หลักการและเหตุผล
การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้เรียน และมุ่งเน้นเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ หรือการลงมือทำ ซึ่งความรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนจะเป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ จากกระบวนการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีโอกาสลงมือกระทำไม่ใช่เป็นเพียงการฟังเท่านั้น ผู้เรียนจะได้เรียนรู้โดยการอ่าน การเขียน การโต้ตอบ และการวิเคราะห์ปัญหา อีกทั้งให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการคิดขั้นสูง ได้แก่ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่าร่วมด้วย การเรียนรู้ที่เน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนสามารถรักษาผลการเรียนรู้ให้อยู่คงทนได้มากและนานกว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นฝ่ายรับความรู้ (Passive Learning) เพราะกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning สอดคล้องกับการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำ โดยสามารถเก็บและจำสิ่งที่ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ผู้สอน สิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ที่ได้ผ่านการปฏิบัติจริงจะสามารถเก็บความจำในระบบความจำระยะยาว (Long Term Memory) ทำให้ผลการเรียนรู้ ยังคงอยู่ได้ในปริมาณที่มากกว่า ระยะยาวกว่า การจัดการเรียนรู้ที่เน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้เรียน (Active Learning) ครอบคลุมวิธีการจัดการเรียนรู้หลากหลายวิธี เช่น การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน (Activity-Based Learning) การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (Experiential Learning) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) การเรียนรู้ที่เน้นทักษะกระบวนการคิด (Thinking Based Learning) การเรียนรู้จากการสืบค้น (Inquiry-Based Learning) การเรียนรู้ด้วยการค้นพบ (Discovery Learning) ฯลฯ อย่างไรก็ตาม รูปแบบ วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เหล่านี้ มีพื้นฐานมาจากแนวคิดเดียวกัน คือให้ผู้เรียนเป็นผู้มีบทบาทหลักในการเรียนรู้ของตนเอง ดังนั้น ผู้สอนจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้จากเดิมที่มีบทบาทเป็นผู้ถ่ายทอด เป็นผู้ชี้แนะวิธีการค้นคว้าหาความรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถแสวงหาความรู้และประยุกต์ใช้ทักษะต่างๆ ด้วยการสร้างความเข้าใจด้วยตนเองจนเกิดเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย
ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอน Active Learning ให้ได้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา นอกจากผู้สอนจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองแล้ว ผู้สอนยังต้องใช้เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ดึงดูดความสนใจของผู้เรียน และกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ หรืออาจกล่าวได้ว่าต้องสร้างห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนที่สนุก เป็นห้องเรียนที่ถูกมนต์ขลังของครูที่รักในสิ่งที่ตนเองศึกษา รักในสิ่งที่ตนเองทำ และส่งผ่านพลังเหล่านั้นมาสู่ผู้เรียน เนื้อหาต่อให้ยากเพียงใด ผู้สอนก็สามารถอธิบายให้ฟังง่ายและสนุก ที่สำคัญผู้สอนจะหาวิธีให้ผู้เรียนได้รู้ว่าจะนำความรู้ที่เรียนในห้องเรียนออกไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร เพราะไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไรล้วนเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินชีวิตทั้งสิ้น ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการเรียนการสอน Active Learning จึงได้จัดโครงการสัมมนานี้ เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนสามารถนำเทคนิคและวิธีการต่างๆ ที่ได้รับทราบ ไปปรับประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาของตนเอง
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับความรู้เกี่ยวกับบทบาทของผู้สอนในการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning
2. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ดึงดูดความสนใจของผู้เรียน และกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
3. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning และสามารถนำไปใช้กับการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาของตนเอง
กลุ่มเป้าหมาย
อาจารย์จากวิทยาลัย / คณะ / สถาบัน / หน่วยงาน ต่างๆ จำนวน 50 คน
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต
สถานที่และวันเวลา
วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 9.00-12.00 น. ห้อง 1-302 ชั้น 3 อาคาร อาทิตย์ อุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต
วิทยากร
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิตา เยี่ยมขันติถาวร : สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
วันที่ประกาศ: 26 กุมภาพันธ์ 2560, 11:13