร. นวลจิตต์ เชาวกีรติพงศ์ : สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต
วัน เวลา สถานที่
วันพุธที่ 25 เมษายน 2555 เวลา 9.00-16.00 น. ณ ห้อง 702 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์มหาวิทยาลัยรังสิต
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. อาจารย์ผู้สอนได้รับความรู้เกี่ยวกับหลักการและแนวทางในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนากระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณแก่ผู้เรียน
2. อาจารย์ผู้สอนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาของตนเองได้
3. อาจารย์ผู้สอนมีเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดเห็นกับวิทยากรและซึ่งกันและกัน
กำหนดการ
โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ
เรื่อง “จะสร้าง Critical Thinking ให้ลูกศิษย์ได้อย่างไร....?
ในวันพุธที่ 25 เมษายน 2555 เวลา 9.00 - 16.00 น.
ณ ห้อง 702 ชั้น 7 อาคาร อาทิตย์ อุไรรัตน์ (อาคาร 1) มหาวิทยาลัยรังสิต
*****************************************
08.30 – 09.00 น. ลงทะเบียน
09.00 – 10.30 น. การบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง มิติการคิด
10.30 – 10.45 น. รับประทานอาหารว่าง
10.45 – 12.00 น. กิจกรรมฝึกการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
12.00 – 13.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน
13.00 – 14.30 น. ฝึกปฏิบัติการออกแบบกิจกรรมการสอนเพื่อพัฒนากระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
14.30 – 14.45 น. รับประทานอาหารว่าง
14.45 – 16.00 น. นำเสนอและวิพากษ์ผลงานการออกแบบกิจกรรมการสอนเพื่อพัฒนากระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
วันที่ประกาศ: 29 มีนาคม 2555, 10:18