หลักการและเหตุผล
การวิจัยเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นอกจากนั้น ผลงานวิจัยยังเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ของทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ทั้งนี้ ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาในปีการศึกษาที่ผ่านมา บ่งชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยรังสิตควรเพิ่มศักยภาพทางด้านการวิจัยรวมถึงนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ ทั้งในด้านปริมาณ คือ ต้องทำให้สัดส่วนของผลงานวิจัยมีความสมดุลกับจำนวนอาจารย์ในคณะวิชา และในด้านคุณภาพ ได้แก่ การส่งผลงานลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงการนำเสนอผลงานผ่านเวทีการประชุมวิชาการทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ตระหนักถึงความสำคัญและถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหาร คณะวิชา และหน่วยงานสนับสนุน ต้องมาผนึกกำลังร่วมมือกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุน ให้คณาจารย์และบุคลากรของคณะวิชาต่างๆ สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้ผลงานวิจัยดังกล่าวกลายเป็นนวัตกรรมหรือข้อมูลสะท้อนกลับอันเป็นประโยชน์ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่ดียิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการพัฒนาอาจารย์พัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมีมาตรฐานรวมทั้งส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยเผยแพร่เป็นรูปธรรมและเป็นผู้นำวิชาการด้านงานวิจัยเพื่อการศึกษา และบรรลุตามเกณฑ์มาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ประกอบกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช ๒๕๔๔ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาศักยภาพครูให้มีความเป็นผู้นำทางวิชาการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ครูสามารถใช้การวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ครูสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และให้สามารถศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับ กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๔ (๕) ให้สถานศึกษาส่งเสริมให้ครูผู้สอนสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ มาตรา ๓๐ ให้สถานศึกษาส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ มาตรา ๖๗ รัฐต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา การผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยมีครูเป็นผู้ปฏิบัติการวิจัย เรียกว่า ครูนักวิจัย (Teacher as Research) ซึ่งจะต้องมีพันธกิจ (Mission) ที่จะต้องค้นหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
ในการดำเนินการวิจัยนั้นการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นกระบวนการหนึ่งที่มุ่งเน้นอธิบายกระบวนการของปรากฏการณ์ทางสังคมและความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์กับสภาพแวดล้อม โดยอาศัยมิติทางสังคม และวัฒนธรรมเป็นหลักในการศึกษาและวิเคราะห์ปรากฏการณ์นั้น การวิจัยเชิงคุณภาพ มีเป้าหมายที่จะศึกษาในเชิงคุณภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะวัดได้คือ ไม่สามารถลดทอนลงเป็นตัวเลขได้เช่น ความรู้สึก ความคิด ประสบการณ์ รวมถึง มโนทัศน์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับแนวทางศึกษาความรู้แบบนัยนิยม การวิจัยเชิงคุณภาพใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ที่ไม่ใช่ตัวเลข เพื่อที่จะบรรยายและเข้าใจมโนทัศน์เหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยอาจจะใช้แนวทางศึกษาทางเลือก เพื่อให้เข้าใจเจตนาของผู้ที่เข้าไปชมการแข่งขันต่างๆ โดยถามพวกเขาให้บอกเหตุผลว่าเพราะเหตุใดพวกเขาจะไม่เข้าชมการแข่งขันในอนาคต ความคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยากจะแปลงเป็นตัวเลขได้อย่างมีความหมาย ดังนั้นข้อมูลในรูปของถ้อยคำที่นักวิจัยนำมาใช้สามารถนำมาแปลเป็นตัวเลขได้อย่างมีความหมาย และมีความเหมาะสมในการวิจัยเชิงคุณภาพ ดังที่ Wimmer และ Dominick, 1994: 45 กล่าวว่า การวิจัย เชิงคุณภาพมีข้อดีหลายประการ ประการแรก ช่วยให้นักวิจัยได้มองเห็นพฤติกรรม (ของสิ่งที่ศึกษา) ในสภาพที่เป็นธรรมชาติ โดยไม่มีสิ่งปรุงแต่ง ซึ่งบางครั้งอาจจะมีอยู่ในการวิจัยเชิงทดลองหรือการวิจัยเชิงสำรวจ นอกจากนี้เทคนิคการวิจัยเชิงคุณภาพยังช่วยให้นักวิจัยเข้าใจปรากฏการณ์ที่ตนศึกษาอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะปรากฏการณ์ที่ยังไม่มีผู้ใดศึกษามาก่อน ประการสุดท้าย วิธีการเชิงคุณภาพยังยืดหยุ่นและอำนวยโอกาสให้นักวิจัยศึกษาเรื่องใหม่ๆ ซึ่งถ้าใช้แบบสอบถามเราอาจจะไม่ได้ข้อมูลที่เราไม่ได้ถาม แต่ผู้ที่ใช้วิธีสังเกตหรือสนทนากลุ่มอาจได้เนื้อหาหรือประเด็นที่ไม่ได้คาดคิดไว้ก่อนที่จะศึกษา
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทางศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต จึงจัดให้มีโครงการฝึกอบรมสำหรับคณาจารย์ เรื่อง เทคนิคการดำเนินงานวิจัยเชิงคุณภาพ ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการเพิ่มพูนความรู้ และทักษะทางด้านการวิจัยให้แก่คณาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิตต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้คณาจารย์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ
2. เพื่อให้คณาจารย์สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการทำงานวิจัยของตนให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักกระบวนการวิจัย
3. เพื่อให้คณาจารย์มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ในการทำงานวิจัย
กลุ่มเป้าหมาย
อาจารย์จากวิทยาลัย คณะ สถาบัน ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต จำนวน 50 คน
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต
เนื้อหาการฝึกอบรม
วิทยากร
ดร. อิทธิพัทธ์ สุวทันพรกูล ภาควิชาการวัดผลและวิจัยการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วัน เวลา และสถานที่
วันอังคาร ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ห้อง 1-302 ชั้น 3 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์
วันที่ประกาศ: 26 กุมภาพันธ์ 2560, 11:12