ปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่น
Adolescent Problems
นพ. พนม เกตุมาน สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
วัยรุ่นเป็นวัยที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้มากที่สุดวัยหนึ่ง ซึ่งแสดงออกเป็นปัญหาพฤติกรรมได้หลายประการ เช่น ดื้อ ไม่เชื่อฟัง ละเมิดกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ มีแฟนและมีเพศสัมพันธุ์ ใช้ยาเสพติด ทำผิดกฎหมาย ปัญหาพฤติกรรมบางอย่างมักเกิดขึ้นมานาน จนทำให้การแก้ไขมักทำได้ยาก การป้องกันปัญหาจึงมีความจำเป็น และสำคัญมากกว่าการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว การป้องกันดังกล่าวควรเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพจิตตั้งแต่เด็ก เด็กที่มีพัฒนาการของบุคลิกภาพดี จะมีภูมิต้านทานโรคทางจิตเวชต่างๆ และช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นได้อย่างมากเช่นกัน พ่อแม่และครูอาจารย์และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กทั้งหลาย จึงควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพจิตตั้งเด็กจนถึงวัยรุ่นเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ สังคมและสิ่งแวดล้อมก็ควรมีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กและวัยรุ่นเช่นเดียวกัน
สุขภาพจิตหมายถึงอะไร
"สภาพจิตใจที่เป็นสุข สามารถมี สัมพันธภาพ และรักษาสัมพันธภาพกับผู้อื่นไว้ได้อย่างราบรื่น สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์ได้ ภายใต้ภาวะสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม และลักษณะความเป็นอยู่ในการดำรงชีพ วางตัวได้อย่างเหมาะสม และปราศจากอาการป่วยของโรคทางจิตใจและร่างกาย"
ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพจิต
สุขภาพจิตที่ดี เกิดจากร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง ความสามารถทางจิตใจที่ปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์ สภาพครอบครัวที่อบอุ่นและสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี
สุขภาพจิตมีความสำคัญอย่างไร
คนที่มีสุขภาพจิตดี จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข เรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพที่มี ดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และต่อผู้อื่น ไม่เกิดอาการทางจิตเวช หรือโรคทางจิตเวชได้ง่าย ถึงแม้ชีวิตจะเผชิญปัญหามาก ก็สามารถแก้ไขผ่านพ้นไปได้ด้วยดี คนที่สุขภาพจิตไม่ดี มักมีปัญหาในการปรับตัว มีอาการทางจิตเวช เช่นความเครียดซึมเศร้า แม้ว่าจะเจอปัญหาเล็กๆ ก็ปรับตัวได้ลำบาก มีปัญหาพฤติกรรมได้บ่อย มักเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชได้ง่าย และฟื้นตัวไม่ได้ดี
ปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อย
· ไม่เรียนหนังสือ
· ติดเกมส์
· ติดการพนัน
· การเรียน การปรับตัว
· ปัญหาทางเพศ สาเหตุ
· การใช้และติดยาเสพติด
· พฤติกรรมผิดปกติ Conduct disorder
· โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย
· บุคลิกภาพผิดปกติ
สาเหตุของปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่น
· ร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของสารเคมี สารสื่อนำประสาท โรคทางกาย โรคระบบประสาท สารพิษ
· จิตใจ บุคลิกภาพ ความคิด การมองโลก การปรับตัว
· สังคม การเลี้ยงดู ปัญหาของพ่อแม่ ตัวอย่างของสังคม สื่อต่างๆ
จุดเน้นของการพัฒนาวัยรุ่นไทย เพื่อป้องกันปัญหาพฤติกรรม
เป้าหมายของการพัฒนา มุ่งสู่ อีคิว ให้มีพัฒนาการทุกด้าน ซึ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต มีทั้งเก่ง ดี และ มีสุข
การเรียน เน้นให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง คิดเอง วัยรุ่นจะเป็นวัยที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง อยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง ความรู้ทางวิชาการนับวันจะมีมากขึ้น ครูไม่สามรถสอนความรู้ให้หมดได้อีกต่อไป ในอนาคต การเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก รวมถึงการรู้จักเลือกแหล่งข้อมูลข่าวสาร ให้ได้สิ่งที่ถูกต้อง
หาเอกลักษณ์ส่วนตนเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เด็กจะเริ่มเข้าใจตนเอง รู้จักตนเองมากขึ้นว่า เป็นคนอย่างไร มีความชอบความถนัดอะไรบ้าง มีจุดเด่นจุดด้อยอะไร อยากเรียนไปทางไหน อยากทำอาชีพใด รวมถึงเอกลักษณ์ทางเพศด้วย
การทำงานร่วมกัน ส่งเสริมให้มีทักษะในการทำงานร่วมกัน มีความสามัคคี มีทักษะในการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีระเบียบวินัยส่วนตัวและของกลุ่ม มีการสื่อสารเจรจาที่มีประสิทธิภาพ
แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ พ่อแม่ควรฝึกให้เด็กรู้จักการคิดและทำด้วยตนเอง มีความพอใจ และภูมิใจกับการทำงาน มีความสนุกกับงาน มองเห็นงานเป็นเรื่องท้าทายความสมารถ ไม่ท้อแท้ สู้งาน เพลิดเพลินได้กับงาน และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาอยู่เสมอ
วงจรความสุขของชีวิต เด็กทุกคนควรมีวิธีทำให้ตนเองมีความสุข และสนุกกับการดำเนินชีวิต ด้วยงานหรือกิจกรรมที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจ มักจะเป็นเรื่องที่ตนเองชอบหรือมีความถนัด สามารถทำได้ดี ประสบผลสำเร็จ เมื่อทำแล้วเกิดความสุข เกิดแรงจูงใจที่จะทำอีก เด็กที่มีวงจรความสุข มักจะไม่เข้าหายาเสพติดหรือมีเพศสัมพันธ์
การส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ทำได้อย่างไร
การส่งเสริมสุขภาพจิตวัยรุ่น ต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ให้มีการพัฒนาเด็กทุกด้านไปพร้อมๆกัน ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม
ใครจะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น
เด็กได้รับอิทธิพลจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เริ่มต้นจากพ่อแม่ พี่น้อง ญาติใกล้ชิด เพื่อน เพื่อนบ้าน เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนก็ได้รับอิทธิพลจากครูและเพื่อนนักเรียน รุ่นพี่รุ่นน้อง และจากสังคมสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็ก การส่งเสริมพัฒนาการเด็กจึงต้องการความร่วมมือกันของหลายฝ่าย เริ่มต้นจากที่บ้าน สานต่อที่โรงเรียน และสังคมรอบๆตัวเด็กนั่นเอง ทุกคนควรมีส่วนร่วมกันเสมอในการช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ดี ที่ถูกต้อง มิใช่ช่วยแต่ลูกหลานของตนเอง แต่ช่วยลูกหลานคนอื่นด้วยเมื่อมีโอกาส เพราะในที่สุดทุกคนก็ต้องอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน
ตัวอย่างของการช่วยกันส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กที่ดี คือช่วยกันสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อเด็ก มีความปลอดภัย เมื่อเห็นเหตุการณ์ที่เด็กมีความลำบากเดือดร้อน ควรหาทางช่วยเหลือ แก้ไข ช่วยกันปกป้องเด็กไม่ให้ได้รับอบายมุข ยาเสพติด การกระตุ้น ยั่วยุทางเพศ เป็นต้น
บทบาทของพ่อแม่ ควรจะเป็นอย่างไร
บทบาทของพ่อแม่ในการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กเป็นบทบาทหลัก และเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการเด็ก หลักสำคัญคือความสัมพันธ์ที่ดีของพ่อแม่ ครอบครัวมีความรักความอบอุ่น มีความสุข มั่นคง นอกจากนี้ สิ่งที่พ่อแม่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดขึ้น คือ
1 สร้างความสำพันธ์ที่ดีกับเด็ก มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันต่อเนื่องสม่ำเสมอ และยาวนานพอ
· พ่อแม่ควรรู้เขา รู้เรา เข้าใจความคิดความรู้สึกของลูก คาดคะเนเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ว่า ลูกน่าจะคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร น่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา รู้จุดเด่น จุดอ่อน ของลูก
· รับฟังได้มากขึ้น เกิดการยอมรับกัน ประนีประนอมกัน
· สร้างขอบเขตที่เหมาะสมได้ง่าย เคารพในกติกาที่ช่วยกันสร้างขึ้น
· ส่งเสริม ชี้แนะ แนะนำ ตักเตือน
· ยืนยันในเรื่องที่ “วิกฤต” เท่าที่จำเป็น ไม่ควรมีมากนัก
2. ให้รางวัลในพฤติกรรมที่ดี พฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก การให้รางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของ หรือเงิน อาจให้คำชม การชื่นชม ก็เพียงพอสำหรับเด็ก
3. เอาจริงกับสิ่งที่ตกลงกันไว้ ถ้ามีการละเมิดข้อตกลง ต้องมีวิธีการเตือนที่ได้ผล พ่อแม่ควรทบทวนดูเสมอว่า วิธีการเตือนแบบใดที่ไม่ได้ผลก็ควรเลิกใช้ การเตือนที่ได้ผลมักจะเกิดจากการตกลงกันไว้ล่วงหน้า และเมื่อเตือนแล้วกำกับให้เกิดผลอย่างจริงจัง ทันที เด็กจะเรียนรู้ว่าพ่อแม่เอาจริงกับสิ่งที่พูด และตกลงกันล่วงหน้า เมื่อมีการตกลงกันในเรื่องใดๆอีก เด็กก็จะตั้งใจทำตาม
วิธีที่ไม่ได้ผล
o การพูดย้ำซ้ำๆ แล้วเด็กไม่ได้ปฏิบัติ
o การบ่นมากๆ
o การเปรียบเทียบกับเด็กอื่นๆ
o การข่มขู่(แล้วไม่ได้ทำตามนั้น)
o การปรามาส ดูถูกให้ได้อายโดยหวังว่าจะฮึดสู้ มีมานะ และแก้ไขตนเองได้
o การลงโทษรุนแรง ด้วยกำลังเช่นการตี ตบ เตะต่อย ผลักไส หรือด้วยวาจา เช่น ด่าว่า เปรียบเทียบเป็นสัตว์ที่ด้อยปัญญา ด่ากระทบไปถึงคนอื่น เช่น พ่อมันไม่ดี แม่มันไม่สั่งสอน เชื้อสายมันเลว
o ตัดความสำพันธ์ ไม่พูดด้วย ไม่สนใจ ไม่ดูแล ไม่ส่งเสริม โดยหวังว่าจะสำนึกและมาขอโทษ
วิธีที่น่าจะทำ
· เอาจริงทันที โดยเฉพาะตอนเริ่มต้นสร้างกติกากันใหม่ๆ ต้องคอยสังเกต ติดตาม ถ้าทำได้อย่าลืมชื่นชม ถ้าทำไม่ได้ ควรมองในแง่ดีว่า เขาอาจลืม ยังไม่สม่ำเสมอจนจะทำได้เป็นอัตโนมัติ ซึ่งจะต้องทำซ้ำๆต่อเนื่องกันนั้นนานพอ (ประมาณ 3 สัปดาห์) ในเด็กสมาธิสั้นอาจต้องใช้เวลามากกว่านี้ และในกรณีที่เป็นการแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีเก่าที่ทำติดตัวมานานแล้ว อาจต้องใช้เวลามากขึ้น
· หยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาทันที
· ทบทวนว่าเคยมีการพูดคุยกันล่วงหน้าก่อนหรือไม่ เช่น ถ้าเล่นเกมเลยเวลาที่ตกลงกันไว้ จะมีการจัดการอย่างไร ถ้ามีอยู่แล้ว ให้จัดการตามนั้นอย่างจริงจัง แต่นุ่มนวล เน้นเรื่องของการตกลง ทำอย่างไรได้ผลอย่างนั้น ถ้าไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก ควรทำอย่างไร คาดหวังว่า ครั้งต่อไปเขาจะควบคุมตัวเองได้
· รับฟังความคิดเห็น คำโวยวายได้สั้นๆ จับประเด็นที่ไม่พอใจ สะท้อนความคิด ความรู้สึกของเขาสั้นๆ
· ไม่มีการต่อรอง เจรจา ผัดผ่อน การดำเนินการควรทำทันที และเป็นไปให้สอดคล้องกับการตกลงกันไว้ล่วงหน้า
· ถ้าไม่มีการตกลงกันล่วงหน้า ให้ใช้ กฎมาตรฐาน เช่น ไม่ละเมิดผู้อื่น ไม่ละเมิดตนเอง ไม่ทำให้ของเสียหาย หรือฟุ่มเฟือยเกินเหตุ และตั้งเป็นกติกามาตรฐานไว้เลย เด็กจะต้องการหลักยึดที่ชัดเจน และบางครั้งอาจต้องลงรายละเอียดให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น
- อย่านอนดึก ควรเปลี่ยนเป็น เวลานอนที่กำหนด คือ สี่ทุ่ม
- ต้องอ่านหนังสือเรียน ควรเปลี่ยนเป็น เวลาอ่านหนังสือ คือ สามทุ่ม ถึงสี่ทุ่ม
มีการกำหนดเวลาทดลองปฏิบัติในระยะแรกให้ชัดเจน เช่น กฎข้อนี้เราจะทดลองทำร่วมกันประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะมีการมาทบทวนกันใหม่ เป็นการเปิดช่องทางให้มีการเจรจา เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยพ่อแม่ไม่เสียหน้า และปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างให้ทำได้ง่ายขึ้น เปิดช่องให้เด็กมีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่รู้สึกเป็นการบังคับกันเกินไป และได้การเรียนรู้ว่า เมื่อตกลงกันแล้ว ต้องทำ ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขยังมีโอกาสทำได้อยู่ แต่ต้องมาตกลงกันก่อน เป็นการเปิดช่องทางการ “เจรจา” เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมแล้วจะมีแรงจูงใจให้เขาทำตามนั้นมากขึ้น การให้เด็กสร้างกติกากับตนเอง เป็นการฝึกให้เขาเป็นตัวของตัวเอง แต่มีระเบียบวินัยจากภายใน (self control) ซึ่งจะเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตเขาต่อไป พ่อแม่จะเหนื่อยน้อยลงที่จะไม่ต้องไปสร้างระเบียบวินัยจากภายนอก (external control or social rules)
เมื่อมีการลงโทษ ควรสรุปสั้นๆก่อนการลงโทษ ว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใดจึงมีการลงโทษ ชื่นชมเด็กที่รู้จักสำนึกได้ หรือเปิดเผยไม่โกหกปิดบัง ชวนให้เด็กคิดว่า ถ้าจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก ควรจะทำอย่างไร จะป้องกันได้อย่างไร และคาดหวังในทางที่ดีว่า เขาน่าจะทำได้ เราจะคอยดู และชื่นชมเขาในโอกาสต่อไป
ถ้าเด็กไม่คิดไม่เรียนรู้ ไม่สำนึกในระยะแรก ให้คุยใหม่หลังจากพ้นโทษทันที หรือในระยะเวลาต่อมาที่ไม่นานเกินไป ชวนคุยให้เด็กทบทวนตนเองว่า เกิดอะไรขึ้น รู้สึกอย่างไร อยากป้องกันไม่ให้เกิดอีกอย่างไรดี กระตุ้นให้คิด และชมความคิดที่ดีของเขา เป็นการฝึกให้เด็กคิด “ทบทวนตนเอง” และวางแผนเกี่ยวกับตนเอง ที่สำคัญคือ นำมาใช้กับชีวิตตนเองได้มากขึ้น โดยไม่ต้องให้มีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่คอยบอกคอยเตือน คอยบังคับให้ทำโน่นทำนี่อีกต่อไป
4 เปิดโอกาสให้ได้รับการชื่นชม สร้างกิจกรรมที่เด็กจะได้แสดงออกอย่างภาคภูมิใจตนเอง ตามความชอบความถนัด
5 หาพฤติกรรมทดแทน มาแทนที่พฤติกรรมที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
6 พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดี มีระเบียบวินัย จัดการกับชีวิตอย่างเหมาะสม มีการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง
7 ส่งเสริมพฤติกรรมและการเรียนรู้ให้ครบทุกด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม สังเกตจุดอ่อน และสร้างทักษะใหม่ที่จะเอาชนะจุดอ่อนเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่งเสริม จุดเด่นให้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เอาตัวเด็กเป็นศูนย์กลาง
8 ช่วยให้เด็กหาเอกลักษณ์ของตนเองได้ สังเกตจาก ความชอบ ความถนัด ผลการเรียนกิจกรรมที่ชอบ และทำได้ด้วยตัวเอง ความพอใจ แนวคิด ความเชื่อ กลุ่มเพื่อน วิชาชีพที่อยากเรียน อาชีพที่ต้องการ รวมถึงเอกลักษณ์ทางเพศ สนับสนุนให้เป็นไปตามเอกลักษณ์ แต่ให้ได้การเรียนรู้ในพัฒนาการด้านอื่นๆด้วย เด็กทุกคนควรมี “วงจรชีวิตที่สร้างความสุข” (pleasure circuit) เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างถูกต้อง ในเวลาว่าง หรือในเวลาที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้น แม้ว่าจะขาดโอกาส ขาดเงิน อยู่คนเดียว มีความทุกข์ มีเหตุการณ์บีบคั้น
9 สนับสนุนกลุ่มเพื่อนที่ดี ช่วยแก้ไขกลุ่มที่มีความเสี่ยง รักลูก ให้รักเพื่อนของลูกด้วย เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากกันเอง ภายใต้การดูแล “เงียบๆ” หัดให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์เพื่อนให้เป็น
10 ฝึกให้เด็กรู้จักการจัดการกับความเสี่ยง (risk management) วิเคราะห์ความเสี่ยง ประเมินความเสี่ยง โอกาสอันตราย คิดล่วงหน้าถึงความเป็นไปได้ในด้านลบ หาสาเหตุของความเสี่ยง และอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ในแง่มุมต่างๆ อย่างถี่ถ้วน หาวิธีป้องกันความเสี่ยง การลดความเสี่ยงด้วยวิธีการต่างๆ หรือการแก้ไขปัญหา ถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น มีช่องทางออก ทางหนีทีไล่อย่างไร วิเคราะห์โอกาสต่างๆ ข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก
บทบาทของครู ควรจะทำอย่างไร
ครูควรมีบทบาทส่งเสริมพัฒนาการต่อจากพ่อแม่ ด้วยการส่งเสริมพัฒนาการเด็กทุกด้านเช่นกัน โดยเฉพาะพัฒนาการด้านสังคม และจริยธรรม ใช้หลักพฤติกรรมบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก และถ้าจำเป็นต้องลงโทษ ควรมีหลักการลงโทษที่ดี ได้ผล และไม่เกิดผลเสียตามมา เมื่อเด็กเริ่มมีปัญหา ครูควรมีมาตรการจัดการให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว โรงเรียนควรมีระบบการให้ความช่วยเหลือเด็กอย่างชัดเจน มีการประสานงานกับแหล่งทรัพยากรที่จะให้ความช่วยเหลือได้ เช่นทีมงานสุขภาพจิตที่อยู่ใกล้เคียง เป็นต้น
แนวทางการแก้ไข/ช่วยเหลือเมื่อเด็กเริ่มมีปัญหา
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดี
- รับฟังปัญหาเด็กเสมอ ไม่ตำหนิ หรือสั่งสอนเร็วเกินไป ท่าทีเป็นกลาง
- เข้าใจปัญหา หาข้อมูลเพื่อให้รู้สาเหตุ และแนวทางการแก้ไขปัญหา
- มองเด็กในแง่ดี มีความหวังในการแก้ปัญหาเสมอ
- กระตุ้นให้คิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง มีทางเลือกหลายๆทาง วิเคราะห์ทางเลือกร่วมกัน
- ชี้แนะทางแก้ไขปัญหาในกรณีที่เด็กคิดไม่ออกด้วยตัวเอง
- เป็นแบบอย่างที่ดี
- ใช้กิจกรรมช่วย กีฬา ดนตรี ศิลปะ กิจกรรมกลุ่ม
- ให้เพื่อนช่วยเพื่อน อธิบายให้เพื่อนเข้าใจกัน ยอมรับและอยากช่วยเหลือกัน ไม่ตัวใคร
ตัวมัน
- ชมเชยเมื่อทำได้ดี
- เมื่อทำผิด มีวิธีตักเตือน ชักจูงให้อยากเปลี่ยนแปลงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น
- จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม
- ให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา แก้ไขปัญหาครอบครัว
เอกสารอ้างอิง
1. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข คู่มือดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน โรงพิมพ์ ร.ส.พ. กรุงเทพฯ
2. พนม เกตุมาน สุขใจกับลูกวัยรุ่น บริษัทแปลน พับลิชชิ่ง จำกัด กรุงเทพฯ 2535 ISBN 974-7020-31-9
3. ธนู ชาติธนานนท์. งานจิตเวชชุมชนในประเทศไทย.ใน: ตำราจิตเวชศาสตร์ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย( พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ.๒๕๓๖:๑๐๕๕-๖๖.
4. กวี สุวรรณกิจ. จิตเวชชุมชน. ใน: ตำราจิตเวชศาสตร์ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ ๒) . กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ.๒๕๓๖: ๑๐๔๘-๕๔.
5. Dworkin PH. Learning and Behavior Problems of Schoolchildren .Philadelphia. W.B. Saunders ,1985.
6. Mattison RE. Consultation in the school environment. In : Child and Adolescent Mental Health Consultation in Hospitals, Schools, and Courts. Washington, DC. American Psychiatric Press, Inc.1993:95-183.
7. กรมสุขภาพจิต.คู่มือครูสำหรับช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาสุขภาพจิต.พิมพ์ครั้งที่๒.กรุงเทพฯ:กรมสุขภาพจิต,พ.ศ.๒๕๔๒.
8. กรมสุขภาพจิต.คู่มือดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน.พิมพ์ครั้งที่๓.กรุงเทพฯ:กรมสุขภาพจิต,พ.ศ.๒๕๔๓.
9. กรมสุขภาพจิต.คู่มือส่งเสริมสุขภาพจิตนักเรียนระดับมัธยมศึกษา สำหรับครู พิมพ์ครั้งที่๓.กรุงเทพฯ:กรมสุขภาพจิต,พ.ศ.๒๕๔๒.
10. สุจริต สุวรรณชีพ,วินัดดา ปิยะศิลป์,พนม เกตุมาน. คู่มือพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยความรัก.พิมพ์ครั้งที่๓.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย,พ.ศ.๒๕๔๓.