ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต
[2557] การสอนแบบฝึกปฏิบัติ และเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง มีใครเคยนำไปใช้บ้าง ได้ผลมากน้อยแค่ไหน
การสอนแบบฝึกปฏิบัติ และเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง มีใครเคยนำไปใช้บ้าง ได้ผลมากน้อยแค่ไหน
ทางวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ได้กำหนดให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ทุกคน ได้เก็บชั่วโมงออกหน่วยให้บริการตรวจสุขภาพชุมชน เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคภายใต้การควบคุมดูแลของทีมคณาจารย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งได้รับผลดีมาก เนื่องจากนักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์ตรงจากคนไข้จริง ทำให้เกิดความมั่นใจ และภาคภูมิใจในวิชาชีพ และมีความพร้อมมากยิ่งขึ้นก่อนที่จะออกไปฝึกปฏิบัติงานจริงตามโรงพยาบาลต่างๆ ในชั้นปีที่ 4
อ.ศุภกิตติ์
ขอเสริมจาก อ.ศุภกิตติ์ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกค่ะ ทางวิทยาลัยมีรายวิชาทางด้านสปาที่ให้ นศ ได้ไปศึกษาเรียนรู้ชีวิตการทำงานจริงๆ ในสปา และเรียนรู้การทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสปากับสถานประกอบการธุรกิจด้านนี้จริงๆ เราพบว่า นศ กลุ่มนี้มีความเข้าใจในงานด้านนี้มากขึ้นรวมถึงมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นสูงขึ้นเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรปรับตัวและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้ความรู้ที่เรียนมาไปประยุกต์กับองค์ความรู้จากสถานประกอบการเกิดการแลกเปลี่ยนและความชำนาญในวิชาชีพมากขึ้น
อ.วาลุกา
ได้ผลมากคับ เพราะคณะทัศนมาตรศาสตร์มีโครงการออกหน่วยตรวจสายตาเคลื่อนที่ ทำให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้ร่ำเรียนมาในการตรวจวัดสายตาให้กับผู้รับบริการ และสร้างความเป็นจิตอาสา ต้องการช่วยเหลือสังคมให้กับนักศึกษาอีกด้วย
ใช้ได้ผลจริงค่ะ โดยเฉพาะวิชาที่สอนนักศึกษาแพทย์ การสอนแบบ case นศ.เข้าใจมากขึ้น และให้ความสนใจกับการเรียนค่ะ
ทุกวิชาต้องให้ผ่านการฝึกปฏิบัติ ไม่เช่นนั้นเราจะไม่ทราบเลยว่า นักศึกษาทำได้จริงมั้ย โดยเฉพาะวิชาภาษา ต้องฝึกทั้ง 4 ทักษะ ครูอาจจะเหนื่อยตอนตรวจสอบและประเมินในแต่ละทักษะ แต่ได้ผลจริงๆ เห็นด้วยมากๆ กับการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ ผ่านประสบการณ์ตรง ผ่านการแก้ปัญหา แล้วเราจะเห็นว่า เด็กพัฒนาขึ้นจริงๆ
สำหรับการสื่อสารการแสดง เน้นทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องใช้ทักษะในการสื่อสาร ทั้งด้านความคิด ความรู้สึก การแสดงออก ถ่ายทอดสู่ผู้ชม จึงมีการฝึกปฏิบัติให้นศ. สร้างกิจกรรมการแสดงสู่ผู้ชมจริง ซึ่งทำให้นศ.สามารถประเมินผล ผ่านทางแบบประเมิน และปฏิกิริยาจริงของผู้ชม
สำหรับวิทยาลัยดนตรี การสอนแบบฝึกปฏิบัติเป็นหัวใจสำคัญในการเรียนการสอนในแทบทุกวิชา ซึ่งทางวิทยาลัยดนตรีได้จัดกิจกรรมต่างๆ ให้นักศึกษาได้มีโอกาสแสดงอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การจัดทำโครงการ JAZZ LUNCH CONCERT แสดงเวลา 12.00 น. ประจำทุกวันพุธ - ศุกร์ ณ ห้องโถง วิทยาลัยดนตรี ชั้น 10 อาคาร 10 เป็นโครงการส่งเสริมให้นักศึกษาแขนงดนตรีแจ๊สทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงวิธีการและขั้นตอนการจัดการแสดง การเลือกนักดนตรีให้เหมาะสมกับบทเพลง วิธีการนำเสนอบทเพลง รวมถึงการประชาสัมพันธ์ โครงการนี้ช่วยให้นักศึกษามีความกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น ทำให้รู้ถึงความสามารถของตนเองที่มี และมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
วิธีนี้เป็น "ภาคบังคับ" โดยปริยายของนวัตกรรม แต่ต้องทำให้อาจารย์ยอมรับและเชื่อถือก่อนไปสอนเด็ก อีกทั้งต้องผสมผสานองค์ความรู้และวิธีการแบบอื่นๆด้วย เช่นในขั้นเตรียมตัวอต้องหาแผนที่และข้อมูลพื้นฐานของชุมชนเป็นต้น
เคยนำไปใช้ในการสอนในหลักสูตรออนไลน์ วิชาระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ครับ ซึ่งโดยปกติการสอนวิจัยทางอินเทอร์เน็ต จะค่อนข้างลำบากเนื่องจากการพูดคุยผ่านห้องสนทนายังไม่สามารถทำให้นักศึกษาตกผลึกได้มากนัก จึงได้ลองให้ฝึกปฏิบัติโดยการให้เขียนงานวิจัยทีละบท และส่งอีเมลกลับมา โดยทุกครั้งอาจารย์จะเป็นผู้แนะนำสิ่งที่ยังไม่สมบูรณ์ให้กลับไปเพิ่มเติมมา ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะนักศึกษาจะได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงๆ เข้าใจและสามารถเขียนงานวิจัย 3 บทได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดครับ
สำหรับวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมมีประสบการณ์ตรงก็คือ ในการสอนรายวิชาสตรีเพื่อการพัฒนา ได้ให้งานนักศึกษา โดยให้ออกไปสัมภาษณ์ "ผู้หญิง" ที่เขาคิดว่าเป็น "นักพัฒนา" นักศึกษาบางคนเลือกที่จะไปศึกษา "แม่" ของตนเอง แม้ว่าแม่ของเขาจะเป็นเพียงคนที่ขายของอยู่มรหมู่บ้าน แต่มีอีกบทบาทหนึ่งก็คือการเป็น อสม. และเขาพบว่าการอุทิศตนเองเป็น อสม.ทำให้แม่เขาเป็นนักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ในสายตาของเขา คำถามที่ไกด์ไลน์ให้นักศึกษาทำให้นักศึกษาได้เข้าถึงการเป็นนักพัฒนาของแม่ของเขา และเขาตอบมาในรายงานนี้ด้วยว่า "เขาไม่เคยคิดและรู้มาก่อนเลยว่า แม่ได้ทำงานที่สำคัญต่อชุมชนขนาดนี้"
อ.ฉัตรวรัญ องคสิงห์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม
ที่คณะเทคโนโลยีอาหารได้ใช้การเรียนการสอนแบบ PBL ในวิชาชีพพื้นฐาน ในชั่วโมงปฏิบัติการ โดยไม่มี คู่มือปฏิบัติการ แต่เป็นการตั้งโจทย์ เช่น การเรียนเรื่องการบ่มกล้วย และ การชะลอการสุกของกล้วย แบ่งนักศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มประกอบด้วยกลุ่มย่อย 2 - 3 กลุ่ม แล้วให้แต่ละกลุ่มย่อยแข่งขันกัน เช่น กลุ่มแรกได้โจทย์การเร่งการสุกของกล้วย กลุ่มใดสามารถเร่งการสุกของกล้วยได้เร็วที่สุดจะชนะ ส่วนอีกกลุ่มได้โจทย์เรื่องการชะลอการสุก กลุ่มใดทำให้กล้วยสุกช้าที่สุดจะชนะ นักศึกษาแต่ละกลุ่มที่ได้รับโจทย์จะต้องไปเตรียมตัวมาก่อน 1 สัปดาห์ เมื่อถึงชั่วโมงปฏิบัติอาจารย์จะทำหน้าที่เป็นเพียง โคช หรือผู้ให้คำปรึกษาเท่านั้น นักศึกษาจะต้องออกแบบการทดลองเอง หา Treatment ของตัวเอง เป็นต้น ปฏิบัติการวันนั้นสนุกมาก นักศึกษาก็สนุก แต่ละกลุ่มจะสรรหาวิธีการต่างๆที่ไม่เหมือนกัน เพื่อแข่งขันกัน เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนวิธีนี้ นักศึกษาส่วนใหญ่ตอบว่าชอบมากกว่าที่จะเรียนตามปฏิบัติการที่กำหนดมาให้เรียบร้อยแล้ว แต่กระบวนการนี้ อาจารย์ต้องมีเวลา และสามารถตอบคำถามหรือเป็นโคชให้กับนักศึกษาได้ทั้งในเวลาเรียนและนอกเวลา และนักศึกษาจะต้องค้นคว้าหรือเตรียมตัวมาก่อนจึงจะได้ผลที่ดี
คณะพยาบาลศาสตร์ มีการจัดการเรียนการสอนวิชาในภาคปฏิบัติในหลายกลุ่มสาขาวิชา โดยมีการฝึกปฏิบัติทั้งในโรงพยาบาลและในชุมชน การจัดการเรียนการสอนแบบนี้ทำให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริงนอกเหนือจากการเรียนในภาคบรรยายและในห้องปฏิบัติการ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การสร้างแบบประเมินผลการเรียนรู้ตาม Learning outcomes เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนภาคปฏิบัติสามารถประเมินนักศึกษาตามวัตถุประสงค์ของรายวิชา และอาจารย์ผู้สอนในภาคปฏิบัติทุกคนต้องมีการจัดการวิพากษ์การประเมินผลนักศึกษาร่วมกัน (Defence การประเมินผล) ซึ่งเป็นกระบวนการในการพัฒนานักศึกษาได้เป็นอย่างดี
ได้ผลมากครับ สถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรมมีการนำนักศึกษาลงพื้นที่ศึกษาอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรม ณ สถานที่จริง เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม และได้พูดคุยกับผู้กระทำความผิดและนำไปสู่การนำเสนอข้อมูลที่ค้นพบในลำดับต่อไป
เข้าสู่ระบบด้วย username และ password เดียวกับระบบ Intranet