หลักการและเหตุผล
การวิจัยเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นอกจากนั้น ผลงานวิจัยยังเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ของทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ทั้งนี้ ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาในปีการศึกษาที่ผ่านมา บ่งชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยรังสิตควรเพิ่มศักยภาพทางด้านการวิจัยรวมถึงนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ ทั้งในด้านปริมาณ คือ ต้องทำให้สัดส่วนของผลงานวิจัยมีความสมดุลกับจำนวนอาจารย์ในคณะวิชา และในด้านคุณภาพ ได้แก่ การส่งผลงานลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงการนำเสนอผลงานผ่านเวทีการประชุมวิชาการทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ตระหนักถึงความสำคัญและถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหาร คณะวิชา และหน่วยงานสนับสนุน ต้องมาผนึกกำลังร่วมมือกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุน ให้คณาจารย์และบุคลากรของคณะวิชาต่างๆ สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้ผลงานวิจัยดังกล่าวกลายเป็นนวัตกรรมหรือข้อมูลสะท้อนกลับอันเป็นประโยชน์ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่ดียิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการพัฒนาอาจารย์พัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมีมาตรฐานรวมทั้งส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยเผยแพร่เป็นรูปธรรมและเป็นผู้นำวิชาการด้านงานวิจัยเพื่อการศึกษา และบรรลุตามเกณฑ์มาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ประกอบกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช ๒๕๔๔ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาศักยภาพครูให้มีความเป็นผู้นำทางวิชาการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ครูสามารถใช้การวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ครูสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และให้สามารถศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับ กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๔ (๕) ให้สถานศึกษาส่งเสริมให้ครูผู้สอนสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ มาตรา ๓๐ ให้สถานศึกษาส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ มาตรา ๖๗ รัฐต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา การผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยมีครูเป็นผู้ปฏิบัติการวิจัย เรียกว่า ครูนักวิจัย (Teacher as Research) ซึ่งจะต้องมีพันธกิจ (Mission) ที่จะต้องค้นหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
การเขียนบทความทางวิชาการเพื่อการตีพิมพ์ จัดเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการดำเนินโครงการวิจัย เนื่องจากเรื่องราวที่นำมาเขียนเป็นรายงานหรือบทความต้องเป็นข้อเท็จจริง หรือองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลด้วย วิธีการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ มีการประมวลความคิดอย่างเป็นระบบระเบียบ มีการถ่ายทอดความคิดเป็นภาษาเขียนที่ชัดเจนสละสลวยสามารถสื่อความรู้ความเข้าใจกับผู้อ่านได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียนรายงานหรือบทความนั้นๆ การฝึกอบรมเทคนิคการเขียนรายงานวิจัยและบทความทางวิชาการเพื่อการตีพิมพ์ จึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับนักวิจัยและนักวิชาการทั่วไปเพื่อให้สามารถเขียนและนำเสนอผลงานศึกษาค้นคว้าวิจัยของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีโอกาสเผยแพร่ผลงานให้เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานและสาธารณชนอย่างกว้างขวางต่อไป ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต จึงจัดให้มีโครงการฝึกอบรมสำหรับคณาจารย์ เรื่อง การเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทั้งนี้เพื่อให้คณาจารย์สามารถเขียนบทความการวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถนำไปเผยแพร่และตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติและระดับนานาชาติ
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อให้คณาจารย์มีความรู้ความเข้าใจในการเขียนบทความทางวิชาการประเภทต่างๆ
๒. เพื่อให้คณาจารย์สามารถนำข้อมูลสำคัญที่ได้จากโครงการวิจัย นำมาเขียนในรูปของบทความวิจัยได้อย่างครบถ้วนถูกต้องและเหมาะสม สามารถนำไปใช้ในการตีพิมพ์เผยแพร่ได้
๓. เพื่อให้คณาจารย์ได้ทราบแหล่งเผยแพร่ผลงานวิชาการและแนวทางการส่งผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ และนานาชาติ
๔. เพื่อให้คณาจารย์ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ในเขียนบทความทางวิชาการ
กลุ่มเป้าหมาย
อาจารย์จากวิทยาลัย/คณะ/สถาบัน ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต จำนวน ๕๐ คน
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต
เนื้อหาการฝึกอบรม
- การเขียนบทความวิจัยประเภทต่างๆ
- เทคนิคการเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ และระดับนานาชาติ
- ตัวอย่างบทความวิจัยที่ดี
วิทยากร
ผศ. ดร. ชาตรี ฝ่ายคำตา สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วัน เวลา และสถานที่
วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม 2557 ห้อง 1-605 ชั้น 6 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๑. คณาจารย์มีความรู้ความเข้าใจในการเขียนบทความทางวิชาการประเภทต่างๆ
๒. คณาจารย์สามารถนำข้อมูลสำคัญที่ได้จากโครงการวิจัย นำมาเขียนในรูปของบทความวิจัยได้อย่างครบถ้วนถูกต้องและเหมาะสม สามารถนำไปใช้ในการตีพิมพ์เผยแพร่ได้
๓. คณาจารย์ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ในเขียนบทความทางวิชาการ ตลอดจนได้ทราบแหล่งเผยแพร่ผลงานวิชาการและแนวทางการส่งผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ และนานาชาติ
กำหนดการ
โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับคณาจารย์
เรื่อง การเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ
วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม 2557 เวลา 8.30 – 12.00 น.
ณ ห้อง 1-605 ชั้น 6 อาคาร อาทิตย์ อุไรรัตน์ (อาคาร 1) มหาวิทยาลัยรังสิต
*****************************************
08.30 – 09.00 น. ลงทะเบียน
09.00 – 10.30 น. การบรรยาย เรื่อง การเขียนบทความวิจัยประเภทต่างๆ
10.30 – 10.45 น. รับประทานอาหารว่าง
10.45 – 12.00 น. การบรรยาย เรื่อง เทคนิคการเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ
วันที่ประกาศ: 26 กุมภาพันธ์ 2557, 10:37