ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต
[2558] การเตรียมบทความวิจัยเพื่อการเผยแพร่ผลงานในรูปแบบการประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ (Proceedings) อย่างไร?
การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการในรูปแบบการประชุมวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ (Proceedings)
โดย ดร.จิระพรชัย สุขเสรี หมวดวิชาเภสัชเคมีวิเคราะห์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษามีพันธกิจหลักที่สําคัญในด้านการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทํานุบํารุงศาสนาและศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านการวิจัย ควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนบุคคลากรให้ดำเนินการวิจัย เพื่อศึกษาค้นคว้าหาความรู้ และ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพื่อเป็นการพัฒนาตนเองและองค์กรได้ และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาวิชาการ และการประกันคุณภาพการศึกษา เพราะฉะนั้นแล้วเมื่ออาจารย์หรือนักวิจัยได้ดำเนินวิจัยเสร็จสิ้นแล้วการเผยแพร่ผลงานวิจัยก็เป็นแนวทางที่เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่ค้นพบหรือศึกษาให้ผู้อื่นรับทราบ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบบทความวิจัยลงในวารสารระดับชาติหรือนานาชาติ หรือในรูปแบบของการนำเสนอด้วยวาจาหรือโปสเตอร์ในงานประชุมวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ สำหรับแนวทางในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเผยแพร่ผลงานวิจัยในที่ประชุมวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ มีรายรายละเอียดดังต่อไปนี้
การเผยแพร่ในที่ประชุมวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ (Conference) เป็นการส่งบทความวิจัยเข้าร่วมการนำเสนอในการประชุมวิชาการ ในรูปแบบโปสเตอร์หรือแบบปากเปล่า โดยบทความวิจัยจะต้องผ่านการพิจารณาประเมินคุณค่าและความถูกต้องจากบรรณาธิการ ข้อดีของการเผยแพร่รูปแบบนี้คือ ผลงานวิจัยได้รับการเผยแพร่สู่ผู้สนใจได้อย่างรวดเร็ว สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิจัยท่านอื่นได้ และเป็นการสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยในสาขาเดียวกันเพิ่มขึ้น แต่มีข้อจำกัดในกรณีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวนมากทำให้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นไปได้ยาก ซึ่งผู้วิจัยจะต้องพิจารณารายละเอียดต่อไปนี้
1. การค้นหางานประชุมวิชาการที่ต้องการจะนำเสนอผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับงานวิจัยของตนเอง ทั้งระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งงานประชุมวิชาการต้องประกอบด้วยหน่วยงานที่จัดประชุม คณะกรรมการ บรรณาธิการ ตลอดจนพิจารณาความเกี่ยวข้องของสาขาที่ประชุมวิชาการให้ตรงกับความเชี่ยวชาญของนักวิจัย
2. ตรวจสอบเกี่ยวกับการเผยแพร่ผลงานสำหรับงานประชุมวิชาการที่ผู้วิจัยสนใจนั้น คือ มีรายงานสืบเนื่องการประชุมวิชาการ (หรือที่เรียกว่า Proceedings) ด้วยหรือไม่ หากมีควรเตรียมบทความวิจัยฉบับสมบูรณ์ (Full Paper) ไว้ด้วยเพื่อการตีพิมพ์ในการประชุมวิชาการนั้นๆ แต่ถ้างานประชุมวิชาการนั้นไม่มี รายงานสืบเนื่องการประชุมวิชาการ ผู้วิจัยสามารถนำบทความฉบับสมบูรณ์นั้นไปตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการอื่น ๆ ได้ต่อไป
3. การเตรียมบทคัดย่อของงานวิจัยที่จะนำไปเสนอในงานประชุมวิชาการ โดยดูรายละเอียดให้ถูกต้องตามที่งานประชุมต้องการ เช่น การใช้คำขึ้นต้นชื่อเรื่องด้วยอักษรตัวใหญ่ จำนวนคำ ตัวอักษรและขนาดของตัวอักษร และการจัดวางรูปแบบ
4. ควรศึกษาวิธีการลงทะเบียนและการนำส่งเอกสารต้นฉบับบทคัดย่อหรือบทความฉบับสมบูรณ์ เช่น ผ่านทางอีเมล์ หรือเว็บไซต์ของงานประชุมนั้นๆ
5. ต้องศึกษาเกี่ยวกับค่าลงทะเบียนอย่างละเอียด คือ มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ กำหนดการในการจ่ายวันที่เท่าไหร่ การชำระเงินอยู่ในรูปแบบไหน รวมถึงการส่งเอกสารหลักฐานการชำระเงิน (ส่วนใหญ่การชำระค่าลงทะเบียนล่วงหน้าจะถูกกว่าการชำระในวันงานประชุม)
6. หาแหล่งเงินทุนที่จะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปนำเสนอและขั้นตอนการขออนุมัติการเดินทางในการไปนำเสนอจากหน่วยงานต้นสังกัด
7. ติดตามผลการตอบรับให้ไปนำเสนอผลงานวิจัยจากผู้จัดงานประชุม เมื่อได้รับการตอบรับแล้ว ควรศึกษารายละเอียดของวิธีการนำเสนอให้ละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งผู้จัดจะแจ้งเวลาและขั้นตอนการนำเสนอมาให้
กรณีนำเสนอรูปแบบโปสเตอร์ ควรวางแผนการเตรียมการจัดทำโปสเตอร์ไว้ล่วงหน้า โดยศึกษารายละเอียดที่งานประชุมกำหนดเกี่ยวกับการนำเสนอรูปแบบโปสเตอร์ เช่น ขนาดของโปสเตอร์กว้าง x ยาวเท่าไร ติดตั้งในแนวตั้งหรือแนวนอน ใช้ติดตั้งบนพื้นที่แบบใด รวมทั้งชนิดของวัสดุในการติด เช่น เจาะมุมใส่ห่วง หรือติดด้วยเทปกาว หรืออุปกรณ์แขวน การออกแบบโปสเตอร์ ควรให้เนื้อหาที่ครอบคลุมเนื้อหาการวิจัยที่สำคัญ เหมาะสมกับขนาดของโปสเตอร์ ไม่ให้ขนาดตัวอักษรเล็กเกินไป เลือกใช้สีที่เหมาะสมดึงดูดความสนใจ อ่านได้ชัดเจนอย่างน้อยในระยะ 1 เมตร ใช้ภาษาที่เหมาะสมและถูกต้อง โดยมีการนำเสนอด้วยรูปภาพ กราฟ หรือตาราง โดยเลือกเฉพาะข้อมูลที่สำคัญ และโดดเด่น การจัดพิมพ์โปสเตอร์ ควรเลือกใช้วัสดุในการพิมพ์โปสเตอร์ที่เหมาะสม สวยงาม คงทน ไม่มันวาวหรือมีแสงสะท้อน และสามารถพกพาในระหว่างการเดินทางได้สะดวกโดยที่ไม่เกิดการชำรุดหรือเสียหายง่าย ก่อนวันงานประชุมควรมีการวางแผนเรื่องของการอธิบายรายละเอียดของงานวิจัยให้ผู้สนใจรับฟังและเข้าใจได้ง่าย โดยเฉพาะการนำเสนอในต่างประเทศควรเตรียมเรื่องภาษาที่ใช้ในการสื่อสารให้เข้าใจง่ายชัดเจน และเตรียมตอบคำถาม โดยทดลองให้ผู้อื่นช่วยอ่านและตั้งคำถามเพื่อเป็นการเตรียมหาคำตอบล่วงหน้า ลดอาการตื่นเต้น เมื่อถึงวันจัดงานประชุมควรศึกษาเรื่องเวลา และสถานที่ที่ผู้จัดการประชุมกำหนดให้ติดตั้งโปสเตอร์ล่วงหน้า
กรณีนำเสนอรูปแบบปากเปล่า ใช้เวลาในการนำเสนอคนละกี่นาที ภาษาที่ใช้ในการนำเสนอ สถานที่หรือห้องประชุม สื่อประกอบการนำเสนอ เช่น PowerPoint ผู้จัดให้นำสื่อไปเตรียมลงเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อนเวลาพูดเมื่อไหร่ ที่ไหน เพื่อจะได้เตรียมตัวล่วงหน้าได้ทันตามกำหนดเวลา จากนั้นทำการออกแบบและผลิตสื่อที่จะใช้ประกอบการนำเสนอ โดยกำหนดตำแหน่งหัวข้อเรื่อง เนื้อหา รูปภาพ กราฟ หรือ ตาราง เฉพาะข้อมูลที่สำคัญ และพิจารณาความเหมาะสมในเรื่อง จำนวนสไลด์ ขนาดและสีตัวอักษร สีพื้นสไลด์ที่เหมาะสม ดึงดูดความสนใจ อ่านง่าย ชัดเจน สบายตา มีใจความสำคัญที่ต้องการจะนำเสนอ โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับเวลาและกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นจึงเตรียมตัวโดยการซักซ้อมการนำเสนอและใช้สื่อให้สอดคล้องกับกำหนดเวลาที่ทางผู้จัดงานประชุมกำหนด
หลักการเขียนบทความวิจัยกรณีที่งานประชุมวิชาการนั้นๆ มีรายงานสืบเนื่องการประชุมวิชาการ
การเขียนบทความฉบับสมบูรณ์ในเชิงวิชาการที่ถูกต้องนั้น จะต้องเขียนให้ครอบคลุมสาระตามกระบวนการวิจัย โดยเขียนให้กระชับ ครบถ้วน ชัดเจน และศึกษารูปแบบการเขียนตามที่แหล่งเผยแพร่กำหนด เช่น รูปแบบการใช้ตัวอักษรอะไรและขนาดเท่าใด การตั้งค่าขอบกระดาษ ซึ่งส่วนประกอบของบทความวิจัยทั่วไป มีดังนี้
1. ชื่อเรื่อง ต้องระบุเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ หรือมีทั้ง 2 แบบ
2. ชื่อผู้วิจัย ให้ระบุชื่อเต็ม – นามสกุลเต็ม รวมทั้งระบุหน่วยงานต้นสังกัด หมายเลขโทรศัพท์/โทรสาร และE-mail address ที่สามารถติดต่อได้ง่าย
3. บทคัดย่อ ให้มีทั้งภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ควรศึกษาว่าบทคัดย่อให้เขียนได้ทั้งหมดกี่คำ โดยทั่วไปความยาวไม่เกินอย่างละ 250 คำ ซึ่งควรเขียนเฉพาะสาระสำคัญ ครบถ้วน ตรงประเด็น สั้นแต่กระชับ บทคัดย่อควรประกอบด้วย วัตถุประสงค์การวิจัย ตัวแปรและกลุ่มตัวอย่าง วิธีดำเนินการวิจัย ผลการวิจัย ข้อเสนอแนะ และสรุปผลการวิจัย
4. คำสำคัญ ให้ระบุคำสำคัญที่เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้เป็นคำค้นในระบบฐานข้อมูล ส่วนมากแล้วไม่เกิน 5 คำ
5. บทนำ อธิบายภูมิหลังที่มาความสำคัญของปัญหาและเหตุผลที่นำไปสู่การศึกษาวิจัย หรือการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม มีแนวคิดอย่างไรในการแก้ปัญหาหรือการปรับปรุงพัฒนา พร้อมระบุแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบได้
6. วัตถุประสงค์ของการวิจัย ระบุว่าต้องการทำอะไรและมีจุดหมายปลายทางหรือผลลัพธ์สุดท้ายที่ผู้วิจัยต้องการคืออะไร
7. วิธีดำเนินการวิจัยและระเบียบวิธีวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย รวมถึงสถิติที่ใช้ในงานวิจัย (หากมี)
8. ผลการวิจัย ควรเสนอผลการวิจัยอย่างชัดเจน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ควรเลือกรูปแบบการนำเสนอผลการวิจัยที่น่าสนใจ เช่น ถ้าเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่มีตัวเลขหรือตัวแปรจำนวนมาก ควรนำเสนอด้วยตารางหรือแผนภูมิ โดยมีการแปลความหมายและวิเคราะห์ผลที่ค้นพบร่วมด้วย
9. การอภิปรายผลหรือการวิจารณ์ เป็นการชี้แจงผลการวิจัยว่าตรงกับวัตถุประสงค์หรือสมมติฐานการวิจัยที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยที่สอดคล้องหรือขัดแย้งกับหลักทฤษฏีหรือผลการวิจัยของผู้อื่นที่มีอยู่ก่อนหรือไม่ อย่างไร และการที่ผลการวิจัยออกมาเป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใด ซึ่งการอภิปรายผลการทดลองควรใช้คำพูดที่กระชับ เข้าใจง่าย และพร้อมระบุแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบได้
10. สรุปผลการทดลอง ควรสรุปว่าผลการวิจัยนั้นตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้อย่างไร ผลที่ได้รับสามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรต่อได้บ้าง และหากสามารถพัฒนาต่อยอดได้ควรมีการเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์และให้แนวทางสำหรับการวิจัยต่อไป
11. บรรณานุกรม ควรระบุรายการแหล่งข้อมูลในการอ้างอิงเนื้อหา (cite index) และการอ้างอิงท้ายเล่ม โดยเลือกแหล่งข้อมูลที่สำคัญ ตามรูปแบบของแหล่งเผยแพร่นั้นๆ กำหนด
นำเสนอให้เห็นอีกช่องทางในการนำเสนอผลงานวิจัยทาง proceeding ครับ
ดร.จิระพรชัย สุขเสรี ให้ความรู้เป็นประโยชน์ในการที่จะเผยแพร่ผลงานทางวิชาการในการประชุมระดับชาติและนานาชาติได้เป็นขั้นตอนที่ละเอียด เข้าใจง่าย ชัดเจนทำให้สามารถนำไปใช้แประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
อยากให้ทางมหาวิทยาลัย มีจัดอบรมเเบบกลุ่มย่อยในหัวข้อ"เทคนิคการเขียนบทความจากงานวิจัยเพื่อเผยเเพร่ในงานประชุมนานาชาติ" ที่เชิญวิทยากรเก่งๆมาจัดเวิร์คช๊อพเทคนิคการเขียน การเตรียมเอกสารต่างๆ โดยจัดเเบบครึ่งวันเเละเห็นผลได้จริงหรืออาจเริ่มจากพี่เลี้ยงนักวิจัยที่มีเเล้วของเเต่ละคณะช่วยเทรนด์เทคนิคต่างๆเเก่ผู้สนใจจริงโดยไม่บังคับให้ร่วมกิจกรรมดังกล่าว เเละมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ
เข้าสู่ระบบด้วย username และ password เดียวกับระบบ Intranet