ศูนย์เรียนรู้ มหาวิทยาลัยรังสิต

Weblog

การจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือ (ตอนที่ 1)

รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจ (Cooperative Learning)

 

1)  แนวคิดทฤษฎีที่ใช้

สเปนเซอร์ เคแกน (Spencer Kagan, 1994) นักการศึกษาชาวสหรัฐ ได้ทำการวิจัยและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 และได้เผยแพร่ผลงานอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา รวมถึงหลายประเทศในเอเซีย แนวคิดหลักที่จะนำไปสู่การเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 6 ประการ ดังแผนภาพ

 

 

Principles

 

Teams

 

Social Skills

 

Will

 

Management

 

Structures

 

“Teams Will Manage Social Skills and PIES throughStructure”

จากแผนภูมิแสดงแนวคิดหลักของการเรียนรู้แบบ Cooperative Learning(Kagan: Cooperative Learning: 1994 อ้างถึงใน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี: เอกสารประกอบการประชุมปฏิบัติการวิทยากรแกนนำ การจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์, 2543)

1)      Teams หมายถึง การจัดกลุ่มของผู้เรียนที่จะทำงานร่วมกัน กลุ่มที่จะเรียนรู้ด้วยกันอย่างมีประสิทธิผล ควรเป็นดังนี้

1.1)   กลุ่มละ 4 คน ประกอบด้วยเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนสูง ปานกลาง ค่อนข้างต่ำ และหญิงชายเท่า ๆ กันในบางกรณีการจัดกลุ่มโดยวิธีอื่น เช่น ในการศึกษาเรื่องลึกเฉพาะ เช่น ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ควรจัดกลุ่มเด็กที่มีความสนใจเหมือนกัน หรือจัดกลุ่มโดยวิธีสุ่ม เมื่อต้องการทบทวนความรู้

1.2)    จัดให้เด็กอยู่ในกลุ่มเดียวกันประมาณ 6 สัปดาห์แล้วเปลี่ยนจัดกลุ่มใหม่

2)    Will หมายถึง ความมุ่งมั่นและอุดมการณ์ของเด็กที่จะร่วมงานกัน เด็กจะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และมีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ต้องสร้างให้เกิดขึ้นและให้คงไว้โดยให้ทำกิจกรรมหลากหลาย โดยวิธีการต่อไปนี้

2.1)    Team building การสร้างความมุ่งมั่นของทีมที่จะทำงานร่วมกัน

2.2)     Class building การสร้างความมุ่งมั่นของชั้นเรียนที่จะช่วยกัน

3)    Management หมายถึง การจัดการเพื่อให้กลุ่มทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดการของผู้สอนและการจัดการของผู้เรียนภายในกลุ่ม ผู้สอนจะต้องมีการจัดการที่ดี เพื่อให้การทำงานกลุ่มประสบผลสำเร็จ เช่น การควบคุมเวลา การกำหนดสัญญาณให้ผู้เรียนหยุดกิจกรรม ฯลฯ

4)    Social Skills เป็นทักษะในการทำงานร่วมกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ให้ความช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน

5)    Four Basic Principles (PIES) เป็นหลักการพื้นฐานของ Cooperative Learning ซึ่งจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ได้แก่

P = Positive Interdependence ผู้เรียนต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีแนวคิดที่ว่าเมื่อเราได้รับประโยชน์จากเพื่อน เพื่อนก็จะได้รับประโยชน์จากเรา ความสำเร็จของกลุ่มคือความสำเร็จของแต่ละคน

I = Individual Accountability ยอมรับว่าแต่ละคนในกลุ่มต่าง ๆ มีความสามารถและมีความสำคัญต่อกลุ่ม แต่ละคนมีส่วนให้การทำงานในกลุ่มสำเร็จ

E = Equal Participation ทุกคนในกลุ่มต้องให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในงานของกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน

S = Simultaneous Interaction ทุกคนในกลุ่มต้องมีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลาที่ทำงานในกลุ่ม

6)    Structures หมายถึง รูปแบบของกิจกรรมในการทำงานกลุ่ม ซึ่งมีหลากหลายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัญหาหรือสถานการณ์ที่จะศึกษา Kagan ได้วิจัยและเสนอไว้หลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น

Time – Pair – Share เป็นกิจกรรมจับคู่สลับกันพูดในหัวข้อและในเวลาที่กำหนด เช่น คนละ 1 นาที เมื่อคนหนึ่งพูด อีกคนหนึ่งฟัง แล้วสลับกัน

Round Robin ผู้เรียนในกลุ่มทั้ง 4 คน ผลัดกันพูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนครบทุกคน

Round Table ผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มเขียนแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในกระดาษแผ่นเดียวกันแล้ววนไปเรื่อย ๆ จนผู้เรียนทุกคนเขียนทั้งหมด แล้วนำมาสรุป

Team – Pair – Solo เป็นกิจกรรมที่ให้แต่ละคนในกลุ่มคิดแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งก่อน จากนั้นเปลี่ยนเป็นรวมกันคิดเป็นคู่ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนแต่ละคนเรียนรู้แบบการแก้ปัญหา ในที่สุดแต่ละคนสามารถแก้ปัญหาทำนองเดียวกันได้

นอกจากรูปแบบกิจกรรมของ Kaganแล้วก็ยังมีรูปแบบกิจกรรมของคนอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีก เช่น

จิกซอว์ (Jigsaw)เป็นการมอบหมายให้ตัวแทนของสมาชิกในกลุ่มไปรวมกลุ่มใหม่ เรียกว่า กลุ่มเชี่ยวชาญ (Expert Group) กลุ่มเชี่ยวชาญนี้จะศึกษาเรื่องย่อยที่แบ่งไว้เป็นตอนในช่วงเวลาหนึ่งแล้วกลับมาอธิบายให้สมาชิกในกลุ่มเดิม (Home Group) ในที่สุดผู้เรียนทั้งหมดจะเรียนรู้เรื่องทั้งหมดจากเพื่อน นั่นคือผู้เรียนแต่ละคนในหนึ่งกลุ่มได้รับมอบหมายงานเพียงหนึ่งชิ้นย่อย แต่ต้องต่อชิ้นย่อยให้เต็มรูป นั่นคือ ต้องเรียนรู้ทั้งเรื่อง แล้วมีการทดสอบเป็นคะแนนของแต่ละคน

แสตด (Student Teams Achievement Division: STAD)เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนนำเสนอเนื้อหาเรื่องโดยย่อให้ผู้เรียนทั้งหมดฟัง แล้วให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มตามที่กำหนดในกิจกรรม เพื่อศึกษาให้เข้าใจเนื้อหาและการแก้ปัญหาและเตรียมสอบย่อย โดยทดสอบผู้เรียนเป็นรายบุคคล ทำเช่นเดียวกันในการเรียนเรื่องต่อไปและพิจารณาคะแนนที่พัฒนาขึ้น หาคะแนนของทีมในแต่ละสัปดาห์ โดยคิดคะแนนพัฒนาการของแต่ละคนในกลุ่มรวมกันเป็นคะแนนของทีม ประกาศคะแนนของทีมรวมทั้งผู้เรียนที่มีคะแนนพัฒนาการสูง และให้รางวัล

จะเห็นว่าในรูปแบบของกิจกรรมที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนเรียนรู้โดยร่วมมือร่วมใจกันทำงานในกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ผู้เรียนจะได้ใช้ความคิดและต้องมีการปฏิบัติด้วย แล้วจึงแสดงความคิดของตนเองแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในกลุ่ม กับเพื่อนต่างกลุ่ม การเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจจึงทำให้ผู้เรียนพัฒนากระบวนการคิด ทักษะในการสื่อสาร ทักษะทางสังคม รวมทั้งการจัดการ

จากแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่กล่าวมาแล้ว กิจกรรมส่วนใหญ่ภายในห้องเรียนจะดำเนินไปด้วยตัวของผู้เรียนเอง โดยผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นการเรียนรู้ วางแผนจัดกิจกรรม และจัดหาแหล่งข้อมูลที่จะให้เกิดการเรียนรู้รวมทั้งเป็นผู้ขยายความรู้ ความคิดของผู้เรียนให้สมบูรณ์ ผู้สอนจึงมีบทบาทสำคัญหลายประการมากกว่าเป็นผู้สอนอย่างเดียว จากการวิจัยพบว่า การจัดการเรียนแบบร่วมมือร่วมใจนี้ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนทุกคนพัฒนาก้าวหน้าขึ้น

 

2)      ลักษณะการพัฒนารูปแบบ

การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจ (Cooperative Learning) เป็นการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนทำงานกันเป็นกลุ่ม ๆ ละ 4-6 คน คละความสามารถ และเพศ สมาชิกแต่ละคนรับผิดชอบในการเรียนรู้จากเอกสารหรืองานที่ผู้สอนมอบหมาย และช่วยเหลือสมาชิกอื่น ๆ ให้เรียนรู้ไปด้วยกัน ทุกคนมีความรับผิดชอบงานของตนเองและงานส่วนรวมร่วมกัน คะแนนของกลุ่มมีคะแนนที่ได้จากสมาชิกแต่ละคนรวมกัน วิธีการแบบนี้สามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้ทุกบทเรียน ทุกวัตถุประสงค์ใช้ในการสอนตั้งแต่ทักษะพื้นฐานจนถึงการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและบูรณาการกับเทคนิควิธีการสอนแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสม

จุดประสงค์ของการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบจุดประสงค์ของการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจ

1.       การพัฒนาสติปัญญา มีทักษะการคิด การสื่อสาร การแก้ปัญหา

2.     ทักษะทางสังคม เช่น การร่วมมือ การช่วยเหลือ การปฏิสัมพันธ์ในทางสร้างสรรค์ ความอดทนต่อความแตกต่าง เรียนรู้ในการพึ่งพาผู้อื่น มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการทำงานเป็นทีม

3.       การพัฒนาตนเอง เช่น ควบคุมตนเองในการเรียน เข้าใจตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง มีความมั่นใจ

4.       ความเท่าเทียมกัน ยอมรับว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างในเรื่องใด

องค์ประกอบของการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจ

การเรียนรู้แบบร่วมมือมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้ (Tenenberg, 1995: Smith, 1996)

1.     การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเชิงบวก ผู้เรียนต้องมีความเชื่อว่าตนเองจะต้องเชื่อมโยงกับผู้อื่นในทางที่จะไม่มีใครประสบความสำเร็จถ้าสมาชิกคนอื่นของกลุ่มไม่ประสบความสำเร็จด้วย ผู้เรียนจะต้องทำงานด้วยกันเพื่อให้งานสำเร็จ ทุกคนในกลุ่มต้องพึ่งกันในด้านทรัพยากร แบ่งปันสิ่งที่ตนมีอยู่แก่กันและกัน ต้องรู้จักแบ่งงานกันทำตามบทบาท ตามความถนัด และความเชี่ยวชาญของตน

2.     ปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน การเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นตัวเชื่อมโยง ผู้เรียนต้องมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือ อธิบายให้สอนกันและกัน คิดแก้ปัญหาร่วมกัน ส่งเสริมความสำเร็จของกันและกัน

3.     ความรับผิดชอบส่วนบุคคล เมื่อผู้เรียนอยู่ในกลุ่มได้ดำเนินการตามขั้นตอนของการสร้างความคุ้นเคย การกำหนดบทบาทความรับผิดชอบของสมาชิกในกลุ่ม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันให้ความร่วมมือกับกลุ่ม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยอมรับสนับสนุน คัดค้านด้วยเหตุผล รวมทั้งการควบคุมตนเอง การสร้างแรงจูงในตนเองในด้านความคาดหวัง ในความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้จะสั่งสมตลอดระยะเวลาการทำงานกลุ่ม จนในที่สุดเกิดเป็นค่านิยมของผู้เรียนในด้านความรับผิดชอบส่วนบุคคล

4.     ทักษะการทำงานเป็นทีม หมายถึง ความสามารถในการสร้างความเข้าใจระหว่างผู้เรียนที่ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ทำให้สามารถสร้างงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้อยู่ในกลุ่มมีทักษะในการสื่อสาร เช่น การให้ข้อมูล การแสวงหาข้อมูล การประสานงาน การจูงใจ การประเมิน การขยายความ การจัดประมวลความคิด การประนีประนอม การรักษามาตรฐาน การเป็นสมาชิกาของกลุ่มและการเป็นผู้นำ

5.     กระบวนการกลุ่ม การเรียนรู้แบบร่วมมือต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้องค์ประกอบที่กล่าวมาทั้ง 4 ประการ ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้แบบร่วมมือ

การสอนทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (Interpersonal Skills)

การสร้างความสัมพันธ์ภายในกลุ่มเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้สอนต้องฝึกให้ผู้เรียนใช้เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมภายในกลุ่มอันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็น ได้แก่

1.     ทักษะกระบวนการกลุ่ม (Forming skills) เป็นทักษะที่ใช้ในการจัดกลุ่มและสร้างปทัสฐานของพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น การเข้าหรือออกจากลุ่มให้มีเสียงน้อยที่สุด การทำงานเงียบ ๆ และว่องไว การส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมและการปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่มอย่างนุ่มนวล ผู้สอนต้องสอนทักษะนี้เพื่อคงสภาพชั้นเรียนที่ดี และเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนมีเจตคติที่ดีต่องานของกลุ่ม

2.     ทักษะการทำหน้าที่ (Functioning skills) เป็นทักษะเกี่ยวกับการจัดการและการใช้ความพยายามของกลุ่มทำงานให้สำเร็จและยังคงสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เช่น การพูดจาสนับสนุนและยอมรับความคิดของสมาชิก การขอความช่วยเหลือ การทำเรื่องได้ชัดเจน การขออนุญาตอธิบายแทนผู้อื่น การเสนแนะความคิดใหม่ ๆ และการจูงใจเมื่อกลุ่มขาดความกระตือรือร้น ผู้สอนต้องสอนทักษะนี้เพื่อให้การปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่มมีประสิทธิภาพ

3.     ทักษะการวางระบบ (Formulating skills) เป็นทักษะที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนได้ดี เช่น การส่งเสริมให้สมาชิกสรุปข้อมูลสำคัญ การเติมข้อมูลสำคัญที่ยังขาดหายไป การทบทวนข้อมูลสำคัญ และการใช้เทคนิคการจำประเด็นสำคัญ ผู้สอนต้องสอนทักษะนี้เพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มสามารถสร้างความคิดที่มีคุณภาพและตัดสินใจถูกต้อง

4.     ทักษะการสืบค้น (Fermenting skills) เป็นทักษะที่นำมาใช้กระตุ้นให้เกิดการโต้แย้งทางวิชาการ เพื่อให้ผู้เรียนได้กลับไปคิดทบทวน ท้าทายความคิดผู้อื่น และค้นหาเหตุผล เช่น การวิจารณ์ความคิดคนอื่น การรู้วิธีค้นหาตรวจสอบข้อมูล เพื่อหาคำตอบและวิธีแก้ปัญหา และการจัดระบบปัญหา ผู้สอนต้องสอนทักษะนี้ซึ่งเป็นทักษะที่ยากที่สุด เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้วิธีเกี่ยวข้องกับข้อโต้แย้งและสิ่งที่สามารถตกลงกันได้ และรู้วิธีกระตุ้นความคิดและความอยากรู้ของกลุ่มให้ค้นหาต่อไป แม้ว่าจะได้ข้อสรุปมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด