KM Rangsit University

ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต

ชุมชนนักปฏิบัติ

[2558] การเขียนบทความทางวิชาการมีความสำคัญต่ออาจารย์ในมหาวิทยาลัยอย่างไร?

การเขียนบทความทางวิชาการมีความสำคัญต่ออาจารย์ในมหาวิทยาลัยอย่างไร?

โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.วรชัย  ศิริกุลชยานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

บทความทางวิชาการ หมายถึง บทความที่มุ่งถ่ายทอดความรู้ ความคิด หรือผลการค้นพบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการ โดยมีการเรียบเรียงเนื้อหาอย่างเป็นระบบ มีการวิเคราะห์ วิจารณ์ อภิปรายให้ผู้อ่านเห็นประเด็นอันอาจเป็นประโยชน์ทางวิชาการ ตลอดจนมีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ  และมีการเผยแพร่ในสื่อการพิมพ์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีความน่าเชื่อถือทางด้านวิชาการ

 “มหาวิทยาลัย” ในระดับชาติและนานาชาติ หมายถึงสถาบันการศึกษาสูงสุดที่มุ่งการสอนและ
การวิจัย และประสาทปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา การเขียนบทความจึงมีความสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ในการสอน หรืองานวิจัยเพื่อให้ตอบสนองพันธะกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัย

ถามว่า อาจารย์จะมุ่งสอนนักศึกษาให้ดีเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องทำงานวิจัยได้หรือไม่?  ผมขอตอบว่า ขณะนี้ทำได้ เพราะเกณฑ์ของสำนักงานการอุดมศึกษา( สกอ.)ยังยอมให้เราใช้ค่าเฉลี่ยของทั้งมหาวิทยาลัย หมายความว่า หากมีอาจารย์ที่ทำวิจัยปีละหลายๆเรื่อง จำนวนหนึ่งสามารถนำมาเผื่อแผ่ผู้ที่ไม่ทำและได้ค่าตัวเลขที่ผ่านเกณฑ์ มหาวิทยาลัยนั้นก็สอบผ่าน แต่ในอนาคตด้วยความเห็นส่วนตัวว่าขณะนี้เป็นเพียงสถานการณ์ที่อยู่ในขั้นปรับเปลี่ยนเพื่อการเพิ่มเกณฑ์ขึ้นในอนาคต หากเราประเมินสถานการณ์ที่ไม่เข้าข้างตัวเองโดยอาศัยสังเกตแนวโน้มของเกณฑ์การประเมินที่เข้มขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปี เขาอาจไม่ยอมให้เราใช้ค่าเฉลี่ยต่อไป อาจคิดตัวเลขเป็นรายบุคคล อาจารย์ที่ไม่มีบทความวิขาการหรือทำวิจัยเลยคงได้รับผลกระทบ เหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ การสอนให้ดีเป็นเรื่องที่นำมาอ้างยาก เพราะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม ส่วนงานวิจัยเป็นรูปธรรมที่นับได้และประเมินคุณภาพได้ชัดเจน โดยอาศัย ข้อมูลimpact factor หรือ คุณภาพของวารสาร

คุณประโยชน์ของการเขียนบทความวิชาการหรือบทความวิจัยต่อตัวอาจารย์มีอีกหรือไม่?

ผมคิดว่ามีอีกหลายประการ

1) บทความวิชาการหรือบทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่ได้รับการยอมรับทางวิชาการ ช่วยให้อาจารย์สามารถนำไปเป็นผลงานเพื่อขอปรับเลื่อนตำแหน่งวิชาการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด หากเราพิจารณาเกณฑ์การขอกำหนดตำแหน่งวิชาการของอาจารย์จะพบว่า สิ่งที่เป็นตัวแปรที่สำคัญในการพิจารณามากที่สุด คือ ผลงานวิจัย

2) การเขียนบทความทางวิชาการเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่แสดงว่าอาจารย์มีโอกาสพัฒนาตนเองในด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สำเร็จการศึกษาแล้ว

3) ทำให้อาจารย์ได้รับการยอมรับในแวดวงนักวิชาการทั้งในมหาวิทยาลัย ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ โดยที่อาจไม่เคยรู้จักหรือเคยพบนักวิชาการเหล่านั้น แต่เขารู้จักเราจากผลงาน ซึ่งเป็นสิ่งน่าภาคภูมิใจ

4) การส่งบทความทางวิชาการหรือบทความวิจัยและได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารที่ได้รับการยอมรับหรืออ้างอิงสูง (impact factor สูง) ตัวอาจารย์เองจะเกิดความปิติอย่างสูง และเป็นความสุขที่บรรยายไม่ถูก ต้องลองประสบด้วยตัวเอง

5) ทำให้คุณภาพการเรียนการสอนดีขึ้น เนื่องจากการเขียนบทความทางวิชาการฝึกให้สามารถวิเคราะห์ วิพากย์ และรู้ในเนื้อหาต่างๆได้ลึกซึ้งดีกว่า เราอาจสามารถตอบคำถามต่างๆแก่นักศึกษาได้ลึกซึ้งเกินความคาดหวังของเขา หรือเกินกว่าสิ่งที่เขาได้จากการค้นในสื่ออีเล็กทรอนิกส์ทั่วไป

6) ทำให้อาจารย์มีความมั่นคงในวิชาชีพอาจารย์ในมหาวิทยาลัย กล่าวคือ ในบริบทปัจจุบัน
ทุกมหาวิทยาลัย มีการตั้งเกณฑ์ให้อาจารย์ที่รับใหม่ต้องได้ตำแหน่งวิชาการภายใน 3 ปี ขณะนี้ยังใช้บังคับเฉพาะอาจารย์ใหม่ แต่ในอนาคต อย่าได้ประมาท ข้อบังคับนี้อาจขยายวงมากระทบอาจารย์เก่าก็เป็นได้ ผมยังคิดว่าหากอาจารย์มีตำแหน่งวิชาการที่เหมาะสมตามอายุการทำงาน จะทำให้อาจารย์มีความมั่นใจในการทำงานร่วมกับอาจารย์ใหม่ และได้รับการยอมรับจากเขามากขึ้น อนึ่งมหาวิทยาลัย ที่มีชื่อในต่างประเทศ เช่น MIT, Harvard อาจารย์ส่วนใหญ่ เป็น ระดับศาสตราจารย์ อาจารย์ที่ไม่มีตำแหน่งวิชาการมีเป็นส่วนน้อยมาก และผมคิดว่าอาจารย์ในกลุ่มหลังนี้คงทำงานด้วยความไม่ค่อยเป็นสุขนัก นอกจากจะมีความ ผมเชื่อว่าผู้บริหารของมหาวิทยาลัยของเราคงอยากให้มหาวิทยาลัยเป็นแบบมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

ส่วนประโยชน์ของการเขียนบทความทางวิชาการของอาจารย์ที่เกิดกับสถาบัน หรือ มหาวิทยาลัย ได้แก่

1) บทความวิชาการที่มีคุณภาพและจำนวนมากพอ จะทำให้มหาวิทยาลัยได้ชื่อเสียงเป็นที่อ้างอิงทางด้านนวัตกรรม หรือ สร้างองค์ความรู้ให้สังคม และหากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานพอสมควร เราย่อมมีโอกาสเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ หรือ ชั้นแนวหน้าของภูมิภาคได้  อย่าคิดว่า มหาวิทยาลัยเอกชน ไม่สามารถเอาชนะมหาวิทยาลัยของรัฐ  ในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยชั้นนำมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ เช่น Harvard, Columbia, Princeton, ล้วนเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนทั้งสิ้น

2) การมีปริมาณงานวิจัยที่มากพอ และมีอาจารย์ที่ได้ตำแหน่งวิชาการที่มากพอ ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินของสถาบันการศึกษาโดยไม่สร้างความยากลำบากแก่อาจารย์หรือฝ่ายบริหารเลย และไม่ต้องกังวลกับเกณฑ์ที่ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สามารถบริหารหลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคง

โดยสรุป ผมคิดว่า การเขียนบทความวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทความวิจัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน ยังอาจเห็นผลกระทบกับตัวอาจารย์ไม่ชัดเจน แต่ในอนาคต คาดว่าน่าจะมีผลกระทบ เนื่องจากปัจจัยภายนอก ซึ่งได้แก่ 1) การแข่งขันกับมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยต่างประเทศเนื่องจากผลของ AEC และมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง 2) ความคาดหวังของนักศึกษาที่เปลี่ยนไปมิได้หวังเพียงปริญญา แต่หวังได้คุณภาพเพื่อประกันการตกงาน 3) พฤติกรรมการเรียนของนักศึกษาที่เปลี่ยนไป ที่ชื่นชมการตอบคำถามซึ่งไม่สามารถหาได้จากการใช้สื่ออีเล็กทรอนิกส์ 4) การประเมินคุณภาพการศึกษาจากสถาบันการประเมิน ซึ่งนับวันจะเข้มข้นมากขึ้น ผมรู้ดีว่าอาจารย์เกือบทุกท่านมีงานสอนที่ค่อนข้างจะล้น แต่คิดว่า ถึงเวลาแล้วที่อาจารย์ควรทบทวนดูสักนิดโดยเอาอนาคตเป็นตัวตั้ง ผมเชื่อว่า หากบริหารเวลาให้ดี โดยจัดเวลาสำหรับการสอน และเกลี่ยภาระการสอนในระหว่างอาจารย์ด้วยกันให้ดี หรือใช้สื่อการสอนอื่นแทนการสอนบรรยาย น่าจะสามารถจัดสรรเวลาสำหรับการทำวิจัย เขียนบทความ ให้เหมาะสมกันโดยถ้วนหน้า  และทุกคนก็จะได้ตำแหน่งวิชาการตามเจตนารมณ์ของตนเอง และมหาวิทยาลัย

กนกรัตน์ ครูกิมโสม (สถาบันวิจัยเพื่อมหาวิทยาลัยรังสิต) เมื่อ 2015-12-16 15:49:00 Like 0

ท่านอาจารย์ได้ให้แรงกระตุ้น และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำวิจัยของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยครับ

สมพล แพรพันธ์ (คณะเทคนิคการแพทย์) เมื่อ 2015-12-16 19:26:06 Like

ในหัวข้อนี้นอกจากจะสนับสนุนอาจารย์ให้ทำผลงานวิจัยแล้ว ในฐานะดิฉันเป็นบุคคลากรในสายสนับสนุนมีความคิดเห็นว่าควรมีการสนับสนุนหรือเสริมแรงกระตุ้นให้บุคลากรในสายสนับสนุนมีผลงานวิจัยมากขึ้น โดยมุ่งเน้นให้นำงานประจำสู่งานวิจัย (R2R) ค่ะ

รัชนีภรณ์ ณ ถลาง (สำนักงานสวัสดิการสุขภาพ) เมื่อ 2015-12-17 09:12:51 Like

นพ.วรชัย ศิริกุลชยานนท์  สร้างแรงจูงใจในการเขียนบทความทางวิชาการของอาจารยืในมหาวิทยาลัยได้อย่างยิ่ง และเข้าใจว่าทำได้ไม่ยากอย่างที่คิด มีประโยชน์ต่อตัวเราและสถาบันอย่างมาก เป็นการท้าทายตัวเอง เยี่ยมค่ะ

ณิชาภัทร ฉายศรี (สำนักงานกิจการนักศึกษา) เมื่อ 2015-12-22 13:05:07 Like


เข้าสู่ระบบ

เข้าสู่ระบบด้วย username และ password เดียวกับระบบ Intranet