หลักการและเหตุผล
การวิจัยเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นอกจากนั้น ผลงานวิจัยยังเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ของทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ทั้งนี้ ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาในปีการศึกษาที่ผ่านมา บ่งชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยรังสิตควรเพิ่มศักยภาพทางด้านการวิจัยรวมถึงนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ ทั้งในด้านปริมาณ คือ ต้องทำให้สัดส่วนของผลงานวิจัยมีความสมดุลกับจำนวนอาจารย์ในคณะวิชา และในด้านคุณภาพ ได้แก่ การส่งผลงานลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงการนำเสนอผลงานผ่านเวทีการประชุมวิชาการทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ตระหนักถึงความสำคัญและถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหาร คณะวิชา และหน่วยงานสนับสนุน ต้องมาผนึกกำลังร่วมมือกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุน ให้คณาจารย์และบุคลากรของคณะวิชาต่างๆ สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้ผลงานวิจัยดังกล่าวกลายเป็นนวัตกรรมหรือข้อมูลสะท้อนกลับอันเป็นประโยชน์ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่ดียิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการพัฒนาอาจารย์พัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมีมาตรฐานรวมทั้งส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยเผยแพร่เป็นรูปธรรมและเป็นผู้นำวิชาการด้านงานวิจัยเพื่อการศึกษา และบรรลุตามเกณฑ์มาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ประกอบกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช ๒๕๔๔ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาศักยภาพครูให้มีความเป็นผู้นำทางวิชาการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ครูสามารถใช้การวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ครูสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และให้สามารถศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับ กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๔ (๕) ให้สถานศึกษาส่งเสริมให้ครูผู้สอนสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ มาตรา ๓๐ ให้สถานศึกษาส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ มาตรา ๖๗ รัฐต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา การผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยมีครูเป็นผู้ปฏิบัติการวิจัย เรียกว่า ครูนักวิจัย (Teacher as Research) ซึ่งจะต้องมีพันธกิจ (Mission) ที่จะต้องค้นหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
ในกระบวนการวิจัยการเลือกแบบแผนการวิจัย นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญประการหนึ่งที่จะบอกได้ถึงคุณภาพของงานวิจัยโดยรูปแบบหลักของการวิจัยในปัจจุบันมี 3 รูปแบบคือ การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และการวิจัยแบบผสมผสาน (mixed methods research) โดย mixed methods เป็นเทคนิควิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่มีการผสมระหว่างวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพเข้าด้วยกัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อการแก้ไขข้อจำกัดของแต่ละวิธีให้สามารถตอบคำถามการวิจัยได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยรูปแบบที่นิยมปฏิบัติทั้งไทยและต่างประเทศ คือ ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณเป็นตัวตั้งก่อนแล้วตามด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ ยกเว้นกรณีที่เป็นอุบัติการณ์ หรือเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น จึงจะใช้การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นตัวตั้งแล้วจึงตรวจสอบสมมติฐานหรือทฤษฎีด้วยวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ ลักษณะการผสมผสานจำแนกออกเป็น 2 ลักษณะคือระเบียบวิธีแบบผสานวิธี ( mixed methods) และรูปแบบผสานรูปแบบ (mixed model) ในการผสานวิธีกันระหว่างการวิจัย 2 รูปแบบนั้น อาจเป็นการผสมผสานแบบครึ่งต่อครึ่ง การผสานแบบมีรูปแบบหลักร่วมกับรูปแบบรอง หรือแบบผสมผสานทุกขั้นตอน (ผ่องพรรณ ตรัยมงคลกูล และสุภาพ ฉัตราภรณ์. 2549) โดยการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) ประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดคำถามการวิจัย ผู้วิจัยอาจจะตั้งคำถามการวิจัยเพียงหนึ่งคำถามซึ่งมีลักษณะที่เป็นทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ หรือจะตั้งคำถามการวิจัยหลายคำถามซึ่งอาจจะแยกเป็นคำถามเชิงปริมาณและคำถามเชิงคุณภาพ
ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัย ผู้วิจัยสามารถตั้งวัตถุประสงค์ของการศึกษาไว้ข้อเดียวหรือหลายข้อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำถามการวิจัย
ขั้นตอนที่ 3 การเลือกระเบียบวิธีในการวิจัย ผู้วิจัยต้องพิจารณาเลือกรูปแบบการวิจัยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการตอบคำถามการวิจัย ให้ถูกต้อง แม่นยำน่าเชื่อถือ และมีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติงานวิจัย โดยคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ เวลาที่เหมาะสม การให้ค่าน้ำหนักของข้อมูลเชิงปริมาณหรือคุณภาพ การผสมผสานวิธีการ ความลึกซึ้งในทฤษฎีหรือวิธีการเปลี่ยนแปลงไป
ขั้นตอนที่ 4 การเก็บรวบรวมข้อมูล
ขั้นตอนที่ 5 การวิเคราะห์ข้อมูล
ขั้นตอนที่ 6การตีความหรือแปลผลข้อมูล
ขั้นตอนที่ 7 การกระทำข้อมูลให้ถูกต้อง
ขั้นตอนที่ 8 การสรุปผลและการจัดทำรายงานการวิจัย
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ พบว่าการวิจัยแบบผสานวิธีมีข้อพึงระวังและมีข้อจำกัดบางประการ คือ วิธีการวิจัยเชิงปริมาณนั้นเป็นวิธีการที่เข้มงวด เป็นระบบและเป็นแบบแผน ส่วนวิจัยเชิงคุณภาพนั้นเป็นวิธีการที่แนบเนียน ละเอียดอ่อน และยืดหยุ่น เมื่อนำวิธีทั้งสองมาใช้ในการวิจัยเรื่องเดียวกันจะต้องใช้ให้เหมาะสม อย่าปล่อยให้ความรู้สึกนึกคิดเชิงคุณภาพไปผ่อนคลายความเข้มงวดและความเป็นแบบแผนของวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ ในขณะเดียวกันก็อย่าปล่อยให้ความรู้สึกนึกคิดเชิงปริมาณมีอิทธิพลทำให้วิธีการเชิงคุณภาพกลายเป็นการสำรวจหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างฉาบฉวย ซึ่งจะเป็นผลทำให้คุณภาพของงานวิจัยชิ้นนั้นลดลงนอกจากนี้ยังพบว่า งานวิจัยแบบผสานวิธีมีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ
1) นักวิจัยโดยเฉพาะหัวหน้าโครงการวิจัยต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการทำวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพคนที่ถูกต้องตามหลักวิธี ไม่เช่นนั้นจะได้งานวิจัยที่ไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร
2) ในการวิจัยแบบผสมผสานวิธี จะต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมากกว่าการทำวิจัยเชิงเดี่ยว ดังนั้นโครงการที่ถูกจำกัดด้วยเวลาและงบประมาณจึงไม่สามารถใช้กลยุทธ์โดยวิธีผสานวิธีได้ ยกเว้นเป็นข้อมูลเสริมบางส่วน
3) อาจมีการใช้การวิจัยแบบผสมผสานวิธีตามสมัยนิยม โดยเป็นการใช้แบบผิดๆ ตามที่ตนเข้าใจหรือใช้โดยมักง่าย เช่น นักวิจัยเชิงปริมาณเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบผิวเผิน หรือนักวิจัยเชิงคุณภาพคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยการสุ่มตามหลักสถิติโดยไม่พิจารณาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม เป็นต้น
วิโรจน์ สารรัตนะ. 2545: 13, สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ และ กรรณิการ์ สุขเกษม. 2547: 285-286 ได้กล่าวว่า ระเบียบวิธีแบบผสานวิธี (Mixed Methods) เป็นการแก้จุดอ่อนของแต่ละวิธีด้วยการเสริมจุดแข็ง โดยมีจุดมุ่งหมาย ดังนี้ 1) เพื่อเป็นการตรวจสอบสามเส้า (triangulation) ให้เพิ่มความเชื่อมั่นในผลของการวิจัย 2) เพื่อเป็นการเสริมให้สมบูรณ์หรือเติมให้เต็ม (complementarity) เช่น ตรวจสอบประเด็นที่ซ้ำซ้อนหรือประเด็นที่แตกต่างของปรากฏการณ์ที่ศึกษา เป็นต้น 3) เพื่อเป็นการริเริ่ม (initiation) เช่น ค้นหาประเด็นที่ผิดปกติ ประเด็นที่ผิดธรรมดา ประเด็นที่ขัดแย้งหรือทัศนะใหม่ ๆ เป็นต้น 4) เพื่อเป็นการพัฒนา (development) เช่น นำเอาผลจากการศึกษาในขั้นตอนหนึ่งไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับในอีกขั้นตอนหนึ่ง เป็นต้น และ 5) เพื่อเป็นการขยาย (expansion) ให้งานวิจัยมีขอบข่ายที่กว้างขวางมากขึ้นด้วยเหตุผลดังกล่าวทางศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต จึงจัดให้มีโครงการฝึกอบรมสำหรับคณาจารย์ เรื่อง การวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixed Methods) ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการเพิ่มพูนความรู้ และทักษะทางด้านการวิจัยให้แก่คณาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิตต่อไป
วัตถุประสงค์
กลุ่มเป้าหมาย
อาจารย์จากวิทยาลัย คณะ สถาบัน ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต จำนวน 50 คน
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต
เนื้อหาการฝึกอบรม
- ลักษณะของการวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixed Methods)
- ขั้นตอนกระบวนการดำเนินการวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixed Methods)
วิทยากร
ดร. อิทธิพัทธ์ สุวทันพรกูล ภาควิชาการวัดผลและวิจัยการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วัน เวลา และสถานที่
วันพุธ ที่ 9 กันยายน 2558 ห้อง 1-308 ชั้น 3 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
กำหนดการ
โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับคณาจารย์
เรื่อง การวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixed Methods)
วันพุธ ที่ 9 กันยายน 2558 เวลา 8.30 – 12.00 น.
ณ ห้อง 1-308 ชั้น 3 อาคาร อาทิตย์ อุไรรัตน์ (อาคาร 1) มหาวิทยาลัยรังสิต
*****************************************
08.30 – 09.00 น. ลงทะเบียน
09.00 – 10.30 น. การบรรยาย เรื่อง ลักษณะการวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixed Methods)
10.30 – 10.45 น. รับประทานอาหารว่าง
10.45 – 12.00 น. การบรรยาย เรื่อง กระบวนการดำเนินการวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixed Methods)
วันที่ประกาศ: 7 กันยายน 2558, 08:39