KM Rangsit University

ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต

ชุมชนนักปฏิบัติ

[2558] การเตรียมบทความวิจัยเพื่อการตีพิมพ์ลงในวารสารระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

การตีพิมพ์ผลงานวิจัย

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา สุริยะพรหม  คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ค้นพบออกสู่สังคมเพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย การเผยแพร่งานวิจัยมีหลายรูปแบบ เช่น การเผยแพร่ในที่ประชุมวิชาการทั้งในระดับชาติหรือนานาชาติ ในรูปแบบโปสเตอร์ แบบปากเปล่าและตีพิมพ์รวมเล่มผลงานวิจัยเป็นเอกสารประกอบการประชุมวิชาการ (proceedings) นอกจากนี้ยังมีช่องทางการเผยแพร่งานวิจัยผ่านทางการตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับการยอมรับมาก โดยมีขั้นตอนโดยเริ่มตั้งแต่ การส่งต้นฉบับงานวิจัยที่เขียนสมบูรณ์แล้วพร้อมทั้งจดหมายนำ (cover letter) ไปยังบรรณาธิการของวารสาร ซึ่งจดหมายนำควรอธิบายเบื้องต้นถึงจุดเด่นและสิ่งที่งานวิจัยนี้ได้ค้นพบใหม่ จากนั้นเมื่อบรรณาธิการได้รับต้นฉบับงานวิจัยแล้วจะกลั่นกรองในเบื้องต้นก่อน โดยบรรณาธิการอาจจะปฏิเสธถ้าเนื้อหาของงานวิจัยไม่ตรงกับขอบเขตของวารสาร หรือบรรณาธิการจะรับไว้ในเบื้องต้นก่อนเพื่อพิจารณาจัดส่งต่อไปให้ผู้ประเมิน (reviewers) ส่วนผลของการพิจารณาจากผู้ประเมินอาจจะเป็นไปได้ 3 กรณีคือ ตอบรับให้ตีพิมพ์ (accept) ส่งกลับมาปรับปรุงแก้ไข (revise) และปฏิเสธ (reject)

ในปัจจุบันมีวารสารวิชาการจำนวนมากให้นักวิจัยเลือกตีพิมพ์ผลงานวิจัย โดยแต่ละวารสารจะมีวัตถุประสงค์และ scope ในการตีพิมพ์แตกต่างกัน รวมทั้งแต่ละวารสารจะมีคุณภาพและมาตรฐานที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงต้องเลือกวารสารให้เหมาะสมกับงานที่จะตีพิมพ์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีบริษัทหรือหน่วยงานที่ให้บริการฐานข้อมูลที่มีการคิดค่าดัชนีอ้างอิง (impact   factor) ให้กับวารสารอยู่หลายแห่ง เพื่อจัดลำดับคุณภาพของวารสาร เช่น ฐานข้อมูลของต่างประเทศได้แก่ ดัชนีอ้างอิง SCImago ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล Scopus ของบริษัท Elsevier และดัชนีอ้างอิง ISI ของบริษัท Thomson Reuters ส่วนข้อมูลที่เป็นของคนไทยคือ ดัชนีอ้างอิง Thailand  Citation  Index (TCI) ของศูนย์อ้างอิงดัชนีวารสารไทย

ภายหลังจากที่เลือกวารสารที่จะส่งตีพิมพ์ได้แล้ว ผู้เขียนควรเข้าไปอ่านคำแนะนำการเขียนสำหรับ
ผู้นิพนธ์  “Author Guidelines”  ของวารสารนั้นๆ แล้วเลือกชนิดของบทความที่จะตีพิมพ์ และทำตามรูปแบบที่วารสารกำหนด ซึ่งแต่ละวารสารมีรูปแบบในการเขียนและรูปแบบของเอกสารอ้างอิงที่แตกต่างกัน ส่วนประกอบพื้นฐานของต้นฉบับที่เขียนส่วนใหญ่จะประกอบด้วย ชื่อเรื่อง บทคัดย่อ บทนำ วัสดุและวิธีการ ผลการทดลอง สรุปและอภิปรายผล คำขอบคุณ และเอกสารอ้างอิง เป็นต้น จากนั้นส่งต้นฉบับงานวิจัยพร้อมทั้งจดหมายนำ ไปยังบรรณาธิการ ซึ่งในปัจจุบันนี้วารสารหลายฉบับได้ให้ผู้เขียนสามารถลงทะเบียนเข้าใช้งานได้โดยตรงและมีช่องทางให้ทำการส่งต้นฉบับงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ทางออนไลน์ได้เลย ส่วนมากก่อนถึงขั้นตอนการรับพิจารณาของวารสารจะมีส่วนของ submission checklist ที่ให้ผู้เขียนได้ตรวจสอบความถูกต้องและรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบถ้วนในเบื้องต้นก่อนที่จะทำการยื่นขอตีพิมพ์งานวิจัยกับทางวารสาร ขั้นตอนต่อมาเมื่อผู้เขียนส่งต้นฉบับงานวิจัยเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนสามารถติดตามผลความคืบหน้าของกระบวนการต่าง ๆ ได้ผ่านออนไลน์ หรือการเขียนจดหมายโดยตรงไปถามทางบรรณาธิการ ซึ่งระยะเวลาในการคอยผลจากผู้ประเมินและการพิจารณาของวารสารจะใช้เวลาเร็วช้าแตกต่างกันขึ้นกับวารสารนั้น ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 3 เดือน ส่วนกรณีที่บทความวิจัยถูกส่งกลับมาแก้ไข ผู้เขียนควรรีบดำเนินการแก้ไขให้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดและรีบส่งกลับคืนไปยังวารสาร โดยควรที่จะเน้นให้ชัดเจนว่าได้ทำการแก้ไขตามคำแนะนำของผู้ประเมินแล้วในส่วนใดบ้าง กรณีที่ถูกปฏิเสธผู้เขียนอาจนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงและแก้ไขตามที่ผู้ประเมินแนะนำ จากนั้นจึงส่งไปยังวารสารอื่นที่มีค่าดัชนีอ้างอิงที่ลดลงต่อไป

 

กนกรัตน์ ครูกิมโสม (สถาบันวิจัยเพื่อมหาวิทยาลัยรังสิต) เมื่อ 2015-12-16 15:50:00 Like 0

เป็นการนำเสนอให้เห็นขั้นตอนปฏิบัติที่ดีมากครับ

มีเตือนข้อควรระวังที่นำไปปฎิบัติได้จริง

มีคำถามว่า มหาวิทยาลัยรังสิตมีผู้เชี่ยวชาญตรวจภาษาอังกฤษ manuscript ให้หรือไม่ครับ

สมพล แพรพันธ์ (คณะเทคนิคการแพทย์) เมื่อ 2015-12-16 19:24:11 Like

รองศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา สุริยะพรหม ได้ให้ข้อคิดไว้ดีมากๆ ค่ะโดยเฉพาะความคิดเห็นที่ว่าควรที่จะทำงานวิจัย 1 ชิ้นงานให้มีระดับคุณภาพที่ดีมากไม่ควรแตกออกเป็นหลายชิ้นงานซึ่งสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้อีกค่ะ

รัชนีภรณ์ ณ ถลาง (สำนักงานสวัสดิการสุขภาพ) เมื่อ 2015-12-17 09:06:20 Like

รองศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา สุริยะพรหม ได้ให้ข้อคิดไว้ดีมากๆ ค่ะโดยเฉพาะความคิดเห็นที่ว่าควรที่จะทำงานวิจัย 1 ชิ้นงานให้มีระดับคุณภาพที่ดีมากไม่ควรแตกออกเป็นหลายชิ้นงานซึ่งสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้อีกค่ะ

รัชนีภรณ์ ณ ถลาง (สำนักงานสวัสดิการสุขภาพ) เมื่อ 2015-12-17 09:06:55 Like

รศ.ดร.กาญจนา สุริยะพรหมได้ให้แนวคิดในการพิมพ์ผลงานวิจัย   การเลือกวาสรารได้แนวทางดีมากๆ ค่ะ

ณิชาภัทร ฉายศรี (สำนักงานกิจการนักศึกษา) เมื่อ 2015-12-22 12:57:10 Like

เป็นการถอดความรู้ทึ่มีประโยชน์มากค่ะ yes

วิภาพร (เภสัชศาสตร์)

วิภาพร ขจรวงศ์วัฒนา (คณะเภสัชศาสตร์) เมื่อ 2018-05-18 14:06:48 Like


เข้าสู่ระบบ

เข้าสู่ระบบด้วย username และ password เดียวกับระบบ Intranet