โครงการฝึกอบรม การเขียนรายงานการวิจัย และ
การเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่และนำเสนอในการประชุมวิชาการ
วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2555 เวลา 13.30 – 16.30 น.
ห้อง 1-605 อาคาร อาทิตย์ อุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต
1. หลักการและเหตุผล
การวิจัยเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นอกจากนั้น งานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางวิชาการยังเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษาของทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. และ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ทางมหาวิทยาลัยรังสิตตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน ให้คณาจารย์และบุคลากรของคณะวิชาต่างๆ สามารถจัดทำผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามเกณฑ์มาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ในการนี้ ทางฝ่ายวิชาการ โดย สถาบันวิจัย (สวจ.) และ ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน (ศสพ.) จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการฝึกอบรมนี้ขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักการเขียนรายงานการวิจัย รวมทั้ง การเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่และนำเสนอในการประชุมวิชาการ ให้แก่คณาจารย์และบุคลากรของคณะวิชาต่างๆ อันจะส่งผลให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเขียนรายงานการวิจัยและการเขียนบทความวิจัยให้มีคุณภาพมากยิ่งๆ ขึ้นไป
2. วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการเขียนรายงานการวิจัย และ การเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่และนำเสนอในการประชุมวิชาการ
2. เพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ อันส่งผลให้คณะวิชาและมหาวิทยาลัยสามารถบรรลุเป้าหมายตามเกณฑ์มาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา
3. วิธีการดำเนินการ
1. การบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก
2. การอภิปรายซักถามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
4. ระยะเวลาและสถานที่
วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2555 เวลา 13.30 -16.30 น. ณ ห้อง 1-605 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต
5. กลุ่มเป้าหมาย
อาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยรังสิต จำนวนประมาณ 60 คน
6. ผู้รับผิดชอบโครงการ
1. สถาบันวิจัย
2. ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน
7. วิทยากรอบรม
รองศาสตราจารย์ ดร.โยธิน แสวงดี จาก สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
8. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. อาจารย์และบุคลากรผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจหลักการเขียนรายงานการวิจัย และ การเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่และนำเสนอในการประชุมวิชาการ ตลอดจนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาการเขียนรายงานการวิจัยและการเขียนบทความวิจัยให้มีคุณภาพมากยิ่งๆ ขึ้นไป
2. อาจารย์และบุคลากรได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์อันเป็นประโยชน์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
9. การประเมินผล
จัดทำแบบสอบถามเพื่อประเมินผลความคิดเห็นของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
วันที่ประกาศ: 8 มกราคม 2556, 09:23