การก้าวเข้าสู่การเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)ในปี 2558 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า เรามักได้ยินบ่อย ๆ ว่า การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะส่งผลกระทบอย่างไรกับประเทศไทย และประเทศไทยจะยืนอยู่ตรงไหนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) โดยฝ่ายวิจัยธุรกิจได้เห็นความสำคัญในประเด็นดังกล่าวจึงทำการศึกษาเกี่ยว กับผลกระทบจากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งพบว่ามีทั้งโอกาสและความท้าทาย
โดยเริ่มตั้งแต่เป้าหมายหลักของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ "การเป็นตลาดและเป็นฐานการผลิตเดียวร่วมกัน จะมีการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานระหว่างประเทศในอาเซียนอย่างเสรี" ซึ่งหมายความว่า อาเซียน 10 ประเทศจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ฉะนั้นการค้าขายสินค้าและบริการแต่ละประเทศสมาชิกจะขยายกว้างขึ้น
ทั้ง นี้ปี 2552 ไทยส่งออกไปอาเซียนมากที่สุดถึง 21.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ สหรัฐ อียู ญี่ปุ่น ขณะที่การนำเข้าของไทย อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 18.7% รองลงมา อาเซียน 18.5% จีน 12.7% อียู 8.8% ฉะนั้น เมื่ออาเซียนรวมตัวเป็นตลาดเดียวในปี 2558 ก็คาดว่าการค้าของไทยระหว่างอาเซียนด้วยกันเองจะใหญ่ขึ้น จึงเป็น "ความท้าทาย" ของผู้ประกอบการไทยในเรื่องของตลาด ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและการแข่งขันจะรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันก็จะเป็น "โอกาส" ที่มากขึ้นจากประตูการค้าที่เปิดกว้าง
นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธสน.ระบุว่า จากการศึกษา "การเปิดเสรีการค้า" ในอาเซียน พบว่าสินค้าที่ไทยได้เปรียบ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนอุปกรณ์และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ในกลุ่มนี้ เราต้องเร่งรุกตลาดและใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันเราก็มีกลุ่มสินค้าที่ต้องปรับตัวรับการแข่งขันทางการค้าที่มี มากขึ้น คือ สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม
"แนวทางการปรับตัวของ สินค้าเกษตร คือ ต้องเน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมควรหันไปแข่งขันเรื่องคุณภาพแทนด้านราคาที่เราอาจสู้ ไม่ได้ ซึ่งอาจต้องใช้ในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมต่าง ๆ มาเพิ่มมูลค่าสินค้า"
แนวทางการดำเนินการด้านที่สองจะก้าวสู่การ เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ การเปิดเสรีภาคบริการ อันนี้จะมีข้อกำหนดชัดเจนว่า ภายในปีนี้จะต้องลดหรือยกเลิกข้อจำกัดในภาคบริการใน 4 สาขาเร่งรัด สาขาแรก คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม สุขภาพ ท่องเที่ยว และการขนส่งทางอากาศ นอกจากนี้จะเป็นเรื่องการผ่อนคลายการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนซึ่งจะสูงถึง 70% ในปี 2010 ส่วนโลจิสติกส์ ในปี 2013 เปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ถึง 70% ส่วนสาขาอื่นจะเป็นปี 2558 ซึ่งเป็นปีเป้าหมาย ที่เราจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ส่วน "การเปิดเสรีภาคบริการ" จากการศึกษาพบว่าสิงคโปร์จะค่อนข้างเก่งในอาเซียนและในระดับโลก โดยปัจจุบันภาคบริการของสิงคโปร์คิดเป็นเกือบ 70% ของ จีดีพี และมีการส่งออกบริการถึง 40% เทียบกับไทยที่ส่งออกภาคบริการเพียง 10% และคิดเป็นเพียง 40% ของจีดีพี ยังค่อนข้างห่างมาก ดังนั้นคาดว่าเมื่อเปิดเสรีการค้าบริการเต็มรูปแบบสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่ ได้ประโยชน์มากที่สุดในสาขาบริการ โดยเฉพาะโลจิสติกส์และการขนส่งทางอากาศ
อย่าง ไรก็ตามไทยยังมีจุดแข็งในภาคบริการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีจุดแข็งการบริการด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาล การดูแลผู้สูงอายุ และด้านศัลยกรรมความสวยงามที่กำลังเติบโต จึงเป็นที่คาดว่า เมื่อมีการเปิดเสรีภาคบริการในอาเซียนภาคนี้จะเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับ ประโยชน์ค่อนข้างมาก
ขณะที่ "การเปิดเสรีด้านการลงทุน" ซึ่งจะครอบคลุมทุกประเทศในปี 2558 เมื่อถึงตอนนั้นจะทำให้การลงทุนโดยตรงระหว่างอาเซียนด้วยกันเพิ่มมากขึ้น โดยภาคธุรกิจที่นักลงทุนไทยมีศักยภาพ ได้แก่ ภาคเกษตร เกษตรแปรรูป รับเหมาก่อสร้าง และเหมืองแร่ ขณะที่ประเทศในอาเซียนหลายประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และมีการ พัฒนาประเทศค่อนข้างมาก ที่สำคัญประเทศเหล่านั้นมีนโยบายเปิดกว้างต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ด้วย ดังนั้นเราน่าจะได้ประโยชน์ทั้งการย้ายฐานการผลิตและการไปลงทุนต่างประเทศ เพิ่มขึ้น
ส่วนเรื่อง "การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี" ภายในปีนี้จะมีการลงนามตกลงร่วมกัน 4 ฉบับที่จะตกลงร่วมกันที่จะเคลื่อนย้ายบุคลากรทักษะด้านวิศวกรรม สถาปนิก พยาบาล และการสำรวจ ก่อนจะขยายกว้างไปถึงแพทย์ ทันตแพทย์ รวมถึงนักบัญชี นักกฎหมาย และอื่น ๆ ไปถึงปี 2558
เป็นที่คาดว่า เมื่อมีการเปิดเสรีแรงงานเต็มที่จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะ อาทิ สถาปนิกและวิศวกรในอาเซียน ไปที่สิงคโปร์และมาเลเซียมากขึ้น แต่เมื่อกรอบการขยายบวกเป็นอาเซียนบวก 3 อาเซียนบวก 6 บุคลากรในภาคต่าง ๆ เช่น ภาคการเงิน ธนาคาร และไอที คาดว่าจะมีการเคลื่อนย้ายเข้ามาเมืองไทยมากขึ้น และแย่งงานคนไทยมากขึ้นและ ค่าจ้างอาจถูกลง
สุดท้าย คือ "การเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี" ยังไม่มีกรอบชัดเจน มีเพียงกรอบกว้างในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการพัฒนา และการรวมตัวของตลาดทุนในอาเซียน ที่ยินยอมให้เคลื่อนย้ายเสรีเงินทุนมากขึ้น
โดยสรุปจากที่กล่าวมา ทั้งหมดเห็นได้ว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนับเป็น "จุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญของไทย โดยเฉพาะด้านการค้าคงเป็นการค้าในภูมิภาคมากขึ้น แทนที่ตลาดหลักเดิม ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญอยู่ จุดยืนของไทยก็ควรรุกสินค้าที่เราได้เปรียบและขยายตลาดไปตามข้อตกลงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาเซียนบวก 3 บวก 6 และบวกอียูก็ตาม
เรื่อง ของภาคบริการ คาดว่าการเปิดเสรีจะทำให้แข่งขันมากขึ้น และภาคบริการจะมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย เราคงต้องไปเน้นบริการที่เราเชี่ยวชาญ คือ ท่องเที่ยวและด้านสุขภาพ ส่วนการลงทุนโดยตรงควรกระตุ้นให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เสียเปรียบในการ ผลิตในประเทศย้ายฐานการผลิตออกไปในอาเซียนที่มีทรัพยากรหรือตลาดที่เอื้อมาก ขึ้น
ด้านแรงงานจะมีการแข่งขันมากขึ้น เพราะว่านายจ้างมีทางเลือกจ้างงานในประชากรอาเซียนที่มีค่าแรงถูกกว่า เชิงของแรงงานทักษะทั้งหลายต้องเพิ่มความรู้ภาษาต่างประเทศเป็นภาษาที่สอง หรือสาม หรือปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานการทำงานที่เป็นสากลมากขึ้นและในกรณีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีคาดว่าจะทำให้เกิดความผันผวนเรื่อง ค่าเงินมากขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการต้องรู้จักบริหารต้นทุนและ ลดความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ จะเกิดขึ้น เมื่ออาเซียนจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 การเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ จะเป็นโอกาสหรืออุปสรรค ขึ้นอยู่กับประเทศไทยจะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างไร หรือ จะแสวงหาโอกาสได้มากน้อยแค่ไหน