ศูนย์เรียนรู้ มหาวิทยาลัยรังสิต

Weblog

ความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์

ความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์

 

1. ความจำเป็นด้านการเสริมสร้างทักษะพื้นฐานทางการสอน              

                        สภาพการณ์ที่เป็นจริงของการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ที่ผ่านกระบวนการสรรหา คัดเลือก และบรรจุให้ดำรงตำแหน่ง “อาจารย์”นั้น มาจากบุคคล 2 ประเภท คือ  ประเภทแรกคือผู้ที่จบการศึกษามาทางสายวิชาครูโดยตรง ซึ่งหมายถึงผู้สำเร็จการศึกษาด้านศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ เอกทางสาขาใดก็ตาม หรือ กับอีกประเภทหนึ่ง คือผู้ที่สำเร็จการศึกษามาทางสาขาวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งอาจารย์ทั้ง 2 ประเภท มีจุดได้เปรียบเสียเปรียบต่างกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดที่เป็นข้อเสียเปรียบประการสำคัญของกลุ่มอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษามาทางสาขาวิชาชีพ คือ การขาดทักษะพื้นฐานทางการสอน เนื่องจากไม่เคยผ่านกระบวนการเรียนรู้และฝึกฝนในเรื่องเหล่านี้มาก่อน ดังนั้น จึงพบได้เสมอว่า อาจารย์หลายท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขานั้นๆ เป็นอย่างยิ่ง แต่เวลาสอนกลับได้รับการสะท้อนจากผู้เรียนว่าเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจที่อาจารย์สอน ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่อาจารย์ซึ่งไม่ได้จบการศึกษามาทางสายวิชาครูโดยตรง จะเริ่มงานสอนแก่นิสิตนักศึกษา จึงจำเป็นต้องได้รับการเติมเต็มความพร้อมในส่วนทักษะพื้นฐานทางการสอน ด้วยกิจกรรมการพัฒนาในรูปแบบที่เหมาะสม

 

2. ผู้สอนต้องได้รับการเพิ่มพูนและปรับปรุงความรู้ให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลง

                        ทุกวันนี้สังคมโลกตกอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง ความก้าวล้ำของวิทยาการ องค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นอย่างรวดเร็วแบบนาทีต่อนาที  มีทฤษฎีเก่ามากมายที่เกิดขึ้นมานานและได้รับความเชื่อถือในความถูกต้องมาโดยตลอด แต่มาวันนี้กลับถูกพิสูจน์หักล้างจากแนวคิดทฤษฎีใหม่ อาจารย์ผู้สอนยุคสมัยนี้ จึงไม่อาจที่จะแช่แข็งตนเองอยู่กับเนื้อหาและวิธีการเรียนการสอนแบบเดิมที่เคยทำมา โดยไม่ลุกขึ้นมาปรับปรุงตัวให้เท่าทันกับความเป็นปัจจุบัน และอาจจะต้องคาดการณ์หรือพยากรณ์มองข้ามเลยไปถึงอนาคตด้วยซ้ำไป ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่มีสิ่งใหม่อันเกี่ยวข้องกับแวดวงการศึกษาหรือการจัดการเรียนการสอน ที่อาจารย์ผู้สอนระดับอุดมศึกษามีความจำเป็นต้องรู้ หรือควรจะรู้  ทางสถาบันโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องเร่งเข้าไปดำเนินการจัดให้อาจารย์ผู้สอนได้รับข้อมูลเหล่านั้นอย่างทันท่วงที

 

3. การดำเนินตามนโยบายและกลยุทธ์ทางการศึกษาของรัฐและของสถาบัน

                        สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องมีการดำเนินการทางการศึกษา ภายใต้การควบคุมเชิงนโยบายและกลยุทธ์จากทั้งภายนอกและภายในสถาบัน ในส่วนของการควบคุมภายนอกที่สำคัญได้แก่ การต้องดำเนินการจัดการศึกษาให้สอดรับกับแนวทางและเป้าหมาย ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  รวมถึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอก ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.นอกจากนั้น ยังต้องสามารถสร้างบัณฑิตให้มีคุณลักษณะตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552  (TQF : HEd) ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาจึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เสริมสร้าง กระบวนทัศน์ ทักษะ ความรู้ ความสามารถ ของอาจารย์ผู้สอนให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนเพื่อบรรลุตามเป้าหมายที่ถูกกำหนด  ส่วนเรื่องของการควบคุมภายในนั้น ได้แก่ การที่สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งล้วนมีการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายทางวิชาการของตนเอง ด้วยเหตุนี้ อาจารย์ผู้สอนจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้บรรลุถึงการจัดการเรียนการสอนที่เกิดสัมฤทธิผลตามเป้าหมายของสถาบันเช่นกัน  

 

4. การตอบสนองต่อเป้าหมายการผลิตบัณฑิต

            ความมุ่งมั่นที่ต้องการให้นิสิตนักศึกษามีคุณสมบัติเหมาะสม ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกด้าน ได้แก่ เป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม มีความรู้ ความสามาถ ทักษะทางปัญญา ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  ทักษะการคิดวิเคราะห์  ทักษะการติดต่อสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง  ที่เป็นแรงผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาต้องหากลไกในการผลิตบัณฑิตให้มีศักยภาพบรรลุตามจุดมุ่งหมาย  ซึ่งการพัฒนาตัวผู้สอนคือกระบวนการสำคัญที่ช่วยตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี  ทั้งนี้ เนื่องจากหากผู้สอนเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ และทักษะการถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งมีความประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดี ย่อมส่งผลให้สามารถสร้างสรรค์ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพได้

 

การพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ทำได้หลากหลายวิธีการ ได้แก่

  • การจัดให้มีระบบพี่เลี้ยง  โดยให้อาจารย์ที่มีคุณวุฒิ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่สูงกว่า ยาวนานกว่า ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยสอนงาน  ถ่ายทอดทักษะ และให้คำปรึกษาชี้แนะ แก่อาจารย์ใหม่หรืออาจารย์ผู้มีความต้องการพัฒนาศักยภาพการสอน
  • การจัดให้มีการหมุนเวียนรายวิชาสอน ภายในสาขาวิชาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพื่อเปิดโอกาสและกระตุ้นส่งเสริมให้อาจารย์แต่ละคนก้าวข้ามกรอบขีดจำกัดของตนเองไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ ในการยกระดับความสามารถให้สอนได้หลายวิชา
  • การขยายภาระงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ได้แก่ การเพิ่มรายวิชาสอนให้มากขี้นกว่าเดิม  การส่งเสริมให้อาจารย์ทำโครงการวิจัย หนังสือ ตำรา เอกสารการสอน สื่อการสอนทั่วไป สื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์ หรืออื่นๆ การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดูแลรับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนการสอนของสถาบันหรือของคณะวิชา เป็นต้น
  • การสนับสนุนเทคโนโลยีสารสนเทศและช่องทางในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรความรู้แก่อาจารย์ เช่น การอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อรองรับการขวนขวายแสวงหาความรู้  การเตรียมการสอน และการสร้างสรรค์ผลงานหรือนวัตกรรมของอาจารย์
  • การจัดโครงการฝึกอบรม หรือ สัมมนา เพื่อเพิ่มพูน ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนแก่อาจารย์