หลักการและเหตุผล
การจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพดัชนีที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ต้องมีการกำหนดจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน เพื่อช่วยกำหนดคุณลักษณะของผู้สำเร็จการศึกษาที่พึงประสงค์ภายหลังจากได้รับการเรียนการสอน ทั้งนี้จุดมุ่งหมายช่วยให้ทิศทางของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้หรือกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นไปด้วยความเหมาะสม การวัดและการประเมินผลจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการตัดสินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าบรรลุผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ต้องการหรือไม่ มากน้อยเพียงไร รวมทั้งช่วยให้ข้อมูลสารสนเทศอันเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของคณาจารย์
การวัดและประเมินผลการศึกษา จึงมิใช่มีความหมายเป็นเพียงขั้นตอนหรือภารกิจหนึ่งซึ่งอาจารย์ผู้สอนต้องทำให้เสร็จสิ้นลงไปเพื่อตัดสินผลได้ตกของผู้เรียนเท่านั้น หากแต่การวัดและประเมินผลการศึกษามีนัยที่สำคัญอันจะขาดเสียมิได้เลยทั้งในแง่ของการตอบคำถามว่า การเรียนการสอนในวิชานั้นบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่เพียงใด และควรจะต้องปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนการสอน วิธีสอน สื่อการสอน ผู้สอน ผู้เรียน ตลอดจนวัตถุประสงค์และเนื้อหาสาระของวิชานั้นอย่างไร ดังนั้น การวัดและประเมินผลจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับและตรวจสอบกระบวนการเรียนการสอนในทุกขั้นตอนให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพไม่สูญเปล่า เพราะการวัดและประเมินผลที่ได้ดำเนินการไปอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ จะให้ข้อมูลย้อนกลับไปสู่การปรับปรุงการเรียนการสอนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ การกำหนดวัตถุประสงค์ วิธีการดำเนินการสอน อุปกรณ์ / สื่อการสอน ตลอดจนกรรมวิธีในการวัดและประเมินผลเอง
ทั้งนี้ การวัดผลการศึกษาจะทำได้เที่ยงตรงเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเครื่องมือที่ใช้เป็นสำคัญ การสร้างเครื่องมือที่ดีจะช่วยให้ได้ข้อมูลหรือคะแนนที่มีความเชื่อมั่นสูง ดังนั้น ผู้สอนจึงควรต้องมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีในเรื่องของเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผล อาทิเช่น แบบประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบประเมินพฤติกรรม แบบประเมินการปฏิบัติ แบบประเมินแฟ้มสะสมผลงาน ฯลฯ และเครื่องมือที่นำมาใช้นั้นจะต้องมีเกณฑ์การตรวจให้คะแนนที่เป็นมาตรฐานและเชื่อถือได้ สามารถวัดผลได้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการวัด จึงจะจัดได้ว่าเป็นเครื่องมือวัดและประเมินผลทางการศึกษาที่มีคุณภาพ
ด้วยความสำคัญของการวัดและประเมินผลการศึกษาดังที่กล่าวมา ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมเรื่อง “การสร้างเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการวัดผลทางการศึกษา” ขึ้น เพื่อให้อาจารย์ได้เข้าใจวิธีการเกณฑ์การตรวจให้คะแนนที่เป็นมาตรฐาน เพื่อใช้ในการวัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ และนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสู่สังคมต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ความรู้แก่คณาจารย์ผู้สอนเกี่ยวกับแนวคิดและหลักการของการสร้างเกณฑ์มาตรฐาน
2. เพื่อให้ความรู้แก่คณาจารย์ผู้สอนเกี่ยวกับวิธีดำเนินการสร้างเกณฑ์มาตรฐาน
3. เพื่อให้ความรู้แก่คณาจารย์ผู้สอนเกี่ยวกับหลักการและวิธีการวิเคราะห์ข้อสอบ
กลุ่มเป้าหมาย
คณาจารย์จากคณะวิชาจำนวน 40 คน
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ คณะวิชา
เนื้อหาการฝึกอบรม
1. หลักการของการสร้างเกณฑ์มาตรฐาน
2. วิธีการสร้างเกณฑ์มาตรฐาน
3. การวิเคราะห์ข้อสอบ
วิทยากร
รองศาสตราจารย์ ดร. สมถวิล วิจิตรวรรณา อาจารย์ประจำสำนักทะเบียนและวัดผล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ระยะเวลาและสถานที่
วันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2552 เวลา 8.00 – 12.00 น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ (อาคาร 11) ชั้น 9 ห้อง 904
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
คณาจารย์ผู้สอนได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวคิดและหลักการและเทคนิควิธีการสร้างเกณฑ์มาตรฐาน การวิเคราะห์ข้อสอบ ตลอดจน สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปใช้ในการสร้างเครื่องมือวัดผลทางการศึกษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน สามารถวัดได้สอดคล้องกับจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมและครอบคลุมจุดประสงค์ทางการศึกษา ทำให้ได้มาซึ่งผลคะแนนที่มีความเชื่อมั่นสูง และได้ข้อมูลย้อนกลับที่สามารถนำไปใช้เพื่อการปรับปรุงการเรียนการสอนในทุกขั้นตอน
วันที่ประกาศ: 29 กุมภาพันธ์ 2555, 10:30