หลักการและเหตุผล
การวิจัยเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นอกจากนั้น ผลงานวิจัยยังเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ของทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ทั้งนี้ ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาในปีการศึกษาที่ผ่านมา บ่งชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยรังสิตควรเพิ่มศักยภาพทางด้านการวิจัยรวมถึงนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ ทั้งในด้านปริมาณ คือ ต้องทำให้สัดส่วนของผลงานวิจัยมีความสมดุลกับจำนวนอาจารย์ในคณะวิชา และในด้านคุณภาพ ได้แก่ การส่งผลงานลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงการนำเสนอผลงานผ่านเวทีการประชุมวิชาการทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ตระหนักถึงความสำคัญและถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหาร คณะวิชา และหน่วยงานสนับสนุน ต้องมาผนึกกำลังร่วมมือกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุน ให้คณาจารย์และบุคลากรของคณะวิชาต่างๆ สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้ผลงานวิจัยดังกล่าวกลายเป็นนวัตกรรมหรือข้อมูลสะท้อนกลับอันเป็นประโยชน์ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่ดียิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการพัฒนาอาจารย์พัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมีมาตรฐานรวมทั้งส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยเผยแพร่เป็นรูปธรรมและเป็นผู้นำวิชาการด้านงานวิจัยเพื่อการศึกษา และบรรลุตามเกณฑ์มาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา
ในกระบวนการศึกษาวิจัย การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์เป็นลักษณะของการวิจัยที่มีการนำไปใช้ในแทบทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นในวงการสังคมศาสตร์ หรือในวงการวิทยาศาสตร์ รวมถึงในวงการศึกษา เป็นการศึกษาเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร เมื่อรวบรวมข้อมูลและแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ทำการศึกษาจากนั้นก็จะพยายามศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริงนั้นๆ ซึ่งจะทำให้มีความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับปรากฏการณ์นั้นๆ หรือ อธิบายพฤติกรรมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร อันเป็นเป้าหมายของข้อสรุปงานวิจัยนั้นก็เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่จะสามารถบรรยาย อธิบาย ตลอดจนควบคุมสิ่งต่างๆได้นั้น ค่าสถิติที่มีการนำมาใช้ คือ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (rxy ) ซึ่งใช้ได้กับตัวแปร x และ y ที่มีมาตรการวัดแบบอันตรภาคขึ้นไป แต่ยังมีค่าสถิติอีกหลายตัวที่ใช้หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่อยู่ในเงื่อนไขที่ต่างออกไป โดยรูปแบบของการวิจัยอาจใช้วิธีการศึกษา ดังต่อไปนี้
1. Case Study เป็นการศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ เพื่อต้องการทราบรายละเอียดของเรื่องที่ต้องการศึกษานั้น ๆ เป็นการศึกษาเฉพาะกรณี มิได้มุ่งในเรื่องปริมาณ
2. Casual Comparative Studies เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของตัวแปร โดยการสังเกตผลของปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร แล้วย้อนกลับไปดูว่า ผลที่เกิดจะมีความสัมพันธ์กับตัวแปรที่เป็นเหตุอะไรได้บ้าง การวิจัยลักษณะนี้ผู้วิจัยไม่สามารถควบคุมตัวแปรที่ไม่ต้องการศึกษาได้
3. Correlation Studies เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป เพื่อดูว่าตัวแปรเหล่านั้นมีการผันแปรคล้อยตามกัน หรือผันแปรตรงกันข้ามกัน
4. Cross Cultural Studies เป็นการศึกษาเปรียบเทียบปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อประโยชน์ในการนำสิ่งนั้น ๆ ไปใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในแต่ละวัฒนธรรม การวิจัยประเภทนี้ต้องการข้อมูลจากการศึกษาจากหลายลักษณะ โดยการสำรวจศึกษาทางกรณี การสังเกต แล้วจึงมาสรุปผลว่าสามารถสืบอ้างไปสู่กลุ่มที่มีวัฒนธรรมอื่น ๆ ได้หรือไม่ หรือใช้ได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น
ผลจากการศึกษางานวิจัยเชิงสหสัมพันธ์จะได้ได้กลุ่มของความสัมพันธ์ระหว่างข้อคำถามต่าง ๆ ในลักษณะความสัมพันธ์เชิงเส้น อาจเป็นความสัมพันธ์เชิงบวก หรือความสัมพันธ์เชิงลบก็ได้ ซึ่งผู้วิจัยต้องอธิบายความสัมพันธ์ของตัวแปรอันจะนำไปสู่การตอบคำถามสมมติฐานการวิจัย และการสรุปผลการวิจัยในลำดับต่อไป
จากที่กล่าวมาศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอนร่วมกับสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมสำหรับคณาจารย์ เรื่อง การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์: การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการเพิ่มพูนความรู้ และทักษะทางด้านการวิจัยให้แก่คณาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิตต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้อาจารย์ผู้เข้าฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ตลอดจนการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย
2. เพื่อให้อาจารย์ผู้เข้าฝึกอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เพื่อให้การทำงานวิจัยของตนเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักกระบวนการวิจัย
3. เพื่อให้อาจารย์ผู้เข้าฝึกอบรมมีโอกาสได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์อันเป็นประโยชน์จากท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และมีเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
กลุ่มเป้าหมาย
อาจารย์จากวิทยาลัย/คณะ/สถาบัน ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต จำนวน 50 คน
วิทยากร
ดร. วารุณี ลัภนโชคดี ภาควิชาการศึกษา สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน และสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต
วัน เวลา สถานที่
วันศุกร์ ที่ 14 กันยายน 2555 เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้อง 605 อาคาร อาทิตย์ อุไรรัตน์
(อาคาร 1) มหาวิทยาลัยรังสิต
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. อาจารย์ผู้เข้าฝึกอบรมได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ ตลอดจนการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย และสามารถนำความรู้นั้นไปใช้เพื่อให้การทำงานวิจัยของตนเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักกระบวนการวิจัย
2. อาจารย์ผู้เข้าฝึกอบรมได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์อันเป็นประโยชน์จากท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
--------------------------------------------------------------------------------------
กำหนดการ
โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับคณาจารย์
เรื่อง การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์: การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร
วันศุกร์ ที่ 14 กันยายน 2555 เวลา 13.00 -16.030 น.
ณ ห้อง 605 อาคาร อาทิตย์ อุไรรัตน์ (อาคาร 1) มหาวิทยาลัยรังสิต
*****************************************
12.30 – 13.00 น. - ลงทะเบียน
13.00 – 14.00 น. - ลักษณะงานวิจัยเชิงสหสัมพันธ์
14.00 – 15.00 น. - หลักการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร
15.00 – 15.15 น. - รับประทานอาหารว่าง
15.15 – 16.30 น. - ตัวอย่างการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร
---------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ รายละเอียดของเนื้อหาและระยะเวลา อาจมีการปรับเปลี่ยนตามดุลยพินิจของวิทยากร
วันที่ประกาศ: 2 ตุลาคม 2555, 14:36