หลักการและเหตุผล
การวิจัยเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นอกจากนั้น ผลงานวิจัยยังเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ของทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ทั้งนี้ ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาในปีการศึกษาที่ผ่านมา บ่งชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยรังสิตควรเพิ่มศักยภาพทางด้านการวิจัยรวมถึงนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ ทั้งในด้านปริมาณ คือ ต้องทำให้สัดส่วนของผลงานวิจัยมีความสมดุลกับจำนวนอาจารย์ในคณะวิชา และในด้านคุณภาพ ได้แก่ การส่งผลงานลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงการนำเสนอผลงานผ่านเวทีการประชุมวิชาการทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ตระหนักถึงความสำคัญและถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหาร คณะวิชา และหน่วยงานสนับสนุน ต้องมาผนึกกำลังร่วมมือกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุน ให้คณาจารย์และบุคลากรของคณะวิชาต่างๆ สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้ผลงานวิจัยดังกล่าวกลายเป็นนวัตกรรมหรือข้อมูลสะท้อนกลับอันเป็นประโยชน์ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่ดียิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการพัฒนาอาจารย์พัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมีมาตรฐานรวมทั้งส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยเผยแพร่เป็นรูปธรรมและเป็นผู้นำวิชาการด้านงานวิจัยเพื่อการศึกษา และบรรลุตามเกณฑ์มาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ประกอบกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช ๒๕๔๔ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาศักยภาพครูให้มีความเป็นผู้นำทางวิชาการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ครูสามารถใช้การวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ครูสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และให้สามารถศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับ กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๔ (๕) ให้สถานศึกษาส่งเสริมให้ครูผู้สอนสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ มาตรา ๓๐ ให้สถานศึกษาส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ มาตรา ๖๗ รัฐต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา การผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยมีครูเป็นผู้ปฏิบัติการวิจัย เรียกว่า ครูนักวิจัย (Teacher as Research) ซึ่งจะต้องมีพันธกิจ (Mission) ที่จะต้องค้นหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
การทบทวนวรรณกรรม เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการวิจัยที่จะบ่งบอกถึงโอกาสของความสำเร็จและคุณภาพของงานวิจัยนั้น และสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับการวิจัยเกือบทุกหัวข้อและเนื้อหาของการวิจัย โดยเฉพาะการวิจัยเชิงปริมาณที่ต้องสังเคราะห์แนวคิดหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งตัวแปรและกรอบแนวความคิดของการวิจัย นอกจากนี้แนวคิดหรือทฤษฎีที่ได้การทบทวนวรรณกรรมยังถูกนำไปใช้การตรวจสอบสิ่งที่นักวิจัยค้นพบในโครงการวิจัยให้เกิดความน่าเชื่อถือ และส่งผลทำให้นักวิจัยที่ได้รับประโยชน์จากงานวิจัยนั้นอย่างแท้จริง ดังนั้นในกระบวนการวิจัย การทบทวนวรรณกรรมจึงเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนแรกของการวิจัย ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบการวิจัย และรายละเอียดต่างๆ ที่เหมาะสมและน่าเชื่อถือของเนื้อหาในแต่ละขั้นตอนของการวิจัย และเป็นสิ่งสำคัญที่คาดการณ์ได้ว่างานวิจัยนั้นจะแล้วเสร็จได้ตามเวลา มีความสมบูรณ์มีเนื้อหาครอบคลุม และมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต จึงจัดให้มีโครงการฝึกอบรมสำหรับคณาจารย์ เรื่อง ทบทวนวรรณกรรมอย่างไรไม่ให้ผิดจรรยาบรรณ ทั้งนี้เพื่อให้คณาจารย์สามารถเขียนบทความการวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถนำไปเผยแพร่และตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติและระดับนานาชาติ
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อให้คณาจารย์มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการทบทวนวรรณกรรม
๒. เพื่อให้คณาจารย์สามารถเขียนบททบทวนวรรณกรรมได้อย่างถูกต้องตามหลักกระบวนการวิจัย
๓. เพื่อให้คณาจารย์ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ในเขียนบททบทวนวรรณกรรม
กลุ่มเป้าหมาย
อาจารย์จากวิทยาลัย/คณะ/สถาบัน ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต จำนวน ๕๐ คน
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต
เนื้อหาการฝึกอบรม
วิทยากร
ผศ. ดร. อริศรา เล็กสรรเจริญ ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วัน เวลา และสถานที่
วันศุกร์ ที่ 4 พฤศจิกายน 2559 ห้อง 1-302 ชั้น 3 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ (อาคาร 1)
วันที่ประกาศ: 26 กุมภาพันธ์ 2560, 11:10