การเรียนรู้ของนักศึกษาในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน นักศึกษาส่วนใหญ่จะใช้เทคโนโลยีทางการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ อาทิเช่น การใช้งานอินเตอร์เน็ต ผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ในการเข้าถึงความรู้ แต่ถึงแม้วิธีการดังกล่าวที่ได้รับความนิยมจะช่วยให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูล แต่แหล่งการเรียนรู้ดังกล่าวยังมีจุดบกพร่องในแง่ของความถูกต้องของข้อมูล และผลกระทบอีกประการหนึ่งของการใช้เทคโนโลยี นั่นก็คือ ทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้เรียน ทั้งนี้เนื่องจากการที่ผู้เรียนต้องการเพียงคำตอบของสิ่งที่ค้นคว้ามากกว่าการแสวงหาวิธีการได้มาซึ่งคำตอบ ประเด็นดังกล่าวทำให้ผู้เรียน ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ และขาดการกลั่นกรององค์ความรู้ที่ได้รับ ดังนั้นเพื่อเป็นการลดผลกระทบดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งที่ผู้สอนต้องคัดกรองเนื้อหาและแหล่งเรียนรู้ที่น่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบและอ้างอิงได้ให้กับผู้เรียน ตลอดจนคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนรู้ สามารถประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางวิชาการได้ เทคนิคสำคัญประการหนึ่งที่ผู้สอนเลือกใช้ในการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ นั่นก็คือ การจัดทำฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บนแอพพลิเคชั่น iTunesU เพื่อรวบรวมข้อมูล เอกสารประกอบการเรียน อาทิ คำบรรยาย ตัวบทกฎหมาย, ภาพประกอบ รวมถึง แบบฝึกหัด เพื่อให้นักศึกษาได้ค้นคว้าทบทวนพร้อมฝึกฝนทักษะได้ด้วยตนเอง ซึ่งวิธีการดังกล่าวช่วยให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ใช้ประกอบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถค้นคว้า วิเคราะห์แยกแยะ และคัดกรองข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ในขณะเดียวกับเทคนิคดังกล่าวช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน มีปฏิสัมพันธ์อันดีต่อกัน นักศึกษามีความสนใจในการเรียนรู้มากยิ่งขึ้นทำให้บรรยากาศการเรียนรู้ไม่น่าเบื่อ นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่และทุกเวลาส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น