มธ.โชว์หลักสูตรใหม่ พัฒนาคนสู่อาเซียน
รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและฝ่ายวางแผนฯ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดตัวหลักสูตร - วิชาศึกษาทั่วไปตัวใหม่ พัฒนาศักยภาพเด็กมธ. เน้นการทำงานเพื่อสังคม และเสริมสร้างความรู้เพื่อก้าวสู่การแข่งขันในประชาคมอาเซียน
รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวถึงการปรับการเรียนการสอนของมธ. ในมิติใหม่ ว่า ได้สร้างวิชาศึกษาทั่วไปตัวใหม่ขึ้นมา 1 วิชา โดยเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม การมีจิตสาธารณะ ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่เน้นทำกิจกรรมเพื่อสังคมนอกห้องเรียนมากกว่าการฟังอาจารย์บรรยายในห้องเรียน ทั้งยังถือเป็นวิชาบังคับเลือกของนักศึกษามธ. ทุกคนอีกด้วย
"เปิดเทอมเดือนมิ.ย.นี้ เราได้สร้างวิชาเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นมา จริงๆเราได้กำหนดให้เป็นวิชาบังคับทั่วไป โดยใช้ชื่อว่าพลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม(รหัส TU100) ซึ่งเราอยากจะรุกความเป็นพลเมืองในวิชาศึกษาพื้นฐาน ตั้งใจจะให้นักศึกษาทุกคนลงเรียนวิชานี้ ถือเป็นวิชาบังคับของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีจำนวน 3 หน่วยกิต เพราะฉะนั้นต่อไปนักศึกษาจะไม่ใช่แค่นั่งเรียน แต่ต้องออกไปทำกิจกรรม ช่วงแรกยังเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านอาจทำได้เพียงส่วนหนึ่ง แต่ต่อไป มั่นใจว่าจะทำให้นักศึกษาได้เรียนวิชานี้ทั้งหมด" รองศ.ดร.นครินทร์ กล่าว
รศ.ดร.นครินทร์ กล่าวอีกว่า การเรียนวิชาดังกล่าวนี้ ได้มีการทดลองการเรียนการสอนในทุกคณะมาแล้ว 2 ปี โดยได้ขอแบ่งเวลาจากวิชาศึกษาทั่วไปบางวิชามาทดลอง เมื่อนักศึกษาเรียนบรรยายไปแล้วค่อนคาบเรียน ในส่วนท้ายคาบเรียน ได้ขอตัดเวลามาเพื่อให้นักศึกษาทำกิจกรรมต่างๆเพื่อสังคม ซึ่งให้นักศึกษาคิดกิจกรรมเอง และทำเป็นกลุ่ม เมื่อลงมือทำแล้วจะมีการพรีเซนต์ผลงานหรือกิจกรรมที่ทำด้วย ทดลองเรียนประมาณ 10 ชม.ใน 1 ภาคเรียน
"ต่อไปเราจะเรียนวิชานี้แบบเป็นการทั่วไป เรียนเต็ม 48 ชม. เราอยากให้นักศึกษาเรียนในชั้นปี1 แต่บางคณะอย่างสายแพทย์ อาจจะให้เรียนปี 2 ก็ได้ เรียนปีไหนไม่สำคัญ แต่ทุกคนต้องเรียนวิชานี้ ถ้าไม่เรียนก็ไม่จบ เราจะเริ่มจากนักศึกษาปี1 ปีนี้ ก็ให้ลงเรียนได้เลย โดยอาจจะทำได้ครึ่งหนึ่งก่อน และปีถัดไปก็จะค่อยๆขยายไป เราพูดคุยกับทีมงานผู้สอนเรียบร้อยแล้ว อาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านก็สนับสนุน เราได้ทดลองมาก่อนแล้ว ผลการทดลองก็น่าประทับใจ นักศึกษามีความกระตือรือร้น และเนื่องจากเป็นวิชาที่ต้องใช้บุคลากรเยอะ มันต้องมีการบริหารจัดการที่ดีของผู้สอน ก็เป็นความก้าวหน้าของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งอาจารย์และนักศึกษา โดยการได้ไปทำงานกับชุมชน ในเรื่องความเป็นพลเมืองนี้เราจะเน้นอย่างจริงจัง" รศ.ดร.นครินทร์ กล่าว
ด้านรศ. เกศินี วิฑูรชาติ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า มธ.ต้องเตรียมความพร้อมผู้คนในประเทศให้สามารถแข่งขัน ทำธุรกิจ และทำงานร่วมกับประชาคมอาเซียนได้ ต่อไปนี้มธ.จะFocus ไปที่เอเชียและอาเซียนมากขึ้น ดังนั้นในหลักสูตรใหม่ เห็นควรว่าจะมีการเพิ่มวิชา Asian Study ขึ้น ซึ่งเป็นหลักสูตรในระดับปริญญาโท โดยให้ความรู้ในเรื่องของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และให้นักศึกษาได้เรียนรู้ภาษาอาเซียนอย่างน้อย 1 ภาษา
"เราจะดึงนักศึกษาจากอาเซียนให้เข้ามาเรียนในโครงการนี้ เพื่อที่จะได้รู้จักกัน และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการทำธุรกิจต่างๆร่วมกัน ต่อไปในอนาคต คนของเราก็จะแข็งแรงขึ้น รู้จักที่จะบริหารจัดการ รู้จักภาษา รู้จักวัฒนธรรมต่างๆ ของเขาไว้แต่เนิ่นๆ เราเชื่อว่าถ้าเราสามารถทำได้ จะทำให้เศรษฐกิจหลักของเรามีความเข้มแข็งและยั่งยืน เช่น อุตสาหกรรมเกษตร เกษตรแปรรูป การให้บริการ และSMEsต่างๆ ก็จะสามารถพัฒนาตัวเองเพื่อแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนนี้ได้" รศ. เกศินี กล่าว
รศ. เกศินี กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ในAsian Study เท่านั้น แต่มธ.ต้องการทำให้เป็นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ของเด็กธรรมศาสตร์ทุกคน ดังนั้นมธ.จึงจะสอดแทรกเรื่องเหล่านี้ลงไปในทุกหลักสูตร เพื่อให้เด็กเข้าใจในบริบทอาเซียนและเอเชียมากขึ้น หากทำหลักสูตรตรงนี้สำเร็จ จะมีการขยายต่อไปในเรื่องของ Indian Study และ Chainese Study เนื่องจากสองปรเทศนี้ถือเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียที่ทั่วโลกจับตามอง มธ.เอง จึงจำเป็นต้องให้การศึกษาและให้ความสนใจในเรื่องนี้ด้วย