โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับคณาจารย์
เรื่อง ปัญหาการใช้สถิติในงานวิจัย
หลักการและเหตุผล
การวิจัยเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นอกจากนั้น ผลงานวิจัยยังเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ของทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ทั้งนี้ ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาในปีการศึกษาที่ผ่านมา บ่งชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยรังสิตควรเพิ่มศักยภาพทางด้านการวิจัยรวมถึงนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ ทั้งในด้านปริมาณ คือ ต้องทำให้สัดส่วนของผลงานวิจัยมีความสมดุลกับจำนวนอาจารย์ในคณะวิชา และในด้านคุณภาพ ได้แก่ การส่งผลงานลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงการนำเสนอผลงานผ่านเวทีการประชุมวิชาการทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ตระหนักถึงความสำคัญและถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหาร คณะวิชา และหน่วยงานสนับสนุน ต้องมาผนึกกำลังร่วมมือกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุน ให้คณาจารย์และบุคลากรของคณะวิชาต่างๆ สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้ผลงานวิจัยดังกล่าวกลายเป็นนวัตกรรมหรือข้อมูลสะท้อนกลับอันเป็นประโยชน์ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่ดียิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการพัฒนาอาจารย์พัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมีมาตรฐานรวมทั้งส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยเผยแพร่เป็นรูปธรรมและเป็นผู้นำวิชาการด้านงานวิจัยเพื่อการศึกษา และบรรลุตามเกณฑ์มาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ประกอบกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช ๒๕๔๔ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาศักยภาพครูให้มีความเป็นผู้นำทางวิชาการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ครูสามารถใช้การวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ครูสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และให้สามารถศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับ กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๔ (๕) ให้สถานศึกษาส่งเสริมให้ครูผู้สอนสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ มาตรา ๓๐ ให้สถานศึกษาส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ มาตรา ๖๗ รัฐต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา การผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยมีครูเป็นผู้ปฏิบัติการวิจัย เรียกว่า ครูนักวิจัย (Teacher as Research) ซึ่งจะต้องมีพันธกิจ (Mission) ที่จะต้องค้นหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
ในกระบวนการวิจัยการเลือกใช้สถิติสำหรับการวิจัย นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญประการหนึ่งที่จะบอกได้ถึงคุณภาพของงานวิจัย ดังที่นงลักษณ์ วิรัชชัย (2552, หน้า 1,11) กล่าวไว้ว่า สถิติเป็นหัวใจสำคัญของการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ดังนั้น สถิติจึงมีบทบาทสำคัญในการวิจัยเชิงปริมาณที่จะช่วยให้นักวิจัยอธิบายปรากฏการณ์ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ การเลือกสถิติวิเคราะห์ข้อมูลเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งของการวิจัยไม่แพ้ขั้นตอนอื่นๆ ดังที่ทราบว่าการวิจัยเป็นกระบวนการ (process) ดังนั้นทุกขั้นตอนของการวิจัยจึงมีความสำคัญนักวิจัยจึงต้องพิถีพิถันในงานวิจัยทุกขั้นตอน ในขั้นตอนของการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการวิจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ผู้วิจัยจะต้องพิจารณาตัดสินใจเลือกใช้สถิติ ที่เหมาะสมสำหรับงานวิจัยนั้น ทั้งนี้งานวิจัยที่ดี งานวิจัยที่มีคุณภาพนั้นมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นงานวิจัยที่ใช้สถิติชั้นสูงที่มีความสลับซับซ้อนเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเลือกใช้สถิติได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม หากนักวิจัยเลือกใช้สถิติที่มีความสลับซับซ้อนแต่สถิตินั้นไม่สอดรับกับข้อตกลงเบื้องต้น (assumption) ของการเลือกใช้สถิติแต่ละตัว อาจส่งผลให้งานวิจัยชิ้นนั้นนำไปสู่การสรุปที่ผิดพลาดได้ (misconception) เท่ากับว่าความพยายามที่นักวิจัยพยายามดำเนินการมาโดยตลอดในกระบวนการกำหนดกรอบความคิด (Conceptualization) นั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ดังนั้นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้สามารถเลือกใช้สถิติที่ เหมาะสมได้ ผู้วิจัยต้องวิเคราะห์งานวิจัยที่วางแผนไว้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงวัตถุประสงค์ สมมติฐาน ตัวแปรที่ศึกษาวิจัย และประโยชน์ของการนำข้อมูลไปใช้ รวมทั้งต้องมีความเข้าใจเทคนิคการวิเคราะห์ของสถิติประเภทต่างๆ ก่อนการตัดสินใจเลือกใช้สถิติตัวใดสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัยเรื่อง นั้นๆ กล่าวคือนักวิจัยต้องมองงานวิจัยให้ถ่องแท้ทั้งกระบวนการ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทางศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต จึงจัดให้มีโครงการฝึกอบรมสำหรับคณาจารย์ เรื่อง ปัญหาการใช้สถิติตในงานวิจัย ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการเพิ่มพูนความรู้ และทักษะทางด้านการวิจัยให้แก่คณาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิตต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้คณาจารย์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการเลือกใช้สถิติไม่เหมาะสม
2. เพื่อให้คณาจารย์สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการทำงานวิจัยของตนให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักกระบวนการวิจัย
3. เพื่อให้คณาจารย์มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ในการทำงานวิจัย
กลุ่มเป้าหมาย
อาจารย์จากวิทยาลัย คณะ สถาบัน ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต จำนวน 50 คน
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต
เนื้อหาการฝึกอบรม
- ลักษณะและประเภทของสถิติที่ใช้ในการวิจัย จำแนกตามลักษณะและปัญหาการวิจัย
- ปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการเลือกใช้สถิติไม่สอดคล้องกับข้อตกลงเบื้องต้นของงานวิจัย
- แนวทางแก้ไขตลอดจนเทคนิคการเลือกใช้สถิติให้เหมาะสมกับการวิจัย
วิทยากร
ดร. อรอุมา เจริญสุข
ภาควิชาการวัดผลและวิจัยการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วัน เวลา และสถานที่
วันศุกร์ ที่ 18 มีนาคม 2559 ห้อง 1-308 ชั้น 3 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. คณาจารย์มีความรู้ความเข้าใจสถิติที่ใช้ในสำหรับงานวิจัยประเภทต่างๆ
2. คณาจารย์สามารถเลือกใช้สถิติได้เหมาะสมกับงานวิจัยเพื่อให้การทำงานวิจัยของตนเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักกระบวนการวิจัย
3. คณาจารย์ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ในการทำงานวิจัย
กำหนดการ
โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับคณาจารย์
เรื่อง ปัญหาการใช้สถิติในงานวิจัย
วันศุกร์ ที่ 18 มีนาคม 2559 เวลา 8.30 – 12.00 น.
ณ ห้อง 1-308 ชั้น 3 อาคาร อาทิตย์ อุไรรัตน์ (อาคาร 1) มหาวิทยาลัยรังสิต
*****************************************
08.30 – 09.00 น. ลงทะเบียน
09.00 – 10.30 น. การบรรยาย เรื่อง ปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการเลือกใช้สถิติไม่สอดคล้องกับข้อตกลงเบื้องต้นของงานวิจัย
10.30 – 10.45 น. รับประทานอาหารว่าง
10.45 – 12.00 น. การบรรยาย เรื่อง แนวทางแก้ไขตลอดจนเทคนิคการเลือกใช้สถิติให้เหมาะสมกับงานวิจัย
วันที่ประกาศ: 16 พฤษภาคม 2559, 13:58