1. การวิจัยในชั้นเรียนคืออะไร
การวิจัยในชั้นเรียน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Classroom Research คือกระบวนการหาความรู้หรือวิธีการใหม่ ๆ รวมทั้งการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการเรียนการสอนในชั้นเรียนของตนเอง หรือเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน ผลการวิจัยใช้ได้เฉพาะกลุ่มที่ทำการศึกษา บางทีเราเรียกว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom Action Research) หรือการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
2. ใครเป็นผู้ทำวิจัยในชั้นเรียน
ผู้ทำวิจัยในชั้นเรียนคือ ครูผู้สอน
3. การวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้มีขั้นตอนอะไรบ้าง
1. วิเคราะห์ปัญหา/การพัฒนา
2. วางแผนแก้ปัญหา/การพัฒนา
3. จัดกิจกรรมแก้ปัญหา/การพัฒนา
4. เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล
5. สรุปผลการแก้ปัญหา/การพัฒนา
4. ครูผู้สอนจะเริ่มต้นทำวิจัยในชั้นเรียนอย่างไร
ครูผู้สอนจะเริ่มต้นด้วยวิธีง่าย ๆ คือ สอนไปสังเกตไป ในส่วนของผู้เรียน เช่นสังเกตว่าผู้เรียนคนไหนหรือกลุ่มไหน มีจุดเด่น จุดด้อยตรงไหน มีปัญหาด้านพฤติกรรมการเรียนรู้หรือการแสดงออกอย่างไร ในส่วนของผลกระทบต่อการเรียนรู้ เช่นสังเกตว่า มีเหตุหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องอะไรที่น่าจะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ แล้วพยายามบันทึกไว้ จากนั้นสรุปข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อจะได้คิดหานวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือผู้เรียนต่อไป
5. ปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการพัฒนาต้องเป็นด้านความรู้เท่านั้นใช่หรือไม่
ไม่ใช่ ปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการพัฒนาอาจเป็นด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ หรือด้านความประพฤติ พฤติกรรม หรือบุคลิกภาพที่ไม่พึงประสงค์ของผู้เรียน รวมทั้งปัจจัย หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเรียนก็ได้
6. การทำวิจัยในชั้นเรียน จะทำให้ครูผู้สอนละทิ้งชั้นเรียน เพราะต้องไปค้นคว้าเกี่ยวกับนวัตกรรม ใช่หรือไม่
ไม่ใช่ การทำวิจัยในชั้นเรียนเป็นการวิจัยเล็กๆ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานจริง มุ่งแก้ปัญหาหรือพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องค้นคว้าหรืออ้างอิงแบบวิทยานิพนธ์ รูปแบบการหาความรู้อาจได้มาจากการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูผู้สอนด้วยกัน จากเอกสารต่างๆ ที่ได้รับจากการประชุมอบรม สัมมนา จากรายการ โทรทัศน์ทางการศึกษา จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น Internet วิทยานิพนธ์ รายงานวิจัยต่างๆ ที่มีผู้ทำไว้
7. รายงานผลการวิจัยในชั้นเรียนจะเขียนเมื่อไร
เขียนขึ้นเมื่อครูผู้สอนเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ครูผู้สอนต้องเขียนสรุปผลการวิจัย หากพบว่าผู้เรียนไม่เกิดการเรียนรู้ และ/หรือมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ครูผู้สอนอาจต้องทำวิจัยในชั้นเรียนซ้ำอีกครั้งหรือหลายๆ ครั้ง จนกว่าผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ และ/หรือมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้อย่างแท้จริง
8. การเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนต้องเขียนตามระเบียบวิธีวิจัย
ไม่จำเป็น การเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียน ครูผู้สอนสามารถเขียนง่ายๆ อาจไม่ต้องครบบทที่ 1 ถึง บทที่ 5 โดยสาระสำคัญที่ควรเขียน ได้แก่ การระบุปัญหาที่พบ สาเหตุของปัญหา วิธีการแก้ปัญหา และผลการแก้ปัญหา อาจมีข้อเสนอแนะหรือข้อสังเกตต่อท้าย และแนบหลักฐานสิ่งที่ได้ดำเนินการ เช่น แบบฝึก แบบบันทึก เครื่องมือ สื่อการสอน นวัตกรรม/สิ่งประดิษฐ์ ฯลฯ
9. ทำวิจัยแล้วจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
ทำวิจัยแล้วมีประโยชน์อย่างแน่นอน ประโยชน์ต่อผู้เรียนคือ ผู้เรียนจะได้รับการพัฒนา หรือแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี ประโยชน์ต่อครูผู้สอนคือ มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ ครูผู้สอนสามารถสรุปเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อรอรับการประเมินตามมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา นอกจากนั้นอาจรวบรวมเป็นผลงานวิชาการเพื่อขอเลื่อนระดับวิทยฐานะให้สูงขึ้นได้
10. โดยสรุปการวิจัยในชั้นเรียนจะมีลักษณะอย่างไร
การวิจัยในชั้นเรียนมีลักษณะดังนี้
1. ผู้วิจัยยังคงทำงานตามปกติของตน
2. ไม่มีข้อมูลจำนวนมาก
3. ไม่จำเป็นต้องทบทวนรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
4. ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการสังเกต การพูดคุย และใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
5. ใช้เวลาทำวิจัยไม่นาน ขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหาและจำนวนบุคคลที่ต้องการแก้ไข
6. การเขียนรายงานการวิจัยไม่จำเป็นต้องครบถ้วนทุกบท
7. ผู้เรียน/ครูผู้สอน ได้รับการแก้ไขหรือพัฒนา
8. เป็นการวิจัยเชิงคุณลักษณะ (Qualitative research) มากกว่าการวิจัเชิงปริมาณ Quantitative research)
อ้างอิง
1. อุทุมพร ทองอุไทย (2544) รวมบทคัดย่อ รายงานการวิชัยในชั้นเรียน/โรงเรียน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. สุวิมล ว่องวาณิช (2544) การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
3. Thomas A. Angelo (1991) Classroom Research: Early Lessons from Success.