ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต
มัคคุเทศก์มีความจำเป็นในการนำนักท่องเที่ยวท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ หรือไม่
การเรียนการสอนวิชา TRM 225 งานมัคคุเทศก์ โดยให้นักศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติงานได้จริง
1.ชื่อ-สกุล ผู้เล่าเรียน ผศ.นพปฎล ธาระวานิช วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ
2.ชื่อ-สกุล ผู้เล่าเรียน ผศ. นพปฎล ธาระวานิช วิทยาลัย การท่องเที่ยวและการบริการ
3. บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่าเรื่อง ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการจัดการการท่องเที่ยวและการบริการ
4. เรื่องที่เล่า
การเรียนการสอนวิชา TRM 225 งานมัคคุเทศก์ โดยให้นักศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติงานได้จริง การเรียนการสอนในรายวิชานี้ได้มีการทำการวิจัย โดยได้ทุนสนับสนุนจากศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต และได้รับการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารพัฒนาการเรียน การสอน มหาวิทยาลัยรังสิต ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2554 แล้ว หลังจากนั้นก็ได้มีการปรับการเรียน การสอน โดยเน้นให้นักศึกษามีกิจกรรมในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียนมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการฝึกพูด ฝึกบรรยายเนื้อหาต่างๆ ตั้งแต่บุคลิกภาพ การพูด การใช้คำ รูปประโยค เนื้อหาและมีการสอดแทรกให้นักศึกษาฝึกใช้ภาษาอังกฤษ โดยนักศึกษาฝึกพูด และบรรยายทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียนในสถานที่จริง ทำให้นักศึกษามีความกล้าที่จะแสดงออกและไม่ประหม่าในการพูดในที่ชุมชน รวมทั้งมีการส่งเสริมให้นักศึกษาฝึกฝนทักษะเพิ่มเติมในการจัดการแสดงศักยภาพการพูด การบรรยายแหล่งท่องเที่ยวร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักศึกษาและส่งเสริมการแสดงออก โดยให้มีเวทีในการแสดงศักยภาพและสร้างความปรองดองกันกับนักศึกษาต่างมหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2560 ได้มีการส่งนักศึกษาไปร่วมการแข่งขันทักษะมัคคุเทศก์ทั้งภาษาไทยและภาษา อังกฤษที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ปรากฏว่า นักศึกษาสามารถคว้ารางวัลชมเชยทักษะมัคคุเทศก์ภาษาอังกฤษมาได้
5. บริบทหรือความเป็นมาของเรื่องที่เล่า
การเรียน การสอนก่อนทำการวิจัย จะเน้นเนื้อหา ข้อมูลที่สำคัญและเน้นผลสัมฤทธิ์จากการสอบกลางภาค และปลายภาค แต่หลังจากที่ได้ทำการวิจัยแล้ว พบว่า การเรียน การสอนแบบเดิมนั้นไม่สามารถสร้างเสริมให้นักศึกษาสามารถประยุกต์นำเอาวิชาความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพได้จริง งานมัคคุเทศก์จะเน้นเรื่องการบริการ การดูแลนักท่องเที่ยวและการนำเที่ยว โดยการบรรยายให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และนักศึกษาต้องฝึกเพื่อให้มีความสามารถในการบรรยายเรื่องราวของแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้ ความเพลิดเพลิน และความพึงพอใจในการบริการของมัคคุเทศก์ ผู้เล่าเรื่องจึงเปลี่ยนวิธีการสอนให้นักศึกษามีกิจกรรมด้วยการแสดงออก โดยเฉพาะการพูด การบรรยายเรื่องราวต่างๆ ทำให้นักศึกษาสามารถแสดงออกได้ดีเป็นส่วนใหญ่ แต่จะมีนักศึกษาบางคนที่ไม่สามารถแสดงออกมาได้อย่างเต็มที่ จึงต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษามีความกล้าที่จะพูด และแสดงออกได้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 เป็นต้นมาก็ได้มีการปรับปรุงและนำเทคนิคใหม่ๆ มาใช้ในการเรียนการสอน และให้นักศึกษาทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทั้งในชั้นเรียน และในสถานที่ท่องเที่ยวจริง เพื่อให้มีความพร้อมและสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้จริงในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2560 ผู้สอนได้ผลิตหนังสือการบรรยายวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้นักศึกษาอ่าน ทำความเข้าใจ และสามารถใช้ภาษาอังกฤษอย่างถูกต้องในการบรรยายแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญที่สุดของประเทศไทย พร้อมทั้งได้มีการทดสอบนักศึกษาในการบรรยายภาพได้อย่างถูกต้องด้วย
6. วิธีการ/ขั้นตอน หรือกระบวนการที่ทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จ
การเน้นให้นักศึกษาสามารถนำวิชาความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงในการทำงาน ควรมีขั้นตอน ดังนี้
6.1 สอบถามประวัติเดิมของนักศึกษา ภูมิลำเนา พื้นฐานทางครอบครัวและสถานที่ที่นักศึกษาชอบ หรือประทับใจหรืออยู่ในบ้านเกิดของตนเพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการบรรยายของนักศึกษา
6.2 ให้นักศึกษาทุกคนทดสอบแนะนำตัวเองให้เพื่อนรู้จัก เพื่อสร้างความกล้า ความคุ้นเคยกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน
6.3 ให้นักศึกษาฝึกบรรยายแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ไม่ว่า จะเป็นประเภทธรรมชาติ หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
6.4 เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนในแต่ครั้ง จะให้นักศึกษาถามคำถาม และวิเคราะห์การรับรู้ข้อมูลของนักศึกษา และอธิบายเพิ่มเติม รวมทั้งให้นักศึกษาที่ได้รับการแบ่งเป็นกลุ่มช่วยกันคิดหาคำตอบและช่วยกันตอบคำถาม
6.5 ในการสอนครั้งต่อไปจะนำคำตอบในคำถามที่นักศึกษาไม่เข้าใจมาอธิบายซ้ำ พร้อมทั้งซักถามจนเข้าใจ จึงจะเริ่มบทเรียนใหม่ และมีการนำนักศึกษาที่ยังไม่สามารถปรับตัวในการพูดให้ฝึกพูดในหัวข้อเดิมซ้ำเพื่อให้มีความกล้า และสามารถแสดงศักยภาพของตนออกมาได้อย่างเต็มที่
7. เทคนิคหรือกลยุทธ์ที่ทำให้เกิดความสำเร็จ
การเข้าห้องเรียนก่อนเวลาสอน และพยายามสอนให้เต็มเวลาที่มี เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงเรื่องเวลา เป็นเรื่องที่สำคัญในการทำงานในฐานะมัคคุเทศก์หรือผู้นำเที่ยว ผู้เล่าเรื่องมีความตั้งใจที่ให้ความรู้แก่นักศึกษาอย่างเต็มที่ เปิดโอกาสให้นักศึกษาซักถาม และร่วมคิดวิเคราะห์กรณีศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการรับนักท่องเที่ยว การนำเที่ยว การบริหารจัดการในแหล่งท่องเที่ยว และทักษะที่ใช้ในการบรรยายในแหล่งท่องเที่ยว
8. ผู้ที่มีส่วนร่วมทำให้เกิดความสำเร็จ และบทบาทของบุคคล
ตัวนักศึกษาเอง ถ้ามีความรู้พื้นฐานด้านการท่องเที่ยว การนำเที่ยวก็จะพยายามให้นักศึกษาผู้นั้นแสดงความรู้ที่มีออกมา ถ้ามีน้อยก็จะให้ค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาตอบคำถาม รวมทั้งได้พยายามให้นักศึกษาที่ยังมีข้อมูลน้อยและไม่กล้าแสดงออกได้มีโอกาสแสดงออกอย่างเต็มที เพื่อให้สามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริงของตนออกมาให้เป็นที่ประจักษ์
9. อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงานและแนวทางในการแก้ปัญหา/อุปสรรคดังกล่าว
9.1 นักศึกษาจะรู้สึกท้อแท้ เพราะไม่สามารถจำข้อมูลที่เตรียมมาได้ ต้องนำมาอ่านซึ่งไม่สามารถทำได้ในการทำงานจริง
9.2 นักศึกษาไม่ได้มีความต้องการที่จะเป็นมัคคุเทศก์หรือผู้นำเที่ยวในอนาคต มองว่า ที่เลือกเรียนท่องเที่ยวเพราะว่า จะได้เที่ยว แต่ไม่ทราบว่า การเรียนเรื่องท่องเที่ยวเป็นสหวิทยาการต้องมีความรู้ในหลายๆด้าน และต้องสามารถนำความรู้มาเชื่อมโยงและใช้ในการทำงาน
9.3 นักศึกษาไม่ต้องการเผชิญกับความกดดันจากการให้บริการ ซึ่งอยู่ในสายตาของนักท่องเที่ยวตลอดเวลา เกรงว่า จะทำไม่ได้ และจะถูกต่อว่า
9.4 นักศึกษาไม่ชอบการเดินทางภายในประเทศและต้องให้บริการนักท่องเที่ยวเพราะมีอากาศร้อน หรือฝนตกหนัก เนื่องจากนักศึกษารุ่นใหม่มองว่า การเป็นมัคคุเทศก์เป็นงานที่หนักเกินไป การหางานทำในสำนักงานที่มีรายได้สูงน่าจะเป็นทางเลือกของนักศึกษามากกว่า
10. ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น คือ
10.1 นักศึกษาที่ไม่มีพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว และไม่เคยพูดหรือบรรยายให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวมาก่อน เมื่อได้เรียนรู้จึงเกิดความมั่นใจและกล้าที่จะพูดมากขึ้นโดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ
10.2 นักศึกษาส่วนใหญ่ได้พัฒนาทักษะของตนเองให้สูงขึ้นก่อนการเรียน การสอน
11. การเรียนรู้ของผู้เล่าเรื่องจากประสบการณ์ความสำเร็จดังกล่าว
ผู้สอนต้องใช้ความอดทน พยายามสอนซ้ำจนกว่านักศึกษาที่มีพัฒนาการช้าจะเข้าใจ และต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา ด้วยการเล่าประสบการณ์การทำงานของตน/ผู้เล่าเองในอดีตให้ฟังเพื่อให้นักศึกษามีความหวังและตั้งใจที่จะทำงานในสาขาอาชีพมัคคุเทศก์หรือผู้นำเที่ยวต่อไป
12. สมรรถนะ (ความรู้ ทักษะ หรือทัศนคติ) ของผู้เล่าเรื่อง
เป็นมัคคุเทศก์และผู้นำเที่ยวทั้งสังกัดบริษัทและไม่มีสังกัดจนมาเป็นผู้บริหารธุรกิจนำเที่ยวกว่า 25 ปี และ นำความรู้ ประสบการณ์ในการทำงานมาถ่ายทอดให้กับผู้อบรมมัคคุเทศก์ และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ มากกว่า 30 แห่ง มากว่า 20 ปี
13. ผลงานเชิงประจักษ์ของผู้เล่าเรื่อง คือ
13.1 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการท่องเที่ยวในการวิพากษ์หลักสูตรการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับมัคคุเทศก์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากว่า 20 ปี
13.2 เป็นวิทยากรพิเศษและอาจารย์พิเศษบรรยายในด้านการท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ และความรู้ในวิชาที่เกี่ยวข้องมากว่า 20 ปี
ผู้เล่าเรื่อง มีความคิดว่า มัคคุเทศก์ยังมีความจำเป็นในการนำนักท่องเที่ยวเที่ยวชมตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม รวมไปถึงวิถีชีวิต ประเพณีและกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวมีความอยากรู้ และเรียนรู้เรื่องที่ท้องถิ่นของตนไม่มี ส่วนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้เอง โดยไม่ต้องใช้บริการของมัคคุเทศก์ในการให้ความรู้แต่อย่างใด
ส่วนนักศึกษานั้นมีความคิดอยากจะเดินทางท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศ จึงมักจะอยากไปทำงานเป็นผู้นำเที่ยวมากกว่า เพราะได้เปิดโลกทัศน์ในต่างประเทศ ได้หาประสบการณ์แปลกใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน รวมทั้งไม่ต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนมากของประเทศไทยของเราด้วย
นักท่องเที่ยวในปัจจุบันนิยมหาข้อมูลท่องเที่ยวเองจากแหล่งข้อมูลต่างๆ
แต่หากมีมัคคุเทศก์ที่สามารถนำ "story" มาเล่าให้เกิความตื่นเต้นน่าสนใจประกอบข้อมูล จะทำให้การท่องเที่ยวสถานที่นั้นๆประทับใจและอยู่ในความทรงจำของนักท่องเที่ยว รวมทั้ง นักท่องเที่ยวสามารถแนะนำผู้อื่นให้มาใช้บริการจากมัคคุเทศก์คนนั้นต่อๆไป
มัคคุเทศก์ที่มีคุณภาพและเป็นผู้ให้บริการที่ดีจึงยังมีความต้องการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
มีความจำเป็น เนื่องจากมัคคุเทศก์เป็นเหมือนฑูตทางวัฒนธรรมตัวแทนของคนไทยให้แก่นักท่องเที่ยว เป็นคนที่ที่นักท่องเที่ยวให้ความไว้วางใจ ช่วยทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจในการมาเดินทางมาท่องเที่ยว
ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งค่ะ เนื่องจากแท้จริงแล้วลูกค้าหรือลูกทัวร์ในฐานะของความเป็นมนุษย์ยังคงต้องการได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้รวมถึงข้อมูลภูมิหลังทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า รวมถึงเกล็ดความรู้ต่างๆ ผ่านตัวบุคคลหรือมัคคุเทศก์ ทั้งนี้ยังรวมถึงความต้องการด้านความรู้สึก ความตื่นเต้น ความสนุกสนาน การมีปฏิสัมพันธ์กันในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว
มัคุเทศก์ มีความจำเป็นอยู่ครับ เพราะคนเรานอกจากใช้ภาษาพูดแล้วภาษาท่าทาง หรือภาษากายในการสื่อสาร นอกเหนือจากการพูด หรืออ่านหาข้อมูลเพียงอย่างเดียว ซึ่งการแสดงอิริยาบทเป็นการสื่อสารที่ดีอยู่และยังจำเป็นที่ต้องมีคนเป็นมัคุเทศก์อยู่ครับ
มีความจำเป็น เพราะนักท่องเที่ยวบางกลุ่มต้องการคำแนะนำ และทราบความเป็นมาของสถานที่ต่าง ๆ มากกว่าการหาข้อมูลด้วยตนเอง
การเป็นมัคคุเทศก์มืออาชีพ เป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนและเพิ่มความเชี่ยวชาญได้ตามประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น การเปิดโอกาสให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติจริง ในการเรียนการสอน จะเป็นการปูพื้นฐานทักษะการเป็นมัคคุเทศก์ให้แก่นักศึกษาเพื่อพร้อมต่อการประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป
เข้าสู่ระบบด้วย username และ password เดียวกับระบบ Intranet