ศูนย์เรียนรู้ มหาวิทยาลัยรังสิต

Weblog

การจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือ (ตอนที่ 2)

ประเภทของการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจ

การแบ่งประเภทของการเรียนแบบร่วมมือร่วมใจนั้นขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง ในที่นี้จะแบ่งโดยใช้ช่วงเวลาในการดำเนินกิจกรรมเป็นเกณฑ์ ซึ่งสามารถแบ่งประเภทของการเรียนแบบร่วมมือร่วมใจได้ 2 ประเภท ดังนี้

1)  เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือร่วมใจ ที่ใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดคาบเรียนหรือตั้งแต่ 1 คาบเรียนขึ้นไป เทคนิคเหล่านี้มีลักษณะการจัดกิจกรรมแตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องเลือกใช้ให้ตรงกับเป้าหมายที่ต้องการ เทคนิคที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีดังนี้

1.1     เทคนิคการแบ่งกลุ่มแบบกลุ่มสัมฤทธิ์ (Student Teams Achievement Divisions หรือ STAD) โดยจัดสมาชิกในกลุ่ม 4 คน ระดับสติปัญญาต่างกัน เช่น เก่ง 1 คน ปานกลาง 2 คน และอ่อน 1 คน ผู้สอนกำหนดบทเรียนและการทำงานของกลุ่มไว้แล้ว ผู้สอนทำการสอนบทเรียนให้ผู้เรียนทั้งชั้น จากนั้นให้กลุ่มทำงานตามที่กำหนด ผู้เรียนในกลุ่มช่วยเหลือกัน ผู้เรียนเก่งช่วยเหลือและตรวจงานของเพื่อนให้ถูกต้องก่อนนำส่งผู้สอน การสอบผู้เรียนต่างคนต่างทำข้อสอบแล้วนำคะแนนของทุกคนมารวมกันเป็นคะแนนของกลุ่ม ผู้สอนจัดลำดับคะแนนของทุกกลุ่มปิดประกาศให้ทุกคนทราบ

1.2     เทคนิคการแข่งขันระหว่างกลุ่มด้วยเกม (Teams – Game Tournament หรือ TGT) เป็นเทคนิคการจัดกลุ่มเช่นเดียวกับ STAD แต่ไม่มีการสอบทุกสัปดาห์ แต่ละทีมที่มีความสามารถเท่ากันจะแข่งขันตอบปัญหา มีการจัดกลุ่มใหม่ทุกสัปดาห์โดยพิจารณาจากความสามารถของแต่ละบุคคล คะแนนของกลุ่มจะได้จากคะแนนของสมาชิกที่เข้าแข่งขันร่วมกับกลุ่มอื่น ๆ รวมกัน แล้วจัดให้มีการให้รางวัลกับกลุ่มที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้

1.3     เทคนิคการจัดกลุ่มแบบช่วยรายบุคคล (Teams Assisted Individualization หรือ TAI) จัดให้สมาชิกของกลุ่ม 4 คนมีระดับความรู้ต่างกัน ใช้สำหรับระดับประถมศึกษาปีที่ 3-6 ผู้สอนเรียกผู้เรียนที่มีความรู้ระดับเดียวกันของแต่ละกลุ่มมาสอน ความยากง่ายของเนื้อหาวิชาที่สอนแตกต่างกัน ผู้เรียนกลับไปยังกลุ่มของตนและต่างคนต่างทำงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทุกคนสอบข้อสอบโดยไม่มีการช่วยเหลือกัน มีการให้รางวัลทีมที่ทำคะแนนได้ดีกว่าเดิม

1.4     เทคนิคการเรียนรู้ร่วมกัน (Learning Together) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-6 ทำการสอนทั้งชั้น ผู้เรียนแต่ละคนทำงานตามที่ผู้สอนมอบหมาย คะแนนของแต่ละกลุ่มพิจารณาจากผลงานของกลุ่ม

1.5     เทคนิคการตรวจสอบเป็นกลุ่ม (Group Investigation) สมาชิกในกลุ่มมี 2-6 คน แต่ละกลุ่มเลือกหัวเรื่องที่ต้องการศึกษาค้นคว้า สมาชิกในกลุ่มแบ่งงานกันทั้งกลุ่ม มีการวางแผน การดำเนินงานตามแผน การวิเคราะห์และสังเคราะห์งานที่ทำ การนำเสนอผลงาน หรือรายงานต่อหน้าชั้น การให้รางวัลหรือคะแนนให้เป็นกลุ่ม

1.6     เทคนิคจิกซอ (Jigsaw) เป็นเทคนิคที่ใช้กับบทเรียนที่หัวข้อที่เรียน แบ่งเป็นหัวข้อย่อยได้ เช่น ประเภทของมลพิษ สามารถแบ่งเป็น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง มลพิษทางน้ำ มลพิษของดิน เป็นต้น ควรเรียนแบ่งเป็นขั้นตอน ดังนี้

1)      ผู้สอนแบ่งหัวข้อที่จะเรียนเป็นหัวข้อย่อย ๆ ให้เท่ากับจำนวนสมาชิกของแต่ละกลุ่ม

2)    จัดกลุ่มผู้เรียน โดยให้มีความสามารถคละกันภายในกลุ่ม เป็นกลุ่มบ้าน (home group) สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มอ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ตนได้รับมอบหมายเท่านั้น โดยใช้เวลาตามที่ผู้สอนกำหนด

3)    จากนั้นผู้เรียนที่อ่านหัวข้อย่อยเดียวกันมานั่งด้วยกัน เพื่อทำงาน ซักถาม และทำกิจกรรม ซึ่งเรียกว่ากลุ่มเชี่ยวชาญ (expert group) สมาชิกทุก ๆ คนร่วมมือกันอภิปรายหรือทำงานอย่างเท่าเทียมกันโดยใช้เวลาตามที่ผู้สอนกำหนด

4)    ผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ กลับมายังกลุ่มบ้าน (home group) ของตน จากนั้นผลัดเปลี่ยนกันอธิบายให้เพื่อนสมาชิกในกลุ่มฟัง เริ่มจากหัวข้อย่อย 1,2,3 และ 4 เป็นต้น

5)    ทำการทดสอบหัวข้อย่อย 1-4 กับผู้เรียนทั้งห้อง คะแนนของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มรวมเป็นคะแนนกลุ่ม กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้รับการติดประกาศ

1.7     เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือร่วมกลุ่ม (Co-op Co-op) ผู้เรียนช่วยกันอภิปรายหัวข้อที่จะศึกษาแบ่งหัวข้อใหญ่เป็นหัวข้อย่อย แล้วจัดผู้เรียนเข้ากลุ่มตามความสามารถที่แตกต่างกัน กลุ่มเลือกหัวข้อที่จะศึกษาตามความสนใจของกลุ่ม กลุ่มแบ่งหัวข้อย่อยเป็นหัวข้อเล็ก เพื่อผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มเลือกไปศึกษาและมีการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของแต่ละคนภายในกลุ่มแล้ว ผู้เรียนศึกษาเรื่องที่ตนเลือกและนำเสนอต่อกลุ่ม กลุ่มรวบรวมหัวข้อต่าง ๆ จากผู้เรียนทุกคนในกลุ่ม แล้วรายงานผลงานต่อชั้น แล้วมีการประเมินผลงานของกลุ่ม

2)  เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือร่วมใจ ที่ใช้ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละคาบ คือ ใช้ในขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นสอน โดยสอดแทรกในขั้นตอนใด ๆ ของการสอน ขั้นทบทวนหรือขั้นวัดผลงานของคาบเรียนใดคาบเรียนหนึ่ง โดยมีลักษณะที่สำคัญคือ เป็นวิธีที่ใช้เวลาช่วงสั้นประมาณ 5-10 นาที จนถึง 1 คาบเรียน Kagan (1995) ได้ออกแบบเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือร่วมใจ ดังนี้

2.1     การพูดเป็นคู่ (Rally Robin) เป็นเทคนิคเปิดโอกาสให้ผู้เรียนพูด ตอบ แสดงความคิดเห็นเป็นคู่ ๆ โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกที่เป็นคู่ได้พูดกัน ตัวอย่างเช่น กลุ่มมีสมาชิก 4 คน แบ่งเป็น 2 คู่ คู่หนึ่งประกอบด้วยสมาชิกคนที่ 1 และคนที่ 2 แต่ละคู่จะพูดพร้อม ๆ กันไป โดย 1 พูด 2 ฟัง จากนั้น 2 พูด 1 ฟัง ต่อมา 1 พูด 2 ฟัง เป็นต้น

2.2     การเขียนแบบคู่ (Rally Table) เป็นเทคนิคคล้ายกับการพูดเป็นคู่ทุกประการ ต่างกันเพียงการเขียนเป็นคู่เป็นการร่วมมือเป็นคู่ ๆ โดยผลัดกันเขียน หรือวาด (ใช้อุปกรณ์ : กระดาษ 2 แผ่น และปากกา 2 ด้ามต่อกลุ่ม)

2.3     การพูดรอบวง (Round Robin) เป็นเทคนิคที่สมาชิกของกลุ่มผลัดกันพูด ตอบ เล่า อธิบาย โดยไม่ใช้การเขียน การวาด และเป็นการพูดที่ผลัดกันทีละคนตามเวลาที่กำหนด จนครบ 4 คน

2.4     การเขียนรอบวง (Round Table) เป็นเทคนิคที่เหมือนกับการพูดรอบวง แตกต่างกันที่เน้นการเขียน การวาด (ใช้อุปกรณ์ : กระดาษ 1 แผ่น และปากกา 1 ด้ามต่อกลุ่ม) วิธีการคือ ผลัดกันเขียนลงในกระดาษที่เตรียมไว้ทีละคนตามเวลาที่กำหนด

เทคนิคนี้อาจดัดแปลงให้สมาชิกทุกคนเขียนคำตอบหรือบันทึกผลการคิด พร้อม ๆ กันทั้ง 4 คน ต่างคนต่างเขียนในเวลาที่กำหนด (ใช้อุปกรณ์ : กระดาษ 4 แผ่น และปากกา 4 ด้าม) เรียกเทคนิคนี้ว่าการเขียนพร้อมกันรอบวง (simultaneous round table)

2.5     การแก้ปัญหาด้วยการต่อภาพ (Jigsaw problem Solving) เป็นเทคนิคที่สมาชิกของแต่ละคนคิดคำตอบของตนเองไว้ จากนั้นกลุ่มนำคำตอบของทุกๆ คนรวมกันแล้วอภิปรายเพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุด

2.6     คิดเดี่ยว – คิดคู่ – ร่วมกันคิด (Think – Pair – Share) เป็นเทคนิคโดยเริ่มจากปัญหาหรือโจทย์คำถาม โดยสมาชิกแต่ละคนคิดหาคำตอบด้วยตนเองก่อน แล้วนำคำตอบไปอภิปรายกับเพื่อนเป็นคู่ จากนั้นจึงนำคำตอบของตนหรือของเพื่อนที่เป็นคู่เล่าให้เพื่อน ๆ ทั้งชั้นฟัง

2.7     อภิปรายเป็นคู่ (Pair Discussion) เป็นเทคนิคที่เมื่อผู้สอนตั้งคำถามหรือกำหนดโจทย์แล้วให้สมาชิกที่นั่งใกล้กันร่วมกันคิดและอภิปรายเป็นคู่

2.8     อภิปรายเป็นทีม (Team Discussion) เป็นเทคนิคที่เมื่อผู้สอนตั้งคำถามแล้วให้สมาชิกของกลุ่มทุก ๆ คนร่วมกันคิด พูด อภิปรายพร้อมกัน

2.9     ทำเป็นกลุ่ม – ทำเป็นคู่ – และทำคนเดียว (Team – Pair – Solo) เป็นเทคนิคที่เมื่อผู้สอนกำหนดปัญหาหรือโจทย์หรืองานให้ทำแล้ว สมาชิกจะทำงานร่วมกันทั้งกลุ่ม จนทำงานได้สำเร็จ แล้วถึงขั้นสุดท้ายให้สมาชิกแต่ละคนทำงานคนเดียวจนสำเร็จ

2.10  การเรียงแถว (Line – Ups) เป็นเทคนิคง่าย ๆ โดยให้ผู้เรียนยืนเป็นแถวเรียงลำดับภาพคำ หรือสิ่งที่ผู้สอนกำหนดไว้ เช่น ผู้สอนให้ภาพต่าง ๆ แก่ผู้เรียน แล้วให้ผู้เรียนยืนเรียงลำดับภาพขั้นตอนของวงจรชีวิตของแมลง ห่วงโซ่อาหาร เป็นต้น

2.11  การพูดเป็นคู่ตามเวลาที่กำหนด (Time – Pair – Share) เป็นเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือที่สมาชิกจับคู่ สมาชิกคนที่ 1 พูดในเวลาที่กำหนดเพื่อตอบโจทย์หรือปัญหาที่กำหนด สมาชิกคนที่ 2 ฟัง จากนั้นสมาชิกคนที่ 2 พูด คนที่ 1 ฟัง การพูดใช้เวลาเท่ากับครั้งแรก

2.12  การทำโครงงานเป็นกลุ่ม (Team Project) เป็นเทคนิคการเรียนด้วยวิธีโครงงาน โดยผู้สอนอาจจะกำหนดวิธีการทำโครงงาน กำหนดบทบาทของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม ให้ร่วมกันทำโครงงานตามมอบหมาย หรืออาจใช้วิธีให้ผู้เรียนร่วมกันคิดทำโครงงานเอง โดยผู้เรียนแบ่งหน้าที่ให้สมาชิกทุกคนมีบทบาทในการทำงาน

2.13  การหาข้อยุติ (Showdown) เป็นเทคนิคที่ใช้ทบทวนความรู้ วัดความรู้ ซึ่งอาจใช้ได้ทุกขั้นตอนของการสอน โดย

1)    สมาชิกแต่ละคนของกลุ่มเขียนคำถามตามที่ผู้สอนกำหนดลงในกระดาษของตน จะได้โจทย์คำถามครบตามจำนวนสมาชิกของกลุ่ม

2)      ให้สมาชิกนำโจทย์คำถามพร้อมปากกาวางตรงกลางโต๊ะ

3)      กำหนดสมาชิกหัวหน้า เริ่มที่สมาชิกคนใดคนหนึ่งก่อนก็ได้ ให้สุ่มหยิบโจทย์คำถาม

4)      สมาชิกทุกคนหยิบปากกา แล้วเขียนคำตอบเพื่อตอบโจทย์ในกระดาษของตนเอง

5)    จากนั้นตรวจคำตอบร่วมกัน ถ้าตอบถูกต้องทุกคนก็ได้แสดงความชื่นชมกัน ถ้าตอบไม่ถูกต้องให้เปิดหนังสือค้นคว้าหรือถามผู้สอนก็ได้ แล้วแก้ไขให้ถูกต้องทุกคน

6)    จากนั้นหมุนเวียนสมาชิกคนต่อไปเป็นหัวหน้า  แล้วจึงดำเนิน  กิจกรรมตามข้อ 3) – 5) ให้ทำเช่นนี้จนสมาชิกทุกคนตอบโจทย์คำถามทุกข้อได้ครบ

2.14  คิดเดี่ยว – คิดคู่ – คิดเป็นกลุ่ม (Think – Pair – Square) เป็นเทคนิคโดยเริ่มจากปัญหาหรือโจทย์คำถาม โดยสมาชิกแต่ละคนคิดคำตอบด้วยตนเองก่อน แล้วนำคำตอบของตนไปอภิปรายกับเพื่อนเป็นคู่ จากนั้นก็อภิปรายกับสมาชิกในกลุ่มของตนก่อน แล้วอาจนำคำตอบเล่าให้เพื่อน ๆ ทั้งชั้นฟัง

2.15  พูดวงกลมซ้อน (Inside – Outside Circle) เป็นเทคนิคที่ผู้เรียนอาจนั่งหรือยืนเป็นวงกลมซ้อนกัน 2 วง แต่ละวงมีจำนวนกลุ่มเท่ากัน วงในหันหน้าออก วงนอกหันหน้าเข้า หรืออาจนั่งหรือยืนเป็นคู่ก็ได้ ผู้เรียนที่เป็นคู่หรือกลุ่มที่เป็นคู่กันจะพูด หรืออภิปราย หรือนำเสนอผลงานกลุ่มแก่กันและกัน โดยผลัดกันพูด อาจมีการกำหนดเวลาด้วย จากนั้นหมุนเวียนเปลี่ยนคู่หรือกลุ่มใหม่ไปเรื่อย ๆ โดยไม่ซ้ำกัน โดยผู้เรียนวงนอกและวงในเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงกันข้าม เพื่อให้พบสมาชิกไม่ซ้ำกลุ่มเดิม

2.16  การให้ข้อมูลย้อนกลับแบบหมุนเวียน (Rotating Feedback) เป็นเทคนิคที่สมาชิกทุกคนในแต่ละกลุ่มให้ข้อมูลย้อนกลับ ซึ่งอาจเป็นข้อคิด  ข้อเสนอแนะ  ข้อดี  ข้อบกพร่อง ต่อผลงานของกลุ่มอื่นๆ โดยหมุนเวียนไปทีละกลุ่มจนครบอย่างเป็นระบบ หรืออาจมีกำหนดเวลาให้แต่ละกลุ่มด้วยก็ได้

จากเทคนิควิธีการเรียนแบบร่วมมือร่วมใจที่กล่าวมา ล้วนเป็นเทคนิคที่มีประโยชน์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้แต่เนื่องจากเทคนิคเหล่านี้มีลักษณะการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้นการจะใช้เทคนิคใดจึงต้องเลือกใช้ให้ตรงกับเป้าหมายที่ต้องการ และเหมาะสมกับเนื้อหาวิชานั้นด้วย

 

 

แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจ

 

รายวิชาที่สอน ระดับชั้นของผู้เรียนและเรื่องที่สอน

 

ประเด็นและวิธีการประเมินผลการเรียนรู้และผลการทำงานของกลุ่มหรือรายบุคคล

 

วัตถุประสงค์ที่ผู้เรียนสามารถทำได้

 

เนื้อหาสาระหรือมโนมติการเรียนรู้

 

งานที่จะทำให้ผู้เรียนทำเป็นกลุ่มแบบร่วมมือร่วมใจของการเรียนเรื่องนั้น ๆ

 

เวลาที่ใช้ในการจัดกิจกรรมทั้งหมดรวมทั้งการจัดกลุ่มชี้แจงงาน

และการลงมือทำงาน

ประเมินผลงาน

 

สื่อและวัสดุอุปกรณ์

ที่ใช้ในการทำกิจกรรม

 

  

3)      ขั้นตอนการจัดกระบวนการเรียนรู้

3.1) การเตรียมการจัดกระบวนการเรียนรู้

                    ผู้สอนต้องเตรียมการ 5 กิจกรรม ได้แก่

1.   ระบุจุดประสงค์ของบทเรียน โดยกำหนดจุดประสงค์เป็น 2 ประเภท

1.1    จุดประสงค์การเรียนรู้ที่เหมาะกับระดับผู้เรียนและสอดคล้องกับการเรียนรู้ และ

1.2    จุดประสงค์เกี่ยวกับทักษะการร่วมมือที่ต้องใช้ระหว่างเรียน

2.   ตัดสินใจเกี่ยวกับการจับกลุ่ม ได้แก่

2.1    ขนาดของกลุ่ม ประมาณ 3 – 6 คน

2.2    การจัดผู้เรียนเข้ากลุ่มให้คนในกลุ่มมีความสามารถคละกันหรืออาจใช้วิธีสุ่ม

2.3    ระยะเวลาในการทำงานด้วยกัน อาจเป็น 2 - 3 สัปดาห์หรือตลอดภาคเรียน

2.4   การจัดชั้นเรียน ที่นั่งของผู้เรียนในกลุ่มควรอยู่ใกล้กันพอที่จะใช้สิ่งของร่วมกัน พูดคุยกันเบา ๆ และมองเห็นหน้ากันทุกคน ควรจัดเป็นรูปวงกลม

2.5    สื่อการเรียนรู้ จำเป็นต้องมีให้พอเพียงสำหรับการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย

2.6    การมอบหมายหน้าที่ของสมาชิกในกลุ่ม เช่น ผู้สรุป ผู้ตรวจสอบ ผู้บันทึก ผู้ตรวจงาน

3.   อธิบายการทำงาน การมีปฏิสัมพันธ์และกิจกรรมการเรียนรู้

3.1   อธิบายจุดประสงค์และงานให้ชัดเจน อาจต้องสอนความคิดรวบยอด หลักการหรือวิธีการ และตอบคำถาม เพื่อให้ผู้เรียนนำไปใช้ในบทเรียน

3.2    อธิบายเป้าหมายของกลุ่มและความจำเป็นที่ต้องร่วมมือกันทำงาน

3.3   จัดโครงสร้างให้แต่ละคนได้เรียนรู้โดยทำการทดสอบรายบุคคลหรือสุ่มบางคนให้เป็นตัวแทนกลุ่มแสดงผลงาน

3.4    จัดให้มีการร่วมมือระหว่างกลุ่มโดยส่งเสริมให้กลุ่มที่ทำงานเสร็จก่อนไปช่วยกลุ่มอื่น

3.5   อธิบายเกณฑ์ของความสำเร็จ หรือเกณฑ์ที่ผู้เรียนถูกประเมิน โดยอธิบายให้ผู้เรียนทราบก่อนเริ่มบทเรียน การประเมินผลที่ใช้เป็นแบบอิงเกณฑ์

3.6   กำหนดพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิด เช่น ตอนต้นบทเรียนต้องการให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมนั่งอยู่ในกลุ่ม ใช้เสียงเบา ๆ และผลัดกันพูดหรือทำ เมื่อกลุ่มทำหน้าที่ได้ดีแล้วควรแสดงพฤติกรรม เช่น แต่ละคนอธิบายวิธีได้คำตอบ และให้ช่วยกันเชื่อมโยงสิ่งที่กำลังเรียนกับสิ่งที่เคยเรียนไปแล้ว

4.  ดูแลประสิทธิภาพของการทำงานกลุ่มและขัดจังหวะเพื่อให้การช่วยเหลือ

                           4.1    ดูแลพฤติกรรมของผู้เรียน โดยสังเกตการทำงาน/ปัญหาที่เกิดขึ้น

                           4.2    ให้ความช่วยเหลือด้านเนื้อหา โดยทบทวนความคิดรวบยอด ตอบคำถาม สอนทักษะที่จำเป็น

                

                 3.2) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้

                    

                     โครงสร้างกิจกรรมรูปแบบ Jigsaw (Slavin, 1980)

การสอนแบบ Jigsaw เป็นการสอนที่อาศัยแนวคิดการต่อภาพ ผู้เสนอวิธีการนี้คนแรกคือ อารอนสันและบริดจ์แมน (Aronson & Bridgeman, 1979)ต่อมามีการปรับและเพิ่มเติมขั้นตอน แต่วิธีการหลักการยังคงเดิม การสอนแบบนี้ผู้เรียนแต่ละคนจะได้ศึกษาเพียงส่วนหนึ่งหรือหัวข้อย่อยของเนื้อหาทั้งหมด โดยการศึกษาเรื่องนั้น ๆ จากเอกสารหรือกิจกรรมที่ผู้สอนจัดให้ ในตอนที่ศึกษาหัวข้อย่อยนั้น ผู้เรียนจะทำงานเป็นกลุ่มกับเพื่อนที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาหัวข้อย่อยเดียวกัน และเตรียมพร้อมที่จะกลับไปอธิบายหรือสอนเพื่อนสมาชิกในกลุ่มพื้นฐานของตนเอง

ขั้นตอนการสอนแบบ Jigsaw

ขั้นที่ 1   ผู้สอนแบ่งหัวข้อที่จะเรียนเป็นหัวข้อย่อยเท่าจำนวนสมาชิกของแต่ละกลุ่ม ถ้าขนาด 4 คน ให้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน

ขั้นที่ 2  จัดกลุ่มผู้เรียนให้มีสมาชิกที่มีความสามารถคละกัน เป็นกลุ่มสังกัด (Home Groups) จำนวนสมาชิกในกลุ่มอาจเป็น 3 หรือ 4 คน ก็ได้ แจกเอกสารหรืออุปกรณ์การสอนให้กลุ่มละ 1 ชุด หรือให้คนละชุดก็ได้ กำหนดให้สมาชิกแต่ละคนรับผิดชอบอ่านเอกสารเพียง 1 ส่วนที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น หากแต่ละกลุ่มได้รับเอกสารเพียงชุดเดียว ให้ผู้เรียนแยกเอกสารออกเป็นส่วน ๆ ตามหัวข้อย่อย ดังนั้นในแต่ละกลุ่ม ผู้เรียนคนที่ 1 จะอ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ 1 ผู้เรียนคนที่ 2 จะอ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ 2 ผู้เรียนคนที่ 3 จะอ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ 3 ผู้เรียนคนที่ 4 จะอ่านจะเฉพาะหัวข้อย่อยที่ 4

ขั้นที่ 3  เป็นการศึกษาในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Expert Group) ผู้เรียนจะแยกย้ายจากกลุ่มสังกัดไปจับกลุ่มใหญ่ เพื่อทำการศึกษาเอกสารส่วนที่ได้รับมอบหมาย โดยคนที่รับมอบหมายให้ศึกษาเอกสารหัวข้อย่อยเดียวกัน จะไปนั่งเป็นกลุ่มด้วยกัน ตามจำนวนกลุ่มที่มีในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ สมาชิกจะอ่านเอกสาร สรุปเนื้อหาสาระ จัดลำดับขั้นตอนการนำเสนอ เพื่อเตรียมทุกคนให้พร้อมที่จะไปสอนหัวข้อนั้นที่กลุ่มเดิมของตนเอง

ขั้นที่ 4  ผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกลับกลุ่มเดิมของตน แล้วผลัดเปลี่ยนเวียนกันอธิบายให้เพื่อนในกลุ่มฟังทีละหัวข้อ มีการซักถามข้อสงสัย ตอบปัญหา และทบทวนให้เข้าใจชัดเจน

ขั้นที่ 5  ผู้เรียนแต่ละคนทำแบบทดสอบเกี่ยวกับเนื้อหาทั้งหมดทุกหัวข้อ แล้วนำคะแนนของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มมารวมกัน เป็นคะแนนสะสมของกลุ่ม

ขั้นที่ 6  กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด จะได้รับรางวัลหรือการชมเชย การสอนแบบ Jigsaw เป็นการสอนที่อาจนำไปใช้ในการทบทวนเนื้อหาที่มีหลาย ๆ หัวข้อ หรือใช้กับบทเรียนที่เนื้อหาแบ่งแยกเป็นส่วน ๆ ได้ และเป็นเนื้อหาที่ผู้เรียนศึกษาจากเอกสารและสื่อการสอนได้

โครงสร้างกิจกรรมรูปแบบ CIRC(Cooperative Integrated Reading and Composition) (Stevens, 1987) การจัดทีมประกอบด้วยสมาชิก 4 – 6 คน โดยจับคู่ที่มีความสามารถทางการอ่านเท่ากัน 2 คู่ คือ คู่ที่มีความสามารถทางการอ่านสูง 1 คู่ และคู่ที่มีความสามารถทางการอ่านต่ำกว่า 1 คู่ รวมเป็น 2 คู่ใน 1 ทีม เป็นโครงสร้างกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับสอนภาษาศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีขั้นตอนการสอน ดังนี้

1.     ขั้นนำเสนอบทเรียน ผู้สอนเป็นผู้นำเสนอบทเรียน โดยการทบทวนศัพท์เก่า สอนคำศัพท์ใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะทำให้ผู้เรียนอ่านออกเสียงคำศัพท์ได้อย่างถูกต้อง คล่องแคล่วให้ผู้เรียนรู้ความหมายของคำศัพท์ยาก โดยการอธิบายและให้คำจำกัดความเพื่อที่จะให้ผู้เรียนสามารถนำเอาคำศัพท์ไปสร้างประโยคได้อย่างมีความหมาย และถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ หลังจากที่ผู้สอนสอนคำศัพท์แล้วผู้สอนก็แนะนำเรื่องที่จะให้ผู้เรียนอ่าน ให้ผู้เรียนเดาหรือคาดการณ์ล่วงหน้าว่าเรื่องที่ผู้สอนจะให้อ่านเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร โดยเดาจากคำศัพท์ที่ผู้สอนสอนเพื่อเป็นการโยงประสบการณ์เดิมเข้ากับเรื่องที่จะเรียน (Stevens, 1987)

2.     ขั้นฝึกทำงานเป็นทีม กิจกรรมที่ผู้เรียนฝึกทำงานเป็นทีม เมื่อผู้สอนนำเสนอบทเรียนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ

1)    การฝึกโดยมีผู้สอนควบคุมอยู่ เช่น อ่านออกเสียงคำศัพท์ ฝึกหาความหมาย สะกดคำ อ่านในใจ อ่านออกเสียง การค้นหาคำตอบจากเรื่องที่อ่าน การเล่าเรื่อง การเขียนเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน

2)    ขั้นตอนการฝึกแบบอิสระ หลังจากที่ผู้เรียนได้ทำงานเป็นกลุ่ม โดยมีผู้สอนคอยดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดแล้วผู้เรียนยังจะได้ฝึกทำงานเองตามลำพัง โดยการแลกเปลี่ยนความรู้กันภายในกลุ่มหรือระหว่างกลุ่ม การช่วยตรวจแก้ไขความถูกต้องของผลงานของผู้ร่วมทีม (Peer Pre-assessment) ก่อนที่จะส่ง นอกจากนี้ผู้เรียนยังสามารถฝึกอ่านเรื่องที่ตนสนใจได้ตามต้องการนอกห้องเรียน

3.     ขั้นการทดสอบ หลังจากที่ผู้เรียนเรียนจบแต่ละบทแล้ว ผู้สอนจะทดสอบผู้เรียนเกี่ยวกับความเข้าใจในการอ่านเรื่องการสร้างประโยคจากคำศัพท์ที่ให้ และการอ่านออกเสียงคำศัพท์ ซึ่งให้เวลาประมาณ 15 – 20 นาที โดยทดสอบเป็นรายบุคคล ไม่อนุญาตให้ช่วยเหลือกัน ผู้สอนต้องให้ผู้เรียนแยกโต๊ะจากกลุ่ม คะแนนของกลุ่มขึ้นอยู่กับความสามารถของสมาชิกในทีมทุกคน เมื่อผู้เรียนทำการทดสอบเสร็จ ผู้สอนควรรีบตรวจและบอกคะแนนของแต่ละทีมให้ทุกคนทราบ หากเป็นไปได้ควรบอกให้ผู้เรียนทราบในคาบต่อไป เพื่อเป็นการกระตุ้นให้กำลังใจแก่ผู้เรียน

4.     ขั้นตระหนักถึงความสำเร็จของกลุ่ม ทันทีที่ผู้สอนคิดคะแนนของผู้เรียนแต่ละคน และแต่ละทีมเสร็จแล้ว ควรจะให้รางวัล เกียรติบัตร หรือคำชมแก่กลุ่มที่ทำคะแนนได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อเป็นการชี้ให้เห็นคุณค่าของความร่วมมือและความสำเร็จในทีม

โครงสร้างกิจกรรมรูปแบบ GI(Group Investigation)

กิจกรรมนี้พัฒนาโดย โชรานและเฮิร์ต (Shoran, S.& Hertz-Lazarowitz, R.,1980) GI เป็นการเรียนแบบร่วมมือที่มีความซับซ้อนและกว้างขวางมาก ปรัชญาของ GI ก็คือต้องการปลูกฝังการร่วมมือกันอย่างเป็นประชาธิปไตย และมีการกระจายภาระงานและสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่เท่าเทียมกันของสมาชิกในกลุ่ม GIO ยังกระตุ้นบทบาทที่แตกต่างกัน ทั้งภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม

การนำการเรียนแบบ GI มาใช้ ผู้สอนจะแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 5 คน หรือน้อยกว่านี้ตามความเหมาะสม การจัดกลุ่มตั้งอยู่บนความต้องการของผู้สอนและผู้เรียน แต่ละกลุ่มวางแผนกันเองว่าจะศึกษาหัวข้อเรื่องอะไร และใช้วิธีการอะไรในการศึกษาหาความรู้ นอกจากนี้ สมาชิกแต่ละคนหรือสมาชิกแต่ละคู่ในกลุ่ม อาจเลือกหัวข้อย่อยแล้วตัดสินใจเองถึงวิธีการแสวงหาความรู้ในหัวข้อย่อย ๆ นั้น สมาชิกแต่ละคนหรือสมาชิกแต่ละคู่รายงานความก้าวหน้าและผลการทำงานให้กับกลุ่มของตนเองทราบ กลุ่มจะอธิบายเกี่ยวกับรายงานของสมาชิกและเตรียมรายงานของกลุ่มให้กับเพื่อนทั้งห้องฟัง

ขั้นตอนการสอน ประกอบด้วย

1.     ขั้นการเลือกหัวข้อเรื่องที่จะศึกษา (Topic selection) ผู้เรียนเลือกหัวข้อเรื่องที่เฉพาะเจาะจงของปัญหาที่เลือก แล้วกลุ่มจะแบ่งภาระงานออกเป็นงานย่อย ๆ ที่มีสมาชิก 2-5 คน ร่วมกันทำงาน

2.     ขั้นการวางแผนร่วมมือกันในการทำงาน (Cooperative planning) ผู้สอนและผู้เรียนวางแผนร่วมกันในวิธีดำเนินงาน ภาระงานที่ทำ และเป้าหมายของงานในแต่ละหัวข้อย่อยตามปัญหาที่เลือก

3.     ขั้นการดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ (Implementation) ผู้เรียนดำเนินงานตามแผนการที่วางไว้ในขั้นที่ 2 กิจกรรมและทักษะต่าง ๆ ที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาควรมาจากแหล่งข้อมูล ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ผู้สอนจะให้คำปรึกษากับทุกกลุ่มพร้อมกับติดตามความก้าวหน้าในการทำงานของผู้เรียน

4.     ขั้นการวิเคราะห์และสังเคราะห์งานที่ทำ (Analysis and synthesis) ผู้เรียนวิเคราะห์และประเมินข้อมูลที่ผู้เรียนรวบรวมมาได้ในขั้นที่ 2 และวางแผนหรือลงข้อสรุปในรูปแบบที่น่าสนใจ เพื่อนำเสนอต่อชั้นเรียน

5.     ขั้นการนำเสนอผลงาน (Presentation of final report) กลุ่มนำเสนอผลงานตามหัวข้อเรื่องที่เลือก ผู้สอนต้องพยายามให้ผู้เรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมขณะที่มีการนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน เพื่อเป็นการขยายความคิดของตัวผู้เรียนเองให้กว้างไกล โดยเฉพาะในหัวข้อเรื่องที่กลุ่มไม่ได้ศึกษา ผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในระหว่างการนำเสนอผลงาน

6.     ขั้นการประเมินผล (Evaluation) ผู้สอนและผู้เรียนจะร่วมกันประเมินผลงานที่ถูกนำเสนอ พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นที่มีต่อผลงานทุกชิ้น การประเมินผลอาจรวมทั้งการประเมินผลเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม

GI เป็นการเรียนแบบร่วมมือที่มอบหมายความรับผิดชอบอย่างสูงให้กับผู้เรียนในการที่จะบ่งชี้ว่าจะเรียนอะไรและเรียนอย่างไร ในการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และตีความหมายของสิ่งที่ศึกษา ได้เน้นความหมายและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกันและกันในการทำงาน

4)   ลักษณะเด่นของรูปแบบ

การเรียนแบบร่วมมือร่วมใจ ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ทุกขั้นตอนด้วยการช่วยเหลือ พึ่งพาซึ่งกันและกัน จึงก่อให้เกิดผลดีหลายประการ ดังนี้

1.    สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิก เพราะทุก ๆ คนร่วมมือในการทำงานกลุ่ม ทุก ๆ  คนมีส่วนร่วมเท่าเทียมกัน

2.    สมาชิกทุกคนมีโอกาสพูด แสดงออก แสดงความคิดเห็น ลงมือกระทำอย่างเท่าเทียมกัน

3.   เสริมให้มีความช่วยเหลือกัน เช่น เด็กเก่งช่วยเด็กที่เรียนไม่เก่ง ทำให้เด็กเก่งภาคภูมิใจ รู้จักสละเวลา ส่วนเด็กที่ไม่เก่งเกิดความซาบซึ้งในน้ำใจของเพื่อนสมาชิกด้วยกัน

4.   ร่วมกันคิดทุกคน ทำให้เกิดการระดมความคิด นำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาร่วมกันเพื่อประเมินคำตอบที่เหมาะที่สุด เป็นการส่งเสริมให้ช่วยกันคิดหาข้อมูลให้มากและวิเคราะห์และตัดสินใจเลือก

5.   ส่งเสริมทักษะทางสังคม เช่น การอยู่ร่วมกันด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เข้าใจกันและกัน อีกทั้งเสริมทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ให้สูงขึ้น

 

Ref :

Aronson, E., & Bridgeman, D. (1979). Jigsaw groups and the desegregated classroom: In pursuit of

       common goals. Personality and Social Psychology Bulletin, Vol. 5, pp. 438-446.

Aronson, E. & Patnoe, S. (1997). The jigsaw classroom: building cooperation in the Classroom. New  

      York: Longman.

Kagan, S. (1994). Cooperative learning. San Clemente: Resources for Teachers.

Shoran, S.& Hertz-Lazarowitz,R. (1980). A group-investigation method of Cooperative learningin the    

      classroom. In S. Shoran, P Hare. C.D. Webb &  Hertz-Lazarowitz (Eds.), Cooperation in

     education. Provo, Utah : Brigham Young University.

Slavin, R. E. (1980). Cooperative learning in teams: State of the art. Educational Psychologist, Vol. 15,  

       pp. 93-111.

Smith, K. A. (1996). "Cooperative Learning: Making 'Group work' Work" In Sutherland, T. E., and      

      Bonwell, C. C. (Eds.), Using active learning in college classes: A range of options for faculty,

     New Directions for Teaching and LearningNo. 67.

Stevens, R. J., Madden, N. A., Slavin, R. E., and Farnish, A. M. (1987).Cooperative Integrated

     Reading and Composition: Two field experiments. Reading Research Quarterly, 22, 433-454.

Tenenberg ,J. "Using Cooperative Learning in the Undergraduate Computer Science Classroom,"       

     The Journal of Computing in Small Colleges,v. 11, #2, November 1995. Proceedings of the

      Midwest Conference on Computing in Small Colleges.