ศูนย์เรียนรู้ มหาวิทยาลัยรังสิต

Weblog

การพัฒนาทักษะกระบวนการคิด

         การจัดการเรียนการสอนเพื่อนพัฒนากระบวนการคิด เป็นการจัดประสบการณ์เรียนรู้ที่เน้นกระบวนการมากกว่าเนื้อหาสาระวิชา ทั้งนี้เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนากระบวนการคิดประกอบด้วยองค์ความรู้ที่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์แก่ผู้เรียน 3 ด้านคือ
        1. ด้านความรู้ (Knowledge : K) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
       (1.1) เนื้อหาสาระของวิชานักคิด คือ สาระวิชาที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ ประกอบด้วยเครื่องมือช่วยคิด กระบวนการคิด ทักษะการคิด
       (1.2) ความรู้บูรณาการ คือ สาระเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นสภาพการณ์ที่กำหนดสภาพแวดล้อมรอบตัว ปัญหาในชีวิตประจำวัน ที่ถูกนำมาคิด ซึ่งเนื้อหาจะเป็นสาระของวิชาใดก็ได้ จึงเป็นความรู้เชิงบูรณาการ
        2. ด้านกระบวนการ(Process : P) คือ กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนากระบวนการคิดที่เน้นการฝึกปฏิบัติจริง ได้สร้างผู้เรียนให้เกิดทักษะชีวิตพื้นฐาน 7 ประการ ได้แก่
       (1) ทักษะการรู้จักตนเอง
       (2) ทักษะการคิด การตัดสินใจและการแก้ปัญหา
       (3) ทักษะการแสวงหาข้อมูล ข่าวสาร ความรู้
       (4) ทักษะการปรับตัว
       (5) ทักษะการสื่อสารและสร้างสัมพันธภาพ
       (6) ทักษะการวางแผน และการจัดการ
       (7) ทักษะการทำงานเป็นทีม
       3. เจตคติ (Attitude : A) คือ คุณลักษณะที่ปลูกฝังของรายวิชา ได้แก่ ใจกว้าง ขยัน ใฝ่เรียนใฝ่รู้ กระตือรือร้นช่างคิดผสมผสาน ขยัน ต่อสู้ อดทน เป็นธรรม มั่นใจในตนเอง ช่างวิเคราะห์ กล้าคิดกล้าเสี่ยง     มีน้ำใจ น่ารักน่าคบ เป็นต้น
 

       จากองค์ความรู้ของการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนากระบวนการคิดดังกล่าว ได้เป็นแนวทางให้ ครูผู้สอนดำเนินการจัดการเรียนการสอน โดยการจัดประสบการณ์ สภาพการณ์หรือสิ่งเร้ามากระตุ้นให้ผู้เรียนได้เกิดการคิดตามองค์ประกอบของความคิดอันประกอบด้วย เครื่องมือช่วยคิด ทักษะการคิด คุณสมบัติที่เอื้อต่อการคิดเพื่อให้ผู้เรียนมีด้านความรู้ (Knowledge : K)กระบวนการ (Process : P) และเจตคติ (Attitude : A)   มีการแก้ปัญหาอย่างมีระบบ มีประสิทธิภาพ มีการตัดสินใจอย่างไตร่ตรอง รอบคอบ และพร้อมในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โลกอนาคตซึ่งเป็นเป้าหมายของหลักสูตร    

       ครูผู้สอนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความคิดของผู้เรียน องค์ประกอบที่จะพัฒนาความคิดในตัวผู้เรียนอยู่ที่เทคนิคและวิธีการสอนของครูผู้สอน ที่จะช่วยกระตุ้น ส่งเสริม และพัฒนาความคิดของผู้เรียนให้งอกงามขึ้น ครูก็ควรจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับความเหมาะสม ความต้องการของผู้เรียน โดยหาเทคนิควิธีการสอนใหม่ ๆ แปลก ๆ มุ่งให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง คอยติดตามให้กำลังใจพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีอิสระในการแสดงออกด้วยการพูด หรือการกระทำตามจินตนาการและความพึงพอใจของผู้เรียน ก็จะช่วยพัฒนาความคิดของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

          ความคิดเป็นกระบวนการทางสมองที่มนุษย์ใช้จัดการกับข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ  ด้วยการจำแนกองค์ประกอบ, ความเหมือน-ความแตกต่าง, การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ รวมไปถึงการสรุปอ้างอิงอย่างใช้เหตุผล เป็นกระบวนการภายในสมองที่ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่อาจแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นออกมาด้วยการกระทำที่แสดง เช่น การพูด  การเขียน เป็นต้น

          สมองเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่มีความซับซ้อนมาก  และมีการพัฒนาการมาตั้งแต่ประมาณ 5   สัปดาห์แรก  โดยแบ่งเป็นสองซีก คือซ้ายขวาควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อซีกตรงข้ามของร่างกาย  นอกจากนั้นสมองทั้งสองซีกยังบรรจุข้อมูลที่แตกต่างกัน คือ

           ซีกซ้าย ควบคุมการพูด การใช้ภาษา การเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์การรู้คิดการใช้เหตุผลและตรรกศาสตร์ ควบคุมการทำงานซีกขวาของร่างกาย

           ซีกขวา เป็นแหล่งควบคุมมิติสัมพันธ์ต่างๆ ความสุนทรีทางอารมณ์ เช่น ดนตรี เพลง งานศิลปะต่างๆ เป็นแหล่งส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ควบคุมการทำงานของร่างกายด้านซ้าย

          ทั้งที่บรรจุการควบคุมการทำงานรับรู้ข้อมูลที่แตกต่างกัน แต่จะไม่แยกการทำงานจากกันเด็ดขาด ต้องทำงานไปพร้อมๆ กัน ภายใต้การบริหารงานและเซลล์ประสาทจะเป็นตัวนำเข้า-ออกระหว่างสมองทั้งสองซีกนั้น  ซึ่งสมองของมนุษย์มีลักษณะเด่น คือ
                   -  มีน้ำหนัก 2% ของน้ำหนักของร่างกาย ซึ่งโดยปกติจะประมาณ 3  ปอนด์ หรือ 1.36   กิโลกรัม
                   -  ขนาดของสมองจะโตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 18 ปี
                   -  สมองมีส่วนประกอบของน้ำ 75%
                   - มีเซลล์ประสาทประมาณ 20% ของออกซิเจนที่ไหลเวียนในร่างกาย
                   - มีเซลล์ประสาทประมาณ 100ล้านเซลล์และแต่ละเซลล์จะเชื่อมต่อกันโดยรวม
                     ทั้งสมองจะมีเส้นประสาทประมาณสิบร้อยล้านๆ เส้น
                   - สมองมีลักษณะนุ่มและต้องครอบด้วยกะโหลกแข็งแรงแต่โอกาสการได้รับอันตรายมีง่ายมาก


          สมองทำหน้าที่เป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับความประพฤติ ข้อปฏิบัติของมนุษย์ เช่น วิธีคิด การแสดงออกทางอารมณ์ต่างๆ การดำเนินชีวิต และการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว สมองทำงานถูกต้องจะส่งผลให้เจ้าของมีความประพฤติถูกต้อง ถ้าเมื่อใดสมองทำงานผิดพลาดมนุษย์ก็จะแสดงพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องออกมาด้วยเช่นกันหน้าที่อื่นๆ ของมนุษย์เช่นการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ความดันโลหิต การทำงานของหัวใจ และการเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นต้น  การจะรับประสบการณ์ และการเรียนรู้ต่างๆ ที่ถ่ายทอดกระบวนการคิดทางสมองของเขาออกมาเป็นระยะๆ ตามวัยจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ แม้กล่าวว่าสมองเจริญ เติบโตเต็มที่เมื่ออายุ 18 ปี แต่กระบวนการคิดภายในสมองจะพัฒนาการต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าสมรรถภาพด้านการจัดโปรแกรมต่างๆ  เกี่ยวกับการคิดจะสิ้นสุดลง

 ลักษณะการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้

           การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิด สามารถกระทำได้ด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน หรือ Brain Based Learning  ซึ่งหมายถึง การใช้ความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับสมองเป็นเครื่องมือในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ของมนุษย์ โดยเชื่อว่าโอกาสทองของการเรียนรู้อยู่ระหว่างแรกเกิด – 10 ปี

            มนุษย์ทุกคนมีระบบสมองที่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าทุกคนจะมีศักยภาพแตกต่างกันในด้านความรู้ความถนัดที่มีอยู่เดิม ตามสภาพแวดล้อมของแต่ละคน แต่เราสามารถเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน

 

>>> ติดตามข้อมูลการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน หรือ Brain Based Learningได้ในหัวข้อต่อไป